ร้านอาหารไทยในแดน "มังกร" ร้าน "สบาย สบาย" ที่เป็นมากกว่า "อาหาร"

by ThaiQuote, 5 พฤศจิกายน 2562

หากเรามองตามปกติ เมื่อนึกถึง "ร้านอาหารไทยในต่างแดน" แน่นอนว่าภาพจำจะพุ่งเป้าไปยังประเทศในดินแดนตะวันตกบนภาคพื้นอเมริกา หรือแม้แต่ยุโรปเองก็ตาม นั่นเพราะความเชื่อที่ว่า ฝรั่งตาน้ำข้าวมักชื่นชอบและลิ้มรสอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์ รสชาติเฉพาะตัว

แต่เมื่อเราเลี้ยวสายตามามองยังฝั่งเอเชีย เพื่อหาคำตอบว่ามีร้านอาหารไทยอยู่บ้างหรือไม่ คำตอบที่นึกคิดขึ้นมาอาจจะพบว่ามีน้อยอยู่อย่างจำกัด นั่นเพราะวัฒนธรรมทางอาหารในแถบเอเชียก็มีหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน ทั้งวัตถุดิบ ความละม้ายคล้ายคลึงของรสชาติ

บวกกับหากให้เปรียบเทียบระหว่าง "อาหารจีน" และ "อาหารไทย" ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการยากมากขึ้นทีเดียวในการที่ "ร้านอาหารไทย" จะไปเจาะในตลาดเมืองจีน เพราะรากของอาหารระหว่างสองชาติ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก

 

 

แต่กับ คนจีนคนหนึ่งในเมืองหนานหนิง เธอกลับหลงไหลในวัฒนธรรมของอาหารไทย ทั้งรสชาติ การร่วมโต๊ะอาหารที่เป็นรูปแบบเฉพาะของไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และผลักดันจนเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย ที่เป็นทั้งศูนย์รวมของรสชาติความเป็นไทย และต้อนรับคนจีนชาติด้วยกันด้วยความ "อร่อย" ตามสไตล์ไทยแท้

สำนักข่าว"ซินหัว" ของจีน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ "จ้าวฮวน" อาจารย์สอนภาษาไทยในเมืองจีนที่เคยไปเรียนในไทยนาน 10 ปี กระทั่งเธอกลับมาเปิดร้านอาหารไทยที่ชื่อว่า "สบาย สบาย" ก่อนประสบความสำเร็จด้วยการขยายสาขาในเมืองจีนแล้วถึง 5 แห่งด้วยกัน

 

 

จ้าวฮวน บอกเล่าว่า “สบาย สบาย” คือร้านอาหารไทยเก่าแก่ในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางจีนตอนใต้ ที่ขยับขยายจากห้องแถวหนึ่งคูหาเล็กๆ สู่อาคารสองชั้นที่ถูกประดับตกแต่งภายใต้แนวคิด “ความเป็นไทย”

“เดิมทีเราเป็นแค่ร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนหัวเฉียว ก่อนจะขยับขยายเป็นร้านใหญ่ที่มีหลายสาขา แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความตั้งใจในการทำอาหาร” จ้าวฮวน อาจารย์สอนภาษาไทยที่เคยไปเรียนในไทยนาน 10 ปี บอกเล่าขณะแนะนำร้านสาขาแห่งที่ 5

 

 

กว่างซีนั้นเชื่อมโยงกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล โดยเมืองเอกหนานหนิง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมจีน-อาเซียน เอกซ์โป (China-ASEAN Expo) ทุกปี กำลังโอบรับ “อาเซียนสไตล์” อย่างคึกคัก โดยเฉพาะ “ความเป็นไทย” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ชาติอื่น

นอกจากนั้นกว่างซียังเป็นจุดหมายยอดนิยมของเด็กรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ต้องการเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างจีน-อาเซียน ขณะเดียวกันนักเรียนจีนในกว่างซีก็สนใจไปแลกเปลี่ยนในไทยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จ้าวฮวนตัดสินใจเปิดร้านสบาย สบาย แห่งแรกในปี 2006 ก่อนจะผ่านร้อนผ่านหนาวและเติบโตเป็นร้านใหญ่ชื่อดังที่มี 5 สาขา โดยสาขาแรกสุดตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนหัวเฉียวและกลายเป็น “โรงอาหารฝีมือแม่” ของนักเรียนไทยในกว่างซี

“ตอนนั้นเพื่อนคนไทยหลายคนส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ แต่เด็กๆ ไม่ชอบอาหารของโรงเรียน บางคนแทบไม่เคยเข้าโรงอาหารของโรงเรียนเลยตลอด 3 ปี พวกเขาเลี่ยงไปกินก๋วยเตี๋ยวหอยขมที่มีรสชาติจัดจ้านเหมือนอาหารไทยแทน” จ้าวฮวนกล่าว

