City Lab Silom ห้องทดลองทางเท้า โมเดลเปลี่ยนแปลงเมือง

by ThaiQuote, 14 ธันวาคม 2562

ชาวเน็ตแห่วิพากษ์ City Lab Silom หลังเปิดตัวไม่ถึงสัปดาห์ มองแนวคิดโลกสวย กับความจริงของกรุงเทพฯในวันนี้

 



ภายหลังเปิดตัว ได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ กับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านสีลม ผ่านกระบวนการทดลองห้องปฏิบัติการเมืองและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน หรือ City Lab Silom ก็พบว่ากระแสโซเชี่ยล มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างล้นหลาม ผ่านทางเพจ “Time Out กรุงเทพฯ”



หากจะมองว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ก็คงจะกล่าวได้ว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ริเริ่มโครงการที่ประกอบไปด้วย กทม. ม.จุฬาฯ สสส. ธ.กรุงเทพ กลุ่มภาคเอกชน และกลุ่มประชาสังคมอย่าง กลุ่มคนรักสีลม ที่ต้องการจัดตั้งห้องทดลองบนทางเท้าเป็นเวลา 1 เดือน โดยการออกแบบพื้นที่สาธารณะชั่วคราว เพื่อประเมินผลและรับฟังความเห็นของประชาชนถึงทิศทางการพัฒนาย่านสีลม แล้วเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาย่านสีลม รวมถึงพื้นที่อื่นๆของ กทม.ในอนาคต

 



City Lab Silom ได้เปิดพื้นที่เพื่อเป็นห้องทดลอง 6 จุด ด้วยกัน ได้แก่ 1. ทางเท้าหน้าอาคารธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ 2.ทางเท้าหน้าอาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ 3.ทางเท้าหน้าอาคารซี.พี.ทาวเวอร์ 4.ทางข้ามหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนและอาคารอาคเนย์ประกันภัย 5.ทางเท้าและป้ายรถประจำทางหน้าโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน 6.BTS ศาลาแดง (หน้าอาคารธนิยะพลาซา)



สำหรับนวัตกรรมการออกแบบทางเท้า ก็แบ่งเป็นหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การออกแบบทางม้าลายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ย่านสีลม ซึ่งพบว่าความคิดเห็นของผู้ใช้โซเชี่ยล ไม่เห็นด้วย และขอให้เน้นที่เรื่องของการติดตั้งสัญญาณไฟ และสัญญาณเสียงเพื่อคนพิการ จะเหมาะสมกว่า ควรจะเน้นเรื่องของการกวดขันวินัยจราจร รวมถึงให้ความรู้ด้านจราจรอย่างเคร่งครัด

 

 



สตรีท เฟอร์นิเจอร์ ที่พักริมถนนทรงกระบอก มีหลังคาและระแนงที่ช่วยกันฝนสาดและช่วยกรองแสงได้ และติดแผงกรองอากาศรอบที่นั่งเพื่อช่วยกันฝุ่น PM10 สำหรับนั่งพัก อ่านหนังสือ หรือหลบฝน สารพัดประโยชน์ ก็พบว่าผู้ใช้โซเชี่ยลมีการแสดงความคิดเห็นกว่า 1,000 ข้อความ และมีการแชร์ไปแล้วกว่า 1,000 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่เหมาะสมควรจะปล่อยให้เป็นพื้นที่โล่งไม่บดบังวิสัยทัศน์ โดยอาศัยต้นไม้ให้ความร่มรื่น ขณะที่บางรายกลัวว่า ที่พักดังกล่าวจะกลายเป็นถังขยะ ให้คนมักง่ายนำขยะมาวางไว้แทน

เปลี่ยนพื้นที่ว่างบนทางเท้าให้เป็น playground ด้วยแนวคิดการออกแบบทุกพื้นที่ในสามารถ”เล่น”ได้ โดยชาวเน็ตได้แสดงความเห็นว่า ควรทำให้ทางเท้าเป็นทางเดินแบบเดิม ปรับให้พื้นเรียบเสมอเป็นปกติ และทำทางเท้าที่สามารถใช้ร่วมกับได้ทั้งคนพิการ และคนปกติ น่าจะเหมาะสมกว่า

 



เติมพลังงานให้สีลม จินตนาการล้ำ ด้วยการเปลี่ยนป้ายรถเมล์ธรรมดาให้เป็นแหล่งเติมพลัง เติมสุขภาพที่ดี โดยติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย ให้ขยับแข้งขาได้ระหว่างที่นั่งรอรถ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นในแนวทางที่ไม่เห็นด้วย และควรเปลี่ยนเป็นป้ายรถเมล์ซึ่งมีที่นั่งมากขึ้น นั่งรอได้สบายขึ้น และมีความร่มรื่นของต้นไม้ ขณะที่บางคนถึงกับกล่าวว่าเป็นแนวคิดที่ไร้สาระที่สุด

ป้ายข้อมูลเส้นทาง ซึ่งออกแบบมาให้เห็นเส้นทางการเดินรถ บอกจุดหมายปลายทางของรถเมล์แต่ละสายที่ผ่าน สำหรับแนวคิดนี้ ผู้ใช้โซเชี่ยลต่างชื่นชม โดยถือว่าสอบผ่านและเหมาะสม

แนวคิด เติมไฟให้สีลม ด้วยเส้นสายหลักๆ ที่ยาวไปตามทางเท้า ซึ่งส่องสว่างในเวลากลางคืน โดยการออกแบบไฟทางเดินตามอัตลักษณ์ของย่านกลางคืนอย่างสีลม เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และเพิ่มชีวิตชีวา แต่กลับถูกชาวเน็ตมองว่า น่ารำคาญ กีดขวางพื้นที่ และความสวยกับการใช้ประโยชน์ไปด้วยกันไม่ได้ สรุปคือแนวคิดนี้สอบตก



โดยสรุปก็พบว่าแนวคิดที่ร่วมกันออกแบบระหว่างเอกชน และกทม. เพื่อการปรับเปลี่ยนทางเท้าให้ตรงกับความต้องการของประชาชนผู้ใช้นั้น ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง และแท้ที่จริงแล้วเราจะเห็นได้ว่าผู้ใช้ทางเท้าตัวจริง เพียงแค่ต้องการ ถนนที่สะอาด เส้นขั้นจราจร ทางม้าลายที่ชัดเจน ทางเท้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง เรียบ ที่สำคัญคือการสามารถทำให้ทางเท้าเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในสังคมสามารถใช้ในการสัญจรร่วมกันได้ทั้งคนปกติ และผู้พิการ

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

"จีน"สุดเจ๋ง ฝึก "หมาจรจัด" ทำงานดมกลิ่นให้ศุลกากร เริ่มงานม.ค.ปีหน้าเลย