“เฟลชแมน ฮิลลาร์ด” เผย โควิด-19 สร้าง “มุมมอง-ความเข้าใจ” แบบใหม่

by ThaiQuote, 11 พฤษภาคม 2563

Fleishman Hillard บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เจาะลึกความคิดผู้บริโภคหลังวิกฤติโควิด เผย “มุมมอง” และ “ความเข้าใจ” ของผู้คนที่มีต่อโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าหลังจากนี้ไปจะเกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

จากประเด็นที่น่าสนใจดังกล่าว “เฟลชแมน ฮิลลาร์ด” FleishmanHillard) เป็นบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่ทำใน 6 ประเทศเกี่ยวกับมุมมองของผู้บริโภคทั่วโลกต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนการรับรู้ พฤติกรรม ค่านิยมและสังคม

เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ได้จัดทำการสำรวจขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมนี, อิตาลี, เกาหลีใต้และสหราชอาณาจักร เผยให้เห็นลำดับขั้นต่างๆ และความคาดหวังของผู้คนเมื่อเกิดวิกฤต โดยมีการสำรวจกับประชากรในหลากหลายอาชีพ โดยสามารถนำมาเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจกับรัฐบาลมากที่สุด แต่มีความมั่นใจกับนายจ้างน้อยที่สุด

-จากผลสำรวจในทุกตลาดที่กล่าวมา เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ รัฐบาลถือว่าได้รับคะแนนความมั่นใจจากประชาชนมากที่สุดในการปฎิบัติงานในช่วงวิกฤต คิดเป็นร้อยละ 47 โดยผู้บริโภคชาวจีนให้คะแนนรัฐบาลของพวกเขาในระดับ "ดีเลิศ" หรือ "ยอดเยี่ยม" คิดเป็นร้อยละ 79 แต่เมื่อพิจารณาในประเทศอื่น ประชาชนกลับให้คะแนนรัฐบาลของตนเองในระดับที่ต่ำมากกว่านั้น กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 34 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 50 เกาหลี ร้อยละ 43 อิตาลี ร้อยละ 39 และเยอรมนี ร้อยละ 37

-บริษัทขนาดใหญ่ได้รับคะแนนความพึงพอใจจากประชาชนอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศจีน คิดเป็นร้อยละ 66 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ได้รับคะแนนประเมินที่ต่ำกว่านั้น กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลี ร้อยละ 28 และ ในเยอรมนี เพียงร้อยละ 17

-นายจ้างขององค์กรทุกขนาดได้รับการประเมินผลต่ำ โดยมีเพียงร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ให้คะแนน “ยอดเยี่ยม” หรือ “ดีมาก”

-ในหลายตลาด การสำรวจพบว่าในวิกฤติครั้งนี้ ผู้คนถึง 7 ใน 10 คนรู้สึกว่าบุคคลอื่นปฎิบัติตนตามบทบาทของตนเองได้อย่าง “ยอดเยี่ยม” “ดีมาก” หรือ “ดี” แม้ว่าบางคนอาจจะต้องตระหนักเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือ เพราะมีรายงานว่า ผู้คนถึงร้อยละ 12 ยังเพิกเฉยต่อข้อกำหนดที่ให้กักตัวภายในที่พักอาศัย

ผู้คนกำลังวางแผนในระยะยาวมากขึ้นและไม่คิดจะกลับไปใช้ชีวิตแบบ "ปกติ"

-การกลับไปใช้ชีวิตตาม “ปกติ” นั้นมีนิยามที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยผู้คนในประเทศจีนเชื่อว่าอีก 9 สัปดาห์จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เชื่อว่าจะใช้เวลามากกว่านั้น ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ย 15 สัปดาห์ ในเกาหลีใต้และเยอรมนี 17 สัปดาห์ และ ในสหราชอาณาจักรและอิตาลี 22 สัปดาห์

-ผู้คนมากกว่า 1 ใน 5 เชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนถึง 2 ปีกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แม้จะตระหนักดีว่าอาจมีการเลิกจ้างและให้พักงานในภาวะเช่นนี้ แต่ร้อยละ 89 คาดหวังว่านายจ้างจะยังใจกว้างพอและมีแนวทางที่สร้างสรรค์ในการลดผลกระทบให้กับลูกจ้าง

-ร้อยละ 91 คาดว่า บริษัทต่างๆ จะดำเนินการเพื่อช่วยให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี จัดหาอุปกรณ์ป้องกันและเจลทำความสะอาดมือเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีเวลาพัก เพื่อล้างมือและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบริเวณสถานที่ทำงาน เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing

