"สายด่วน" กับ "ภัยแล้ง" ถึงเวลาที่คนไทยต้องยกหูขอ "น้ำ"

by ThaiQuote, 17 กุมภาพันธ์ 2563

เมื่อเราเดินทางมาถึงขั้นที่ต้องยกหูสายด่วนเข้าไปหาหน่วยงานภาครัฐ หากว่าเราเจอภัยแล้งขนานหนัก และต้องการ "น้ำไว้กิน น้ำไว้ใช้"

สายด่วน 1460 ถูกติดตั้งอย่างทันควันและประกาศให้คนไทยทั้งประเทศรู้เมื่อเที่ยงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 หลังกรมชลประทาน ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หวังใช้ช่องทางนี้เป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยเหลือให้คนไทยในหลายจังหวัด ได้ฟันฝ่าวิกฤตภัยแล้งที่ปีนี้คงยากเกินจะคาดเดาได้ว่า "มันจะมาเร็วกว่าปกติ"

สายด่วน 1460 เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับ "การขาดแคลนน้ำ" ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผสมกับการลงพื้นที่ของกรมชลประทานในการอำนวยความสะดวกด้านน้ำสำหรับประชาชนไว้สู้กับภัยแล้ง ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับทางออกแบบ "ชั่วครู่ชั่วยาม" ในการฝ่าภัยแล้งร่วมกัน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่ระบุว่า ยังคงต้องขอความร่วมมือกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกับชาวนาที่ขอให้ "ลดการทำนาปรัง" ในช่วงฤดูแล้งนี้ เพราะต้นทุนสำคัญสำหรับการปลูกข้าวคือ "น้ำ" มันมีไม่เพียงพอ

 

จากข้อมูลของกรมชลประทาน ทำให้เห็นภาพ "น้ำ" ในขณะนี้สำหรับบ้านเราที่ชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเรามีน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่่ราว 42,7734 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 56% จากการกักเก็บได้ทั้งหมด แต่น้ำจำนวนนี้ เราใช้จริงได้เพียงแค่ 36% หรือราว 19,003 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ภาพมันชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำในปี 2563 นี้ มันน้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 9,578 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 16 แห่งทั่วประเทศ ที่กำลังส่อวิกฤต และอยู่ในช่วงที่จำต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ภูมิพล, สิริกิติ์, แม่กวงอุดมธารา, แม่มอก, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแชะ, ลำนางรอง, ป่าสักชลสิทธิ์, ทับเสลา, กระเสียว, คลองสียัด, บางพระหนองปลาไหล และประแสร์

น้ำที่มีในทั้งเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ยังอยู่ในขั้นที่ต้องเฝ้าระวัง เหตุผลนี้เองที่ทำให้กรมชลประทานจำต้องเดินหน้าเต็มลูกสอบในการเข้าให้ถึงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภัยแล้งที่กำลังรุกคืบอย่างหนัก

"เราเข้าไปหลายที่ เข้าไปช่วยประชาชน เช่น โครงการชลประทานตาก ก็ส่งคนไปให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการจัดการน้ำ การบริหารน้ำในช่วงหน้าแล้ง การเตรียมน้ำสำหรับสวนลำไย" นายทวีศักดิ์ ให้ความเห็นกับสื่อมวลชน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