‘อนุทิน’ พร้อมปรับการเข้าถึงกัญชาสู่ระดับชุมชน จัดการห่วงโซ่อุปทานครบวงจร

by ThaiQuote, 29 พฤศจิกายน 2562

“อนุทิน” เปิดวงคุย “ผ่าทางตัน การใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์” ชี้กัญชาเพื่อสมุนไพรทางการแพทย์ต้องปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการใช้ หวังจัดการห่วงโซ่อุปทานครบวงจร เพิ่มรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน การใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์” โดยมีผู้สนใจจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์เข้าร่วมประชุม 300 คน ว่า “กัญชาเสรีทางการแพทย์” เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยการพัฒนานวัตกรรม ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย สร้างโอกาสทางการรักษา เพิ่มรายได้แก่ประชาชนและเศรษฐกิจประเทศ ภายใต้ข้อกฎหมายและ ระบบการกำกับดูแลที่รัดกุมเหมาะสม ใน 4 ประเด็นหลักคือ

1.การเข้าถึงทางการแพทย์ 2.การลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา 3.ความปลอดภัยต่อสาธารณะ และ4.การจัดการห่วงโซ่อุปทานครบวงจร โดยอาศัยข้อมูลความรู้และหลักฐานทางวิชาการมาประกอบการปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม

 

 

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ในการดำเนินการ “ปลดล็อคระดับการเข้าถึงกัญชาเสรี” ขณะนี้ได้อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และระยะต่อไปจะปรับการเข้าถึงกัญชาสู่ระดับชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยในชุมชนทุกรายมีสิทธิเข้าถึงกัญชาในการรักษาตนเองแบบวิถีชาวบ้าน เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบผสมผสานแผนปัจจุบันและแผนไทยแล้วในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 110 แห่ง และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย 27 แห่งและกำลังขยายความครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แล้วกว่า 6,000 คน

นอกจากนี้ ได้อำนวยความสะดวกกระบวนการอนุญาตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเพาะปลูก ผลิต และแปรรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กัญชา ระบบขนส่ง ปัจจุบันมีการอนุญาตพื้นที่ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และการศึกษาวิจัยแก่มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลและวิสาหกิจชุมชนแล้วรวม 9 แห่ง จัดตั้งศูนย์ประสานการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการ สนับสนุนห้องปฏิบัติการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้มั่นใจผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่มี 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาสารสกัดกัญชาผลิต โดยองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร น้ำมันกัญชาผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และตำรับน้ำมันกัญชาของหมอพื้นบ้าน และตำรับยากัญชาแผนไทย และจะเร่งจัดระบบการจัดการเชิงนโยบายและนวัตกรรม โดยจัดตั้งสถาบันกัญชาและคณะกรรมการ เพื่อประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์การเภสัชกรรมและหลายองค์กร รวมทั้งเร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์