ธนาคารโลกตีแผ่ "คนไทยจนหนัก" ตัวเลขพุ่ง 6.7 ล้านคนในรอบ 4 ปี

by ThaiQuote, 6 มีนาคม 2563

ธนาคารโลกเผยบทวิเคราะห์พบไทยมีคนจนพุ่งสูงขึ้นในรอบ 4 ปี แถมอัตราการก้าวกระโดดของความจนยังมากที่สุดในอาเซียน แนะลงทุนคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียม

ธนาคารโลก หรือ World Bank รายงานการวิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจากสถิติของภาครัฐอย่างเป็นทางการ พบว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2531 ถึง 2561 สัดส่วนคนยากจนในประเทศลดลงอย่างมาก จาก 65% หรือเพียงแค่ 10% แต่ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี 2558-2561 กลับพบว่าอัตราความยากจนของคนไทยเพิ่มขึ้น จาก 7.2% เป็น 9.8% หรือประชากรที่ยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน

รายงานสะท้อนอีกว่า ความยากจนที่พุ่งสูงขึ้นในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2561 กระจายไปยัง 66 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน คนยากจนในภาคกลาง ภาคอีสาน มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 5 แสนคนในแต่ละภาค นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ ยังส่งผลให้เกิดความยากจนพุ่งสูงขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก ฉายภาพอัตราการเพิ่มขึ้นของความยากจนในประเทศไทยที่ผ่านมาเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 5 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2541 ปี 2543 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 และล่าสุดจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นคือในปี 2559 และปี 2561 สถิติดังกล่าวจึงส่งผลให้ไทยเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งมากที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นในรอบล่าสุด ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า สาเหตุเพราะความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นและมีผลต่อเศรษฐกิจไทย จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ขณะเดียวกัน ก็ยังพบอีกว่า ประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ที่ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก คืออัตราการเติบโตที่ 2.7% ที่วัดจากช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ที่ผ่านมา

ธนาคารโลก ได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีมาตรการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อช่วนเปลี่ยนผ่านประเทศในระยะสั้น โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม และระบุประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะยากจนที่ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้เกิดการสร้างงานอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในส่วนระยะยาว ธนาคารโลกเสนอว่า รัฐบาลจะต้องลงทุนกับคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากในอนาคตการเจริญพันธุ์จะลดลงซึ่งจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรในประเทศ ดังนั้น ทรัพยากรบุคคลที่เป็นเด็กและเยาวชนในขณะนี้ รัฐจะต้องใส่ใจอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เกิดการรับโอกาสทางสุขภาพ การศึกษาอย่างเสมอภาคกัน จากนั้นจะเกิดการพัฒนาศักยภาพให้ไปถึงจุดสูงสุดได้

ข่าวที่น่าสนใจ