เปิดใจอดีตกัปตัน “การบินไทย” กับปัญหา “สหภาพฯ ที่ไม่เคยแข็งแรง”

by ThaiQuote, 2 มิถุนายน 2563

รับรู้เรื่องราวเชิงลึกจากอดีต “กัปตันการบินไทย” ในยามที่รุ่งโรจน์สายการบิน “รักคุณเท่าฟ้า” เป็นที่ 1 ของการให้บริการ แต่วันนี้กลับกลายเป็นซากเครื่องบินเข้าสู่ศาลล้มละลาย

ก่อนอื่นขอให้คำความรู้จักกับ “การบินไทย” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจลักษณะพิเศษแตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ คือ เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด มหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำสัญญากับรัฐบาลปีต่อปี ก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แต่ในระยะหลังมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ 51%

และถ้าหากเราคิดว่า “การบินไทย”เป็นสายการบินแห่งชาติ คนไทยน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนมากก็เป็นเรื่องไม่จริง เพราะจากปากคำของ “พระถนิต สันติกโร” หรืออดีต “น.อ.ถนิต พรหมสถิต” กัปตันการบินไทย ที่ทำงานในการบินไทยมาแล้วกว่า 20 ปี และลาออกมากว่า 10 ปี แต่ยังมีความผูกพันกับองค์กรนี้อยู่ และยังเฝ้าติดตามความเป็นไปของการบินไทย และอย่างน้อยที่สุด คนเป็นพระก็ต้องพูดเรื่องจริง

พระถนิต เล่าว่า ปัจจุบันนี้ผู้ถือหุ้นที่แท้จริงของการบินไทยคือชาวต่างชาติ และเมื่อการบินไทยอยู่ในสภาพล้มละลาย ชาวต่างชาติเหล่านั้นย่อมเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ของตัวเองอย่างถึงที่สุด

สำหรับการลดต้นทุน ในส่วนของพนักงานลูกจ้าง มีการปรับโครงสร้างมาหลายครั้งและมีการรณรงค์ให้สมัครใจลาออกหลายรอบ เพื่อเป็นการลดขนาดขององค์กร และปรับรูปแบบงานบางแผนกออกเป็น Out Source แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้การบินไทยมีกำไร นับวันมีแต่ขาดทุนมากขึ้น และการขาดทุนที่มากที่สุดคือการตัดสินใจซื้อเครื่องบินแอร์บัส และเครื่องบินโบอิ้ง แต่ไม่สามารถบินได้เพราะติดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดทั้งปัญหาการขาดทุน และการขาดสภาพคล่อง ซึ่งปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นปัญหาใหญ่ของการบินไทยในเวลานี้ ล่าสุดได้ขยายเวลาลดเงินเดือนพนักงานออกไปอีก 3 เดือน

“ถ้าจะมองออกไปข้างหน้าการฟื้นฟูจากการล้มละลาย ให้เป็นสายการบินที่เหินฟ้าได้อย่างภาคภูมิ แน่นอนว่าจะต้องมีการสกัดไขมันส่วนเกินออกไป ซึ่งมีหลายส่วนที่ต้องจัดการ โดยเฉพาะความไม่โปร่งใสในองค์กร” พระถนิต ฉายภาพ

พระถนิต สันติกโร เล่าอีกว่า ภายใต้องค์กรที่เติบโตอย่างยาวนาน และใหญ่เทอะทะ เต็มไปด้วยไขมันส่วนเกิน และความไม่โปร่งใส มีการหวังผลประโยชน์ขององค์กรเข้าสู่ตัวทุกหน่วยงาน สหภาพแรงงานการบินไทยที่ก่อตั้งขึ้นมา ก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับสหภาพที่อื่นๆ ระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับกลางไม่เข้ามาเป็นสมาชิก มีแต่ลูกจ้างระดับเล็กเป็นส่วนใหญ่ การจัดตั้งสหภาพขึ้นมาเพื่อสร้างกิจกรรมในการหาเงิน แล้วผ่องถ่ายเงินบางส่วนขึ้นไประดับบนเท่านั้น ไม่ได้สามารถสร้างอิมแพคใดๆ ได้ในการต่อรองเรื่องใดก็ตามสำหรับคนการบินไทย

“โครงสร้างการบริหาร ความสลับซับซ้อน การแบ่งชนชั้นระหว่างกัปตัน แอร์ เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ล้วนเป็นจุดอ่อนในการปรับโครงสร้างการบริหารให้ทันสมัยได้ มือปืนรับจ้างเข้ามาหลายรายก็ต้องแพ้ออกไปจากแดนสนธยาแห่งนี้” อดีตนักบินการบินไทย ที่บวชเป็นพระ เล่าถึงปัญหา

พระถนิต สันติกโร กล่าวอีกว่า “ สิ่งที่น่าเห็นใจคือลูกจ้างระดับล่าง ขนาดที่มีสหภาพฯ ก็ยังขาดความเข้มแข็งที่จะรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก แล้วนี่เข้าสู่กระบวนศาล สภาพของสหภาพฯ ย่อมสิ้นสุดลง ที่เหลือก็ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจศาลท่านจะเมตตา”

เมื่อการบินไทยจากที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ทั้งสร้างความภูมิใจ สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล ค่อยๆ ถูกกัดกร่อนจากความเห็นแก่ตัว และความไม่โปร่งใส เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายกลาง ได้ถูกสะสาง แม้ว่าต้องเจ็บปวดอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็หวังว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่สมเกียรติ สมศักดิ์ศรีในอนาคตต่อไป

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