รอด-ไม่รอด "อิลลูมินาติ" ชี้ชะตา "อนาคตใหม่"

by ThaiQuote, 21 มกราคม 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

วันแห่งประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยอีกวันหนึ่ง เพราะในเวลา 11.30 น.ของวันที่ 21 มกราคม 2563 นี้ อนุญาโตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับ "พรรคอนาคตใหม่" โดยตรง ในคดี "การใช้สิทธิ หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือคดีที่ถูกเรียกเอาไว้ว่า "คดีอิลลูมินาติ"

คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ จุดเริ่มต้นมาจาก "ณฐพร โตประยูร" อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเห็นว่าสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ คล้ายคลึงกันกับสัญลักษณ์ของสมาคมอิลลูมินาติ สมาคมที่ว่ากันว่า อยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองในระบอบกษัตริย์ของหลายประเทศในยุโรป

นั่นคือสัญลักษณ์ "สามเหลี่ยม" ของพรรคอนาคตใหม่นั่นเอง

คำร้องถูกส่งให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ว่า กระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค , นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

กระนั้นก็ตาม ณฐพร ยังยื่นเรื่องคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ยุบพรรคอนาคตใหม่" และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งรวมถึงตัวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการของพรรคด้วย โดยอ้างถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 (1) (2) ว่าด้วยพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค

จากประเด็นนี้ สำนักข่าวอิศรา ถอดข้อมูลออกมาไว้อย่างน่าสนใจ หากพิเคราะห์ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยในประเด็นคำร้องดังกล่าว มาตรา 49 ระบุหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้แค่ "สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว" ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า สัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ที่ไปล้อกันกับ "อิลลูมินาติ" หากศาลวินิจฉัยออกมาจะต้อง "ยกเลิก หรือหยุดการกระทำ" นั้น

แต่เมื่อมาดูในมาตรา 92 (1) (2) ที่วินิจฉัยให้ยุบพรรค ในวรรคตอนข้างต้น ที่ระบุว่า "ว่าด้วยพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง" ซึ่งเนื้อหา มีดังต่อไปนี้

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันเป็นอาจปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรค 2 มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองที่มีกฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 92 ในพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ คนที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น กฎหมายกำหนดเอาไว้ให้เพียงเฉพาะ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือ กกต.เท่านั้น แต่ขณะนี้ ณฐพร ถือเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยในเฉพาะประเด็นมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ คือ สั่งการให้หยุดการกระทำ หรือ ยกคำร้อง ทั้งหมด เท่านั้น

ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาและคนทั้งประเทศจะได้รู้กันในวันที่ 21 มกราคมนี้ ผลที่ตามมาย่อมจะมีความต่อเนื่องจากคำวินิจฉัยออกมาแน่นอน

อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า คงได้รู้กัน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

พปชร.ยันไม่มีต่อรองแลกผลประโยชน์-ไม่อภิปรายรัฐมนตรี