ข่าวดี! โอโซนโลกหนาตัวขึ้น ช่วยสภาพอากาศที่รุนแรงลดลง

by ThaiQuote, 1 เมษายน 2563

นักวิทยาศาสตร์เผย ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว แคบลงอย่างต่อเนื่อง ทิศทางลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ ส่งผลให้สภาพอากาศที่รุนแรงซีกโลกใต้ลดน้อยลง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะถูกมองว่าเป็นมหันตภัยครั้งใหญ่ของมวลมนุษย์ แต่ในอีกแง่มุม เมื่อผู้คนต่างพากันหวาดกลัวหลบอยู่ในที่พัก ไร้กิจกรรม ทุกการการเคลื่อนไหวแทบจะหยุดนิ่ง ส่งผลให้ธรรมชาติได้มีการฟื้นฟูตัวเอง เช่นดังที่มีรายงานความอุดมสมบูรณ์ของป่าอุทยานแห่งชาติในไทยที่ฟื้นตัว หรือคลองเวณิชในอิตาลีที่เห็นฝูงปลาและหงส์คืนมาอีกครั้ง

สำหรับสภาพอากาศก็เช่นเดียวกัน ล่าสุด มีหลายเมืองในหลายประเทศรายงานตรงกันว่า จากการเคลื่อนไหวที่น้อยลงของผู้คน สภาวะอากาศเริ่มดีขึ้น เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะถูกปล่อยออกมาน้อยมากหากเทียบกับช่วงก่อนไวรัสระบาด

ขณะที่ข่าวดีเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมระดับโลกก็เกิดขึ้นเช่นกัน โดยสำนักข่าว BBC ได้รายงานว่า ชั้นโอโซนห่อหุ้มโลกที่เคยได้รับความเสียหายเริ่มมีการหนาตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และการหนาขึ้นทำให้กระแสลมกรดซีกโลกใต้ (Southern Jet Stream) พัดกลับคืนสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น จนหลายภูมิภาคในซีกโลกใต้ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งเหมือนเดิม ซึ่งรายงานดังกล่าวอ้างอิงจากผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย

 


สำหรับชั้นโอโซนที่บางลงนั้น เกิดจากสารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFC) ที่มาจากผลิตภัณฑ์สเปรย์กระป๋องที่คนนิยมใช้กัน ซึ่งชั้นโอโซนเมื่อบางลงจะส่งผลรบกวนต่อสภาพอากาศโดยรวมของโลกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือน ก.ย.ของปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าช่องโหว่ดังกล่าวมีขนาดลดลงมาอยู่ที่ 16.4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นขนาดเล็กที่สุดนับแต่ปี 1982

ดร.อันทารา บาเนอร์จี ผู้นำทีมวิจัยจากองค์การบริหารงานด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า ก่อนช่วงปี ค.ศ.2,000 กระแสลมกรดซีกโลกใต้ ได้เริ่มเบี่ยงทิศทางลงมายังด้านทิศใต้มากขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ในซีกโลกใต้ต้องพบกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน แต่หลังจากปี 2,000 เป็นต้นมา ทีมผู้วิจัยพบว่ากระแสลมกรดซีกโลกใต้หยุดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว และเริ่มพัดกลับไปในทิศทางเดิม

เมื่อกระสลมเริ่มพัดกลับไปในทิศทางเดิม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าออสเตรเลียจะไม่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงมากเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสลมกรดซีกโลกใต้จะไม่ผลักเอาพายุฝนออกไปห่างชายฝั่งอีกต่อไป ส่วนประเทศแถบอเมริกาใต้ตอนกลาง เช่นปารากวัย อุรุกวัย บราซิลตอนใต้ และอาร์เจนตินาตอนเหนือ อาจมีปริมาณฝนลดลง แต่ภูมิภาคแถบพาตาโกเนียอย่างชิลีและอาร์เจนตินาตอนใต้จะมีฝนตกมากขึ้น และจะมีระดับความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายลดลงด้วย

ทั้งนี้ แม้จะเป็นข่าวดี แต่ ดร. บาเนอร์จี ได้กล่าวย้ำว่า เราก็ยังต้องใส่ใจสภาพแวดล้อมเช่นเดิม ด้วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการทำให้ชั้นโอโซนให้ลดลง

ที่มา : BBC

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

อีก 2 สัปดาห์ "อเมริกัน" จะวิกฤต ทำเนียบขาวคาดจะมีคนตายเพราะโควิด-19 ถึง 2.4 แสนคน

สั่งกักอื้อ! คนใกล้ชิด “บิ๊กตู่” หลัง ขรก.ติดโควิด-19 จับตา! จ่อออกมาตรการสำคัญ