“อุตตม” พร้อมช่วยผู้ประกอบการรถบรรทุก เล็งใช้กองทุน สสว. เสริมสภาพคล่อง

by ThaiQuote, 10 มิถุนายน 2563

“อุตตม” เร่งช่วยเหลือ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย หลังได้รับผลกระทบโควิด-19 เล็งใช้สินเชื่อ SotfLoan แบงก์ชาติ 5 แสนล้านบาท พร้อมศึกษาการให้สินเชื่อผ่าน กองทุน สสว.

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ร่วมหารือกับ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สมาคมคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น สมาคมขนส่งสินค้า และโลจิสติกส์ไทย และสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย ในเรื่องผลกระทบของภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายอุตตม เปิดเผยว่า ในการหารือกับผู้ประกอบการครั้งนี้ เป็นการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลัง พร้อมเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ขณะนี้มีช่องทางแหล่งเงินกู้ คือ มาตรการ Softloan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้ใช้ไปเพียง 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือเป็นอีก 1 ช่องทาง เพื่อใช้ดูแลสภาพคล่องหมุนเวียนในกิจการ

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพราะมีเงื่อนไขการผ่อนปรน มากกว่าหลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะศึกษาหลักเกณฑ์ข้อสรุป ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ รวมไปถึงยังมีสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธ.ออมสิน เป็นต้น ที่พร้อมจะดำเนินมาตรการสินเชื่อให้กับภาคเอกชนผู้ได้รับผลกระทบ

ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้กระทรวงการคลังผ่อนปรนการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายรับร้อยละ 1 ลดเหลือร้อยละ 0.5 เป็นระยะเวลา 2 ปี จากเวลาในช่วงปกติการขนส่งสินค้ามีรายรับทั้งระบบ 2-3 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้เหมือนเดิม จึงเสนอให้ช่วยเหลือสภาพคล่อง เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง

 

 

สำหรับการช่วยเหลือสภาพคล่อง จากกองทุน สสว. เพื่อให้บรรดารถบรรทุก ค้ำประกันการกู้ยืมด้วยกันเอง จะช่วยลดข้อจำกัดจากการปล่อยกู้ของธนาคาร ซึ่งต้องการเงินกู้ต่อรายประมาณ 10 ล้านบาท รวมวงเงินต้องการประมาณ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการรถบรรทุกประมาณ 3 แสนราย มีรถบรรทุก 1.4 ล้านคัน ได้รับผลกระทบจากโควิด ต้องหยุดกิจการ หรือเลิกวิ่งให้บริการร้อยละ 40 เพราะไม่มีงานให้วิ่งบริการ จึงทำให้คนขับรถบรรทุกตกงาน หรืองานน้อยลง

ขณะที่รถโดยสารเอกชน 40,000 ราย ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 60-70 กระทบต่อแรงงานภาคการขนส่งทางบกอย่างมาก และผู้ประกอบการพร้อมร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ปรับรูปแบบการขนส่งสินค้า หลังสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อสร้างแพลตฟอร์มใหม่ การจัดทำบัญชีเดียวที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินได้มากยิ่งขึ้น

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“ธนารักษ์” เดินหน้าเปิดประมูลที่ราชพัสดุ ดูดรายได้เข้ารัฐ 15,000 ล้านบาท

“สิระ” ยันเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดี “กร่าง” ไม่จริง