เปิดกลโกง “ชิมช้อปใช้” ถึงเวลา “ฐานราก” โกงเงิน “รัฐ”

by ThaiQuote, 7 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

การวางนโยบายก่อนออกเป็นมาตรการแต่ละครั้งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะมีแนวคิดที่เน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มฐานราก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือมาตรการ “ชิมช้อปใช้” โดยการวางแผนรอบคอบเป็นอย่างดี เพื่อให้เงินงบประมาณส่งตรงถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง

 

ล่าสุดกับโครงการ “ชิมช้อปใช้” แม้จะมีการวางนโยบายป้องกันการทุจริตอย่างรัดกุม เนื่องจากในเฟสแรกมีการแจกเงิน 1,000 บาท เป็นต้นทุน กระตุ้นผู้มีสิทธิ์ออกไปกิน เที่ยวใช้ ในพื้นที่ชุมชน ต่างจังหวัด

 

เมื่อมีการแจกเงิน รัฐจึงต้องระวังเรื่องการทุจริต จะต้องดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส ตัดขั้นตอนการถือเงินของผู้ดำเนินโครงการ และใช้เทคโนโลยีซึ่งรัฐบาลมีความมั่นใจอย่าง National E-payment โอนตรงเข้าบัญชีชาวบ้าน แต่รัฐกลับโดนตลบหลังด้วยกลโกงระดับฐานราก ที่ถึงขั้นทำให้ผู้วางนโยบายต้องกุมขมับ



กลโกงชิมช้อปใช้

มันน่าเจ็บแสบที่รัฐบาลมัวแต่ระวังกลุ่มข้าราชการ หรือนักการเมือง จนลืมไปว่า คนทั่วไปก็มีสิทธิ์โกงได้ และโกงกันตั้งแต่เริ่มต้นมาตรการในระยะแรก (เฟส 1) เกิดขบวนการรับจ้างลงทะเบียน กินหัวคิวเงินแจก 1,000 บาท ตั้งกลุ่มผ่านเฟซบุ๊กและไลน์ ใช้สื่อโซเชี่ยลทำนาบนหลังคน



ฐานรากโกงรัฐ

ที่ร้ายคือเมื่อรัฐบาลกระตุ้นการจับจ่ายผ่านกระเป๋า G2 รับ Cash Bank เงินคืน เมื่อใช้จ่ายผ่านร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก ซึ่งลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยใช้จ่ายวงเงินสูงสุด 50,000 บาท จะได้รับเงินคืน 8,500 บาท ขบวนการคนหัวหมอ ก็ร่วมใจกันโกงทั้งคนจ่ายและร้านค้า โดยมีวิธีการคือคนจ่าย โอนเงินผ่านกระเป๋า G2 จำนวนเงินสูงสุด 50,000 บาท เพื่อหวังได้เงินคืน 8,500 บาท แล้วแบ่งกันระหว่างคนซื้อและร้านค้า

 

ร้ายไปกว่านั้นอีก เกิดขบวนการของคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรับหน้าที่ พ่อค้าคนกลาง ระหว่างคนโอน กับร้านค้าที่คนโอนไม่รู้จัก โอนเงินจากคนโอน อีกต่อหนึ่งไปให้ร้านค้า แล้วเก็บกินค่าหัวคิว

 

กระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวล แค่ค้นหา คำว่า “ชิมช้อปใช้” ในเฟซบุ๊กก็มักจะพบกลุ่มเหล่านี้ปะปนอยู่กับกลุ่มชิมช้อปใช้ ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ เช่น กลุ่ม “ชิมช้อปใช้ ซีซั่น1/2 สอบถามแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 8,500ราย ตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.62 โดยการโพสต์ของสมาชิกภายในกลุ่มพบว่า มีการถูกโกงจากกลุ่มร้านค้า และพบสมาชิกของกลุ่มมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทวงถามเรื่องของเงินคืน Cash Back จากกรมบัญชีกลาง บางรายมีการทวงถามเงินคืนจากร้านค้า ซึ่งพบว่าบางรายสูญเงินจำนวน 50,000 ไปให้กับร้านค้าโดยไม่สามารถติดต่อได้

เข้าใจว่าที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้รับทราบถึงวิธีการโกงในรูปแบบดังกล่าวแล้ว และมีการตรวจสอบร้านค้าถึงจำนวนเงินที่โอนเข้าสู่บัญชีแบบผิดปกติ โดยในบางร้านซึ่งเป็นร้านค้าเล็กในชุมชนกลับพบว่ามีเงินโอนเข้าถึงวันละ 1-2 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางได้สั่งระงับการทำธุรกรรมกับร้านค้าดังกล่าวในทันที



ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่จะมีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาร้องเรียนว่ายังไม่รับเงินคืน Cash Back จากโครงการ “ชิมช้อปใช้” ก็เพราะคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการโกงรัฐนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ผู้ที่กระทำผิด ความผิดอาญาในมาตรา 341 ผู้ใดทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ยอด “ชิมช้อปใช้” 3 วันแรก 294 ล้านบาท ใช้สิทธิ์แล้วกว่า 3 แสนราย

ออมสิน ลดดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 0.25% เริ่ม 7 ก.พ.นี้