-ร้อยละ 78 เข้าใจว่าบางบริษัทจะต้องพักงานและเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ต่ำสุดถึงร้อยละ 59 และ สหรัฐอเมริกา สูงสุดถึงร้อยละ 86

-ร้อยละ 52 ระบุว่านายจ้างดูแลพนักงานได้ดีขึ้นและถือว่าเป็นสิ่งซึ่ง “สำคัญมาก” ที่จะต้องทำในขณะนี้

ผู้บริโภคยินดีที่จะช่วยเหลือองค์กรต่างๆ ในการสนับสนุนพนักงา

-ร้อยละ 71 ยินดีที่จะหาแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจให้คงอยู่ต่อไป อาทิ การใช้บริการส่งของ (ร้อยละ 50) หรือผ่านการนัดหมายทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์ (ร้อยละ 44)

-ร้อยละ 34 ยินดีที่จะซื้อหรือชำระเงินสำหรับสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน เช่น บัตรของขวัญเงินสด (ร้อยละ 19) และจะชำระเงินค่าสมาชิกและบริการต่อไป (ร้อยละ 17)

เกือบทุกคนรู้สึกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้

–ร้อยละ 98 ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ พร้อมทั้งมีการเลื่อนหรือยกเลิกแผนการต่างๆ หรือการจับจ่ายใช้สอย และ ร้อยละ 90 ยังกล่าวว่าพวกเขามีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงในความคาดหวังและพฤติกรรมภายหลังการระบาดสิ้นสุดลง

–ร้อยละ 78 รู้สึกเป็นห่วงสุขภาพของตนเองและ ร้อยละ 74 มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขา ข้อกังวลในระดับนี้มีความสอดคล้องกันทั้งกลุ่มประชากร

–ร้อยละ 18 มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่ได้ผลกระทบด้านสุขภาพจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้ง ร้อยละ 5 ที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ในประเทศจีนและอิตาลี 1ใน 3 ของจำนวนประชากร (ร้อยละ 31 และ 33 ตามลำดับ) มีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สุขภาพได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสชนิดนี้

 

โสพิส เกษมสหสิน, รองประธานอาวุโส พาร์ตเนอร์และผู้จัดการทั่วไป เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่องค์กรควรจะเร่งกระทำในปัจจุบัน อีกทั้ง เราสามารถนำข้อมูลจากการศึกษาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยได้

นอกจากนั้น งานวิจัยยังเผยให้เห็นว่า ยิ่งเราเผชิญกับภัยคุกคามมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามด้านเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างหลักการแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ความโปร่งใส การสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอและจริงใจ เพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน

การสื่อสารอย่างเป็นระบบซึ่งดำรงอยู่ด้วยหลักคุณค่าและการกระทำ จะช่วยให้รับมือกับอุปสรรคและความท้าทายที่หลากหลายในโลกปัจจุบันได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีๆ กับบุคคล องค์กรและสังคมของเราอีกด้วย

รองประธานอาวุโส กล่าวอีกว่า แม้ทั่วโลกจะมีระบบและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้จากประสบการณ์ร่วมกันนี้ “สิ่งที่เราได้เห็นแล้วในขณะนี้คือ การที่เมืองต่างๆ ในประเทศจีนสามารถจะฟื้นตัวในช่วงแรกได้แล้ว ด้วยความรู้สึกมุ่งมั่นของผู้คนบนความหวังใหม่ และการตระหนักถึงความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ โสพิส ระบุด้วยว่า ในประเทศไทยควรมีการให้คำแนะนำแก่ออฟฟิศต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างปกติ นายจ้างต้องรับรู้ถึงข้อกังวลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งพนักงานและลูกค้า และยังต้องสร้างความคาดหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับพนักงาน ถึงแม้จะมีการต่อต้านอยู่บ้าง

“ด้วยการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อรายงานสถานการณ์และการเข้าไปข้องเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในระหว่างที่มีการกำหนดแนวทางให้กลับไปทำงานเช่นเดิม เราจึงเชื่อว่าองค์กรจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการสร้างสมรรถนะและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้มีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” โสพิส กล่าว


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ธุรกิจออกกำลังกายต้องทำอย่างไร เมื่อ “โควิด-19” เปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้า

ดีเดย์ 27 พ.ค. เผยแพร่ภาพคนอื่นต่อสาธารณะ “ต้องขออนุญาต” แอบถ่ายติดคุก