“ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ตำนานการเมือง-นักสิทธิมนุษยชนผู้กล้ารับผิด

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2563

อ่านประวัติ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” ผู้มีส่วนร่วม “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ผู้กล้าออกมากล่าวขอโทษทายาทเหยื่อแทนการกระทำอันเลวร้ายของครอบครัว

ช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย.63 แวดวงการเมืองไทยต้องพบกับความเศร้า เมื่อมีการรายงานว่า นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ อาจารย์โต้ง อดีตนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน บุตรชายคนเดียวของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคมะเร็งในวัย 72 ปี


เมื่อเอ่ยชื่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ถ้าเป็นคอการเมืองแล้วจะคุ้นหูเป็นอย่างดี แม้ในช่วงหลังจะหายหน้าหายตาไปจากแวดวง แต่หากย้อนไปราวราว 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ยังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับอีกด้วย

 

ประวัติไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

 

บุตรชายคนเดียวของ “น้าชาติ”

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (ชื่อเล่นโต้ง) เกิดวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2490 เป็นบุตรชายคนเดียวของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ท่านผู้หญิง บุญเรือน ชุณหะวัณ จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2517 และปริญญาโทศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (การเมือง) จาก วิทยาลัยบูรพศึกษาและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน

 


หนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

หลังจบการศึกษา นายไกรศักดิ์กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นนักวิชาการอิสระที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างเอียงซ้าย แต่เมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บิดา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2532 ก็ได้ลาออกจากราชการมาเป็นคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และพันศักดิ์ วิญญรัตน์

ในช่วงนี้เองที่นายไกรศักดิ์ ได้มีบทบาทเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) พ.ศ.2532 มีส่วนในการผลักดันนโยบายสำคัยในยุคนั้นคือการ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” โดยเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหา กรณีพิพาทในประเทศกัมพูชา ร่วมเจรจาสันติภาพในประเทศกัมพูชา, ลาว, เวียดนาม จนต่อมาได้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และได้ร่วมเจรจาแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา (มาตรา 301) และร่วมเจรจาและผลักดันให้มีการก่อตั้งเอเปค (APEC)

 


บทบาททางการเมือง : รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดน รสช.ทำการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นายไกรศักดิ์ จึงหันมาทำงานการเมืองแบบเต็มตัว เป็นที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. นายพิจิตต รัตตกุล เมื่อปี 2539-2542 ชนะเลือกตั้ง เป็น ส.ว.นครราชสีมา เมื่อปี 2543 และสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และเป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา โดยตลอดระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2543-2549) ติดตามตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลชวน และรัฐบาลทักษิณ

ปี พ.ศ. 2550 นายไกรศักดิ์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ชนะการเลือกตั้ง ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เงา ของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และใน พ.ศ.2551 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 


นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

นอกจากผลงานการเมืองอันโดดเด่น นายไกรศักดิ์ยังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับ เริ่มจากในยุคที่ ดร.พิจิตต รัตนกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไกรศักิ์ได้เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยอีกหนึ่งผลงานที่สำคัญ คือ หลังรัฐประหาร 2549 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์ แต่งตั้งนายไกรศักดิ์ เป็นกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ซึ่งเจ้าตัวมีบทบาทในการผลักดันให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ รื้อฟื้นคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ราย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศทำสงครามยาเสพติด ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เร่งคลี่คลายคดีฆ่าตัดตอนซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2546

 


จิตวิญญาณนักสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า นายไกรศักดิ์ มีจิตวิญญาณแห่งนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง ก็คือการออกมากล่าวขอโทษในนามของครอบครัวชุณหะวัณ ต่อทายาทของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ อิหม่ามชาวจังหวัดปัตตานี ที่ทะเลสาบสงขลา ที่ถูกอุ้มฆ่า ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่บริหารประเทศหลังการรัฐประหารปี 2490 ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นลุงเขยของตนเอง ซึ่งในยุคนั้นมีผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นสูญหายหรือเสียชีวิตหลายคน โดยนายไกรศักดิ์ยอมรับว่าครอบครัวของเขามีส่วนในเรื่องนี้


ข่าวที่น่าสนใจ