 

 

จ้าวฮวนเลือกเปิดร้านสบาย สบาย ใกล้กับโรงเรียนหัวเฉียวที่มีนักเรียนไทยอยู่ไม่น้อย หลังจากเจรจากับทางโรงเรียนฯ อยู่หลายรอบ โดยแรกเริ่มบรรดาพ่อแม่ของเด็กไทยบางคนมาขอใช้ครัวทำอาหารไทยให้ลูกหลานรับประทาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นความนิยม

“การทำอาหารไทยต้องใช้วัตถุดิบหรือเครื่องปรุงหลากหลาย แต่ของพวกนั้นหายากมากตอนเปิดร้านใหม่ๆ เพราะไม่มีซัพพลายเออร์” จ้าวฮวนกล่าว พร้อมเสริมว่าวัตถุดิบบางอย่างซื้อจากร้านค้าท้องถิ่น ส่วนวัตถุดิบหลักอย่างผงกะหรี่ น้ำจิ้มไก่ ต้องพึ่งพาเพื่อนหรือญาติเอามาจากไทย

อย่างไรก็ดี อานิสงส์จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมจีน-อาเซียนมานานหลายปี ทำให้บรรดาซัพพลายเออร์วัตถุดิบจำนวนมากจากไทยเข้ามาบุกเบิกตลาดจีน เอื้อประโยชน์ต่อการทำร้านอาหารไทยของจ้าวฮวนอย่างมาก

“ตอนนี้เราสามารถสรรหาวัตถุดิบต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีตัวแทนนำเข้าสินค้าเหล่านั้นจากไทย ขณะเดียวกันเที่ยวบินตรงระหว่างจีน-ไทย ก็ช่วยให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น วัตถุดิบที่ได้มามีความสดใหม่”

สุ่ยเกอ วัย 48 ปี และภรรยา ซึ่งเคยเป็นเชฟร้านอาหารในไทยเมื่อ 4 ปีก่อน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นเชฟหลักของร้านสบาย สบาย ตามคำชักชวนของเพื่อน สร้างสรรค์อาหารคาวหวานหลากหลายเมนูอย่างแกงกะหรี่ ปลานึ่งมะนาว ต้มยำ หรือข้าวเหนียวมะม่วง ที่ได้คำชมมากมาย

พ่อครัวใหญ่ของร้านสบาย สบาย เผยว่ารสชาติเปรี้ยวหวานเผ็ดที่โดดเด่นของอาหารไทยมาจากวัตถุดิบธรรมชาติอย่างมะนาว มะขาม พริกขี้หนู พริกไทย น้ำตาลมะพร้าว โดยเขาเลือกคงรสชาติดั้งเดิม ไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามการลิ้มรสของชาวจีน

ด้านวศิน ชาวไทยที่มาทำงานอยู่ในกว่างระยะหนึ่งแล้ว เล่าว่าเขากลายเป็นลูกค้าประจำของร้านสบาย สบาย โดยมักพาภรรยาและลูกสาวมารับประทานอาหารช่วงสุดสัปดาห์ ตัวเขาชอบลาบหมู ภรรยาชอบต้มข่าไก่ ส่วนลูกสาวชอบส้มตำ

ทั้งนี้ ร้านอาหารไทยในนครหนานหนิงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ แทรกซึม “วัฒนธรรมไทย” สู่ท้องถิ่น เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการลองลิ้มชิมรสอาหารไทยของคนท้องถิ่น รวมถึงชาวไทยที่โยกย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วย

 

 

นับตั้งแต่มีการจัดงานมหกรรมจีน-อาเซียน เอกซ์โป ครั้งที่ 1 ในปี 2004 มูลค่าการค้าระดับวิภาคีระหว่างจีน-อาเซียน เพิ่มขึ้นจาก 5.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.71 ล้านล้านบาท) เป็น 5.87 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 18.22 ล้านล้านบาท) ในปี 2018 ขณะที่การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 3.87 ล้านครั้งเมื่อ 16 ปีก่อน เป็น 57 ล้านครั้งในปี 2018 ส่วนการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาก็พุ่งเกิน 2 แสนคน

“สบาย สบาย ไม่ได้เป็นเพียงร้านอาหาร แต่ยังเป็น “มุมไทย” และ “มุมอาเซียน” ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการสื่อสารพูดคุย ที่นักเรียนชาวจีนและชาวไทยสามารถฝึกฝนภาษาร่วมกัน และผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยอีกด้วย” จ้าวฮวนกล่าว