“บิ๊กตู่” สั่งสอบ อสมท. ปมแบ่งเงินชดเชยคลื่น 2,600 MHz ให้คู่สัญญา 50%

by ThaiQuote, 10 มิถุนายน 2563

นายกฯ ตั้งปลัดสำนักนายกฯ สอบ อสมท ปมสหภาพแรงงานฯ ยื่นหนังสือสอบข้อเสนอสัดส่วนเงินชดเชยคลื่น 2,600 เมกะเฮิรตซ์ให้แก่เอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง (50%) ทำรัฐเสียหาย ด้าน กสทช. เคาะจ่าย “อสมท” 3,235 ล้านบาท

 

จากกรณีที่ นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสนอสัดส่วนเงินชดเชยคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้แก่เอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง (50%) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.63

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เห็นชอบให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยลงนาม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2563 และล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสังคมสื่อมวลชน จึงเห็นควรพิจารณามอบหมายให้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในฐานะกำกับดูแล บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นเงินเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ อสมท. โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช. มีมติ ดังนี้

1.การกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้กำหนดค่าทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้นับเอาระยะเวลาตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นความถี่จนถึงวันที่ 3 เม.ย. 2565 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี รวมกับระยะเวลาการพิจารณาสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ทำให้บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ขาดความชัดเจนในสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยเป็นห้วงเวลาตั้งแต่วันที่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่มีผลบังคับใช้ (20 เม.ย. 2555) ถึงวันที่บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ได้รับทราบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว (23 ก.ย. 2558) เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี 5 เดือน

รวมทั้งสองช่วงเวลาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี 5 เดือน มูลค่าของการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 3,235,836,754.93 บาท

2.รับทราบและให้ อสมท. ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท. ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2563 ต่อไป ที่ระบุให้แบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆ กัน ระหว่าง อสมท. กับ บริษัทคู่สัญญา (บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด)

3.มอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการจ่ายเงินให้กับ อสมท. ตามข้อ 2 และตามเงื่อนไขของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ โดยเป็นการแบ่งจ่ายเป็นงวดตามที่ สำนักงาน กสทช. ได้รับเงินค่าประมูลคลื่น 2600 MHz

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเริ่มจากกรณีประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท. ร้องเรียนว่า กรณีคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และเงินชดเชยที่ บมจ.อสมท จะแบ่งให้กับเอกชนจะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ลงทุนและแผนธุรกิจ แต่ปรากฏว่าจากการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ครั้งล่าสุดที่มีผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.อสมท.ได้เข้าไปชี้แจง โดยมีการระบุว่าสัดส่วนเงินชดเชยดังกล่าวจะให้กับบริษัทคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง (บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด) เป็นวงเงินชดเชยมูลค่าหลายพันล้านบาท

ซึ่งทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท. เห็นว่าอาจขัดต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน จึงขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจากการเสนอส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งนั้นอาจเป็นการทำให้รัฐเสียประโยชน์

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“เทวัญ” เสนอให้เงิน 1,300 ล้านบาท เยียวยาพระสงฆ์ สามเณร จากโควิด-19

คนดังแห่ร่วมงานศพ “จอร์จ ฟลอยด์” หลานสาววอนแก้กฎหมายเพื่อยุติความเกลียดชัง