เคล็ดลับง่ายๆ ขึ้นเครื่องกลับบ้านปีใหม่ ไม่ให้หูอื้อ-เจ็บหู

by ThaiQuote, 30 ธันวาคม 2562

ปัจจุบันการโดยสารโดยเครื่องบินเป็นที่นิยม เพราะสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกลงมาก หลายคนไม่อยากเผชิญรถติดหนักช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงเลือกวิธีนี้แต่เราจะสังเกตว่าตอนเครื่องบินขึ้น หรือลงจอด มักจะมีอาการหูอื้อบ้าง ปวดหูบ้าง จากการศึกษาพบว่าผู้โดยสารในสายการบินพาณิชย์ที่มีอาการปวดหูหลังโดยสารเครื่องบินตรวจร่างกายพบความผิดปกติของหู 10% ในผู้ใหญ่ และ 22% ในเด็ก คงเกิดคำถามขึ้นว่าอาการเกิดจากอะไร ต้องไปพบแพทย์เมื่อไร มีวิธีแก้อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

• ปวดหูบนเครื่องบินตอนเครื่องขึ้น-ลง เป็นเพราะอะไร?

ร่างกายคนเรามีท่อที่เชื่อมระหว่างคอหอยกับหูชั้นกลาง มีชื่อเรียกว่าท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่คอยควบคุมสมดุลความดันระหว่างหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอก สังเกตได้จากเวลาเรากลืนน้ำลายจะได้ยินเสียงคลิกในหู เนื่องจากมีอากาศผ่านเข้าไปในหู เกิดแรงสั่นสะเทือนที่เยื่อแก้วหูนั่นเอง

ดังนั้นเวลาที่เครื่องบินขึ้นหรือลงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศอย่างรวดเร็ว หากท่อยูสเตเชียนปรับสมดุลความดันไม่ทัน หรืออาจอุดตันจากการเป็นหวัด บวมจากการแพ้ บวมจากการอักเสบติดเชื้อ ทำให้เกิดความต่างระหว่างอากาศภายในหูชั้นกลางกับภายนอก เยื่อแก้วหูจึงถูกดึงจากความกดอากาศ ทำให้มีอาการปวดหูและหูอื้อได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเชียนในเด็กมีขนาดเล็กกว่าจึงอุดตันได้ง่ายกว่านั่นเอง

• ปวดหูอันตรายหรือไม่ แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?

อาการปกติที่พบได้จากการที่ท่อยูสเตเชียนปรับสมดุลไม่ทัน ได้แก่ อาการปวดหู อาการหูตึงได้ยินเสียงลดลง อาการหูอื้อ และอาการรู้สึกไม่สบายในหู อาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เองทันทีที่คุณกลืนน้ำลายหรือหาว แต่ถ้ามีอาการรุนแรงผิดปกติ ได้แก่ มีอาการปวดหูมาก มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน สูญเสียการได้ยิน หรือมีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากหู อาการเหล่านี้ถือว่าผิดปกติและเป็นอันตราย รวมถึงหากมีอาการปกติ แต่เป็นนานไม่หายไปหลังจากลงจากเครื่องบินแล้ว สมควรไปรับการตรวจหูโดยที่ส่องหู (Otoscope) และพิจารณารักษาโดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) การรักษาโดยแพทย์มีตั้งแต่การให้ยาลดอาการบวมของท่อยูสเตเชียน (Decongestant) ไปจนถึงการเจาะเยื่อแก้วหูเพื่อปรับสมดุลความดันอากาศและระบายของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นกลาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

ทั้งนี้การที่มีเลือดหรือของเหลวสะสมภายในหูชั้นกลางเกิดจากการอุดตันของท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นทางเดียวที่จะสามารถระบายของเหลวออกมาจากหูชั้นกลางได้ ซึ่งถ้าสะสมมากๆ จนดันเยื่อแก้วหูขาด หรือเยื่อแก้วหูฉีกขาดจากแรงดันบรรยากาศก็จะออกมาทางรูหูนั่นเอง

• วิธีรับมืออาการปวดหูบนเครื่องบิน

การเตรียมพร้อมรับมือกับอาการปวดหูบนเครื่องบินก็คือ หากในช่วงนั้นมีอาการเป็นหวัด มีการอักเสบติดเชื้อของหู มีอาการแพ้ ควรเลื่อนตารางการบินให้ออกไปก่อนจนกว่าอาการเหล่านี้จะดีขึ้น แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงที่มีอาการจริงๆ แนะนำดังนี้

1.) กินยาช่วยลดอาการคัดแน่นภายในโพรงเยื่อจมูกมารับประทานก่อนขึ้นเครื่องบินประมาณ 1 ชั่วโมง และใช้ต่อเนื่องในขณะบินตามขนาดยาที่ระบุในฉลาก
ยาจำพวกนี้ เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) อาจมีผลข้างเคียงได้ และในปัจจุบันอาจหาซื้อตามร้ายขายยาไม่ได้ เนื่องจากมีผู้นำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด อาจเลือกใช้ยาแก้แพ้ หรือใช้สเปรย์ลดอาการบวมฉีดพ่นจมูกแทน หรือในปัจจุบันมีที่อุดหูชนิดพิเศษ (Ear plug) ก็สามารถช่วยชะลอการเปลี่ยนความดันบรรยากาศบรรเทาอาการปวดหูได้

2.) คนที่เกิดอาการปวดหูบ่อยๆ ควรจะตื่นในระหว่างที่เครื่องขึ้นและลงเพื่อแก้อาการปวดหู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างที่ไม่รู้สึกตัว และในเด็กทารกควรให้ดูดนมหรือดูดจุกนมในระหว่างนี้เช่นกัน เพื่อรักษาให้ท่อยูสเตเชียนทำงานปรับสมดุลความดันบรรยากาศได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

• ทำอย่างไรอาการหูอื้อระหว่างขึ้นเครื่องบินถึงจะดีขึ้น?

หากมีอาการปวดหูขณะอยู่ในเครื่องบิน

1.) อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง
***เคล็ดลับในการกลืนน้ำลาย อมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ให้เริ่มทำตั้งแต่ก่อนเครื่องจะเริ่มออกตัว กลืนน้ำลายไปเรื่อยๆ จนกว่าเครื่องบินจะบินขึ้นจากพื้น พุ่งทะยานสู่ฟากฟ้า และรักษาระดับความสูงได้คงที่ ทำจนกว่าสัญลักษณ์ไฟที่ให้ใส่เข็มขัดตลอดเวลาดับลง
2.) กลืนน้ำลายบ่อยๆ จะทำให้ท่อในหูเปิดออก
3.) พยายามหาวเพื่อช่วยกำจัดสิ่งอุดตันและเปิดท่อยูสเตเชียนให้ปรับความดันได้ดังเดิม
4.)ใช้นิ้วมือบีบจมูก หายใจเข้าผ่านปาก แล้วพยายามหายใจออกผ่านจมูกในขณะที่บีบจมูกอยู่นั้น จนกว่าจะได้ยินเสียงคลิกออกที่หูทั้งสองข้าง วิธีนี้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำแรงเกินไป และหยุดทำทันทีที่ได้ยินเสียงคลิกที่หูทั้งสองข้างแล้ว เนื่องจากหากยังทำต่อไปอาจส่งผลทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

รายงานสถานการรณ์สื่อไทยปี'62 "ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่"