ส่งกองปราบฯไปล่า "หนี้นอกระบบ" โปรเจกต์ใหม่ของตำรวจไทย

by ThaiQuote, 27 พฤษภาคม 2563

ตำรวจเซ็ททีมปราบหนี้นอกระบบ ระดมทีม "กองปราบ" จับแหลกนายทุน ผลลัพธ์เดียวคือ เอานรกออกจากความทุกข์ของคนไทย 

 

“ปัจจุบันการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการไปในหลากหลายรูปแบบ เช่น ขณะนี้พบว่ามีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการจำนวนมาก หรือล่าสุดขณะนี้ มีการเปิดเป็น Application เพื่อให้ประชาชนกู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์ โดยแอปพลิเคชั่นจะบังคับให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆในโทรศัพท์ เมื่อผิดนัดชำระหนี้ จะมีการทวงหนี้ โดยส่ง SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความอับอาย เป็นต้น”

ประโยคกล่าวนำของพล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรืออีกในฐานะคือโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่สะท้อนให้เห็นภาพว่า ปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้โหด หนี้นอกระบบ ยังคงคุกคามชาวไทย และยังผลทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่เรื่องเงินทองเป็นเรื่องสำคัญของผู้คน และเมื่อเงินขาดมือ มันจึงนำไปสู่การเดินเข้าสู่ธุรกิจสีดำ สีเทา คือเงินกู้นอกระบบ เพื่อหาเงินมาหมุนเวียนให้ชีวิตรอดพ้นไปได้

ปัญหาที่ว่า อยู่ในสายตาของบิ๊กตำรวจในงานนโยบายมาตลอด และมาถึงจุดที่ต้องเซ็ทอัพทีมขึ้นมาเพื่อช่วยคนไทยให้หลุดพ้นจากปัญหานี้ พล.ต.ท.ปิยะ ขยายความว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความห่วงใยของผู้นำประเทศ จึงส่งต่อมายังพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่ต้องลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ความเข้มข้นปรากฏชัดเจนมากขึ้น หลังตำรวจตั้ง "ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" หรือชื่อย่อว่า ศปน.ตร. และให้ทีมนี้ ที่จะระดมทั้ง มือปราบ มือตาม มือสืบ มือกฎหมาย ที่ใส่เครื่องแบบตำรวจมารวมตัวกันเอาไว้ เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยมีหัวหน้าชุดคือพล.ต.ท.ปิยะเอง

"สตช.จะมีภารกิจหน้าที่เกี่ยวกับการปราบปรามและดำเนินคดีกับ ผู้มีอิทธิพล บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ มีลักษณะเป็นการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบประชาชน การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย หรือการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเป็นการฉ้อโกงประชาชน” พล.ต.ท.ปิยะ อธิบายถึงกรอบการทำงานของศปน.ตร. ในภาพกว้าง แต่มีผลลัพธ์เดียวคือเอานรกที่ชื่อว่าเงินกู้นอกระบบ ออกไปจากความทุกข์ร้อนของคนไทย

รูปแบบการทำงานของศปน.ตร. จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนปฏิบัติการในพื้นที่ ในพื้นที่ส่วนกลางหน่วยรับผิดชอบหลักคือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และมีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบ และมีกองบังคับการปราบปราม(บก.ป) กองบังคับการปราบปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นหน่วยร่วมปฏิบัติการ

ในพื้นที่ระดับท้องที่ มอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบในพื้นที่ โดยมีผู้บัญชาการ เป็นหัวหน้า และเชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ ฝ่ายปกครอง อัยการ สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ดินจังหวัด สรรพากรจังหวัด หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้สถานีตำรวจทุกแห่งจะสนับสนุนข้อมูล ประวัติ พฤติการณ์ของนายทุนตลอดจนผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ท้ายสุด พล.ต.ท.ปิยะ ฝากข้อมูลว่า ขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ 0523410680 หรือร้องทุกข์ได้โดยตรงที่ สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 191 และ 1599ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นั่นคือทีมใหม่ของตำรวจที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และทุกอย่างถูกตระเตรียมเอาไว้หมดแล้ว จากนี้คือผลงานที่จะมอบความสุขคืนให้คนไทย หลังจากโควิด-19 มีทิศทางดีขึ้น แต่เรื่องเงินทองของคนไทยก็ต้องดีตาม

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ซีพีเฟรชมาร์ท” แจงไม่เกี่ยว “น้ำดื่ม” ผิดกฎหมาย ชี้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิต

“ครม.” เคาะแล้ว จัดเยียวยาให้ เด็ก-คนแก่-คนพิการ 3,000 บาท อีก 13 ล้านคน