ฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค. ทุกภาคเตรียมรับมือภัยแล้ง ตระหนักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

by ThaiQuote, 21 พฤษภาคม 2563

ภัยแล้งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุม แต่การตระหนักและเตรียมรับมือจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.63 แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณการสิ้นสุดฤดูร้อนและกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งไปได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่กรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์สภาพภูมิอากาศว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงอีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 คาดว่ามีฝนตกชุกต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ในช่วงครึ่งหลังเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนมิถุนายน ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง จากนั้นช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในบางแห่ง เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นอีกครั้งช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ประสบปัญหา 60 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ในจำนวนนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ หรือประกาศพื้นที่ภัยแล้งใน 27 จังหวัด 158 อําเภอ 836 ตําบล 5 เทศบาล 7,262 หมู่บ้าน/ชุมชน ได้แก่

ภาคเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ

ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และชลบุรี

ส่วนภาคใต้มีเพียงสงขลาจังหวัดเดียว

ภัยแล้งในประเทศไทยเกิดจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ อาทิ สภาวะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนมากกว่าปกติ ความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุมทำให้ฝนตกในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง ความผิดปกติเนื่องจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทยน้อยกว่าปกติ ผลกระทบจากปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศ ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ ลอยขึ้นไปเคลือบชั้นล่างของชั้นโอโซน ส่งผลให้ความร้อนสะสมอยู่ในอากาศใกล้ผิวโลกมากขึ้น เป็นเหตุให้อากาศร้อนกว่าปกติ


สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกหรือเอลนีโญซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ทำให้ปริมาณฝนในปี 2562 น้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 15 และต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปีนี้ ส่งผลทำให้ปริมาตรน้ำกักเก็บของเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศมีน้อย โดยเฉลี่ยทั้งประเทศเหลือเพียงร้อยละ 21 ของความจุ ซึ่งถือเป็นน้ำต้นทุนที่เหลือน้อยมากและไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

นอกจากผลกระทบที่ทำให้พื้นที่ 60 จังหวัดทั่วประเทศขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคแล้ว ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ผลผลิตทางการเกษตรลดลง พื้นที่นาปรังได้รับความเสียหาย ข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าภัยแล้งซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2562 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,624,501 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่นา 1,442,674 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ อีก 1,143 ไร่

ปัญหาอีกประการหนึ่งของภัยแล้งคือ ผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ลดลง น้ำทะเลก็หนุนเข้ามา ซึ่งการแก้ปัญหาจะใช้วิธีปล่อยน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ เพื่อไล่น้ำเค็ม แต่เมื่อน้ำต้นทุนในเขื่อนต่าง ๆ มีน้อยก็ไม่สามารถระบายออกมาไล่น้ำเค็มได้ ผลกระทบจากน้ำเค็มก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา

และล่าสุดช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การประปานครหลวง แจ้งเตือนว่า น้ำประปาอาจจะมีความเค็มในบางช่วงเวลา ซึ่งพบว่าโดยภาพรวมน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พบค่าคลอไรด์เกินเกณฑ์มาตรฐาน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการรับรู้รสชาติ ตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำปราจีนบุรี พื้นที่ภาคตะวันออก ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเลี้ยงกุ้งในแม่น้ำดังกล่าว

ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมเองก็ไม่รอดผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า โรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมาก โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบโดยอ้อมที่เกิดจากต้นทุนการบริหารจัดการน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งวัตถุดิบบางอย่างที่ผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้งทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบเหล่านี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ภัยแล้ง อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.10-0.11 % ของ GDP จากผลผลิตทางการเกษตรที่ลดน้อยลงโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งประกอบด้วย ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย แต่หากว่าระยะเวลาการเกิดภัยแล้งลากยาวออกไปนอกฤดูกาล หรือเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เกิดฝนทิ้งช่วงยาวนาน หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติก็จะกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น 

ข้อห่วงใยของภาคเศรษฐกิจต่อผลกระทบภัยแล้งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง ซึ่งจะเกิดใน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี กับช่วงกลางฤดูฝน ปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจเกิดขึ้นเฉพาะบางพื้นที่หรืออาจครอบคลุมทั้งประเทศ

ภัยแล้งนั้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ด้านเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้ ผลผลิตการเกษตรที่เป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบภัยแล้งในระยะยาว จึงต้องสร้างความตระหนักให้ทุกฝ่ายตื่นตัวลดการทำลายสภาพแวดล้อม ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า พร้อมไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ควบคุมการใช้น้ำน้อยที่สุดโดยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความต้องการน้ำน้อย รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ

เนื่องจากภัยแล้งนั้นเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่การตระหนักและเตรียมรับมือจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

ข่าวที่น่าสนใจ

คนและป่า ที่"ดอยตุง" ผลลัพธ์ความสัมพันธ์ก่อเกิด "ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

โควิด-19 ติดเชื้อใหม่ 3 ราย อึ้ง! พบ 2 คน มีประวัติเดินห้าง-ไปร้านตัดผม