“ที่ดิน”กับ”ชีวิต” แบ่งปันทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

by ThaiQuote, 29 ธันวาคม 2562

กองบรรณาธิการ ThaiQuote


เวที “การเสวนานโยบายสาธารณะ” กลางงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ที่เป็นครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา มีหัวข้อพูดคุยที่น่าสนใจจนไม่อาจละเลยปล่อยผ่านไปได้ เพราะมันเป็นเรื่องราวที่ข้องเกี่ยวกับ “ที่ดิน” อันเป็นที่ดินที่เชื่อมต่อกับความมีชีวิตของคนไทย

หัวข้อวงเสวนาที่ชื่อ “ที่ดินคือชีวิต...ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” ก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนไม่น้อยทีเดียว นั่นอาจเพราะทุกคนต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจ กับเรื่องราวของ “สิทธิ์” ในที่ดินของประเทศไทย ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ได้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน ที่นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรอันที่เรียกว่า “ที่ดิน”

ปมเสวนานโยบายสาธารณะ ““ที่ดินคือชีวิต...ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” จึงเป็นการหาแนวทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ชุมชน เพื่อประโยชน์ของผู้คนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยังไร้ “ที่ดิน” เพื่อดำรงลมหายใจ

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สะท้อนความสำคัญของคำว่า “ที่ดิน คือชีวิต” คือเรื่องเดียวกันในสังคม นั่นเพราะตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ชีวิตคนไทยก็วนเวียนอยู่กับที่ดิน ทั้งใช้เพื่อการผลิตและการดำรงชีพ แต่นิยามคำว่าที่ดินในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป เพราะที่ดินถูกแปรความหมายใหม่เป็น “สินค้า”

“หลังที่ดินเปลี่ยนสถานะจากภาคสังคม กลายเป็นสินค้า ทุกภาคส่วนในสังคมก็ต้องการมากขึ้น แต่ไม่ใช่ความต้องการเพื่อการผลิตอีกแล้ว หากแต่มันคือต้องการเพื่อการลงทุน เพื่อการอุตสาหกรรม” ประยงค์ ฉายภาพถึงสภาวะของที่ดินในปัจจุบัน

ประยงค์ บอกเล่าอีกว่า จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีคนเข้าถึงที่ดินทั่วประเทศที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ราว 15.9 ล้านราย และจำนวนนี้เองอยู่ในมือคนชั้นบนอีก 13.2 ล้านคน หรือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยที่เหลือ ก็แทบจะไม่มีที่ดินเพื่อทำกินและอยู่อาศัย นั่นคือความสำคัญของการเหลื่อมล้ำทางที่ดิน ที่สะท้อนข้อแตกต่างระหว่างความรวย และความจนในสังคม

นิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน บอกเล่าถึงแนวโน้มในอนาคตที่จะทำให้คนเข้าถึงที่ดิน จะมี “มากยิ่งขึ้น” ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่เล็งเห็นปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะกับเรื่องลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในมุมของที่ดิน

นิสิต ชี้ว่า ปัจจุบันมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่รับที่ดินกลับคืนมาจากกรมป่าไม้ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงการยึดเอาที่ดินที่ถูกบุกรุกผิดกฎหมาย เพื่อนำมาจัดสรรให้กับประชาชน โดยกรมที่ดินจะประสานไปแต่ละจังหวัดเพื่อจัดสรรให้คนเข้าไปทำกิน ได้อยู่อาศัย พร้อมกับรับรองให้สิทธิ์อย่างชัดเจน เพื่อลดความกังวลว่าจะเข้าไปอยู่แล้วจะถูกจับกุม โดยต่ออายุให้คราละ 5 ปี

“ในแง่ความเป็นจริงก็ให้อยู่กันยาวๆ นั่นแหล่ะ กรมที่ดินก็แบ่งให้คนละ 15 ไร่เพื่อทำกิน คนที่อยู่เดิมที่เคยใช้ประโยชน์ก็ได้เหมือนกัน เราเข้าไปจัดการให้ในรูปแบบสหกรณ์ เข้าไปขุดสระ สร้างถนน เพื่อให้มีแหล่งน้ำ ได้เดินทาง นโยบายนี้ได้ดำเนินการไปสักพักแล้ว และแต่ละปีก็ให้ที่ดินกับชาวบ้านไปถึงปีละ 1.6 หมื่นครอบครัว แต่ขออย่างเดียว อย่าเอาไปขายต่อ ให้แล้วก็เอาไปทำกิน” อธิบดีกรมที่ดิน บอกเล่าถึงการแก้ปัญหาด้านที่ดินของภาคราชการ

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พูดถึงประเด็นของการแข่งขันในสังคม ที่อาจจะมีผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรที่เรียกว่า “ที่ดิน” เอาไว้ว่า มีคำหนึ่งที่เคยพูดเอาไว้ว่า ที่ดินในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มันกลายเป็นว่านั่นคือ “ของมีค่า” คนในประเทศตีราคา คนเมืองนอกก็พร้อมให้ราคา เพราะสิ่งนั้นคือการปล่อยให้ราคาเป็นตัวกำหนดคุณค่าของที่ดิน ก็ต้องมาคุยกันว่า ราชการ ภาครัฐ ต้องการให้ผันแปรไปตามเม็ดเงินมากระตุกราคาที่ดินหรือไม่

“ในสังคมปัจจุบันมันเลี่ยงได้ยากเพราะโลกอยู่ในระบบทุนนิยม ที่ดินถูกกำหนดโดยตลาดที่ตีราคาสินค้า แต่เราควรจะมีกรอบให้กับตลาดได้แค่ไหน ตีเอาไว้แค่อสังหาริมทรัพย์ดีหรือไม่ โดยไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการที่ดินทำกินของชาวบ้าน” นายสุริชัย ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ

สุริชัย ทิ้งท้ายในวงเสวนาเอาไว้อีกว่า แน่นอนว่าที่ดินคือชีวิต ชีวิตก็คือที่ดิน สำหรับอนาคต ถ้าไม่เอาสองเรื่องนี้มาคู่กันมันก็จะเป็นปัญหา หลายหน่วยงานมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางที่ดิน หากเอาจริงเอาจัง รวมถึงภาคประชาสังคม มีหัวใจร่วมทุกข์กัน มันก็จะเกิดความร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อที่ดิน ที่ทำกิน แต่หากปล่อยไว้ มีแต่เพียงการประชาสัมพันธ์ แต่เราไม่ผลักดันกัน มันก็ไปได้ยากแน่นอนกับการแก้ปัญหาที่ดินในอนาคต

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ชาวบ้านเฮ "ธนารักษ์"เลื่อนใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่อีก 1 ปี