“ธพว.”จับมือ”สรรพากร – IEC” ช่วยรีบูตเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ติวออนไลน์-ให้สินเชื่อดอกถูก

by ThaiQuote, 15 มิถุนายน 2563

ธพว. ผนึก กรมสรรพากร และ IEC ปูพรมเติมความรู้คู่ทุน จัดสัมมนาออนไลน์ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” ฟรี หนุนเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไทย เข้าสู่มาตรการบัญชีเดียวควบคู่เข้าถึงสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ดอกเบี้ยพิเศษ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจ

ความพยายามฟื้นตัวในธุรกิจของตัวเองของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในเมืองไทยกำลังเดินหน้ากันไปแล้ว หลังกว่า 3 เดือนที่เจอผลกระทบอย่างหนักต่อพิษโควิด-19

ประเด็นที่น่าสนใจหากมองกันไปยัง "เครื่องมือ" ตัวช่วยสำหรับ SMEs ที่เวลานี้หนีไม่พ้นในเรื่อง "เงินทุน" ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นคืนมาได้ดั่งเดิม และแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจของ SMEs เดินหน้า ผลพลอยได้ก็จะนำไปสู่การจ้างงาน เงินหมุนเวียนในพื้นที่ และมันจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นระบบ

ยิ่งกับในช่วงนี้ ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในเรื่องนโยบายเพื่อให้สะท้อนลงมายังกลุ่ม SMEs โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ที่รัฐจะพยายามช่วยเหลือ เพื่อให้รับกันกับนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่กำลังจะพิจารณาเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวอีกครั้ง และแน่นอนว่ากลุ่ม SMEs ก็ต้องมีความพร้อม

แต่ความพร้อมที่ว่า จะมารูปแบบไหน เพื่อให้กลุ่ม SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายที่สุด

หลักการคือ "การทำบัญชีเดียว" สำหรับธุรกิจของ SMEs ที่น่าจะเป็นตัวที่ชี้วัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีและมากที่สุด เพราะการทำบัญชีเดียวในธุรกิจ SMEs ในรูปแบบของ "นิติบุคล" ที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่กังวลพอสมควรคือการจัดทำบัญชีเดียวสำหรับธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะกับกลุ่มด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านเครื่องมือระบบซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วย รวมไปถึงการปูทางจากภาครัฐเพื่อช่วยเหลือพวกเขาก็ต้องราบรื่นด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบด้านความไม่พร้อมสำหรับการท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้

โชคอันดีที่แสงสว่างยังมีให้เห็นสำหรับกลุ่ม SMEs ด้านการท่องเที่ยว เพราะโต้โผใหญ่ที่ดูแลทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้านภาษี และด้านเทคโนโลยีในการจัดการเพื่อประโยชน์ของ SMEs มาผนึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวโดยเฉพาะ

สามกลุ่มพลังข้างต้นมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เข้ามาจับมือกัน นั่นคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมด้วยกรมสรรพากร และ บริษัท อินเทลลิเจน เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนซัลติ้ง หรือ IEC ทั้งหมดผนึกเพื่อร่วมงานกัน เป้าหมายคือหนุน SMEs ท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยเข้าสู่ระบบมาตรการบัญชีเดียวควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ SMEs รายเล็ก หรือที่เรียกว่า Extra Cash ที่จะมาพร้อมกับดอกเบี้ยขั้นต่ำ โดย "ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน" อีกทั้งยังเพิ่มการสัมมนาแบบออนไลน์กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ภาพรวมของ SMEs ด้านการท่องเที่ยวเดินหน้าอย่างดีที่สุดด้วยการมีสภาพคล่องหมุนเวียนเพื่อธุรกิจของตัวเอง

โปรเจ็กค์นี้ถูกเรียกว่า “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” และได้รับการขยายความจาก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ว่าโครงการนี้จะครอบคลุมทุกธุรกิจที่พันเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทัวร์ บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร จากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพื่อให้พวกเขามีความเข้มแข็งและเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างมีศักยภาพที่สุด


สิ่งที่กรมสรรพากรจะให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้านการท่องเที่ยวคือเรื่องของ "ภาษี" ที่จะถ่ายทอดให้ได้รับทราบกันว่า ภาษีสำหรับการประกอบธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก และพร้อมอธิบายในทุกประเด็นมาตรการทางภาษี เพื่อให้ SMEs ได้เอาไปใช้ประโยชน์ และบรรเทาภาระทางภาษีของตัวเองได้ และที่สำคัญคือ รูปแบบการทำบัญชีเดียวที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของผู้ประกอบการ เพื่อให้พร้อมที่สุดหากจะต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

เมื่อความพร้อมด้านบัญชี และภาษีของ SMEs ด้านการท่องเที่ยวมีความพร้อม ก็ถึงคราเดินหน้าเข้าหาแหล่งเงินทุน ซึ่งหน่วยที่รับบทบาทนี้จาก 3 กำลังที่ประสานกัน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางในโปรเจ็กค์ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” ด้วยเช่นกัน

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ฉายภาพโครงการ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” ในส่วนของ SME D Bank จะช่วยส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อจัดทำบัญชีเดียวที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งจากเรื่องของภาษีที่ผู้ประกอบการได้รับรู้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ก็จะมาถึงการเข้าถึง "แหล่งเงินทุน" ที่จะมีดอกเบี้ยพิเศษรองรับกับโครงการ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อให้มาปล่อยกู้และสนับสนุน SMEs ท่องเที่ยว นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึง เป็นทุนฟื้นฟูธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น


แต่คำที่ตามมาในทันที Extra Cash สินเชื่อรายเล็กสำหรับ SMEs ด้านการท่องเที่ยว คืออะไร และจะเอื้อประโยชน์อย่างไรต่อการเดินหน้าธุรกิจ คำตอบจาก นางสาวนารถนารี ฉายภาพอย่างชัดเจนว่า สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash เป็นรูปแบบของการเปิดโอกาสให้ SMEs “นิติบุคคล”ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ใน 5 กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ได้แก่ 1.ธุรกิจทัวร์ บริษัทนำเที่ยว 2.ธุรกิจสปา 3.ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) 4.โรงแรม ห้องพัก และ 5.ร้านอาหาร ผ่อนนานสูงสุดถึง 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ต่อปี นาน 2 ปี และปีที่ 3-5 ร้อยละ MLR+1 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ที่สำคัญไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ดูเหมือนว่ารัฐบาลก็พร้อมอย่างมากที่จะปล่อยเงินสินเชื่อสำหรับ SMEs ท่องเที่ยวทั่วเมืองไทย พร้อมกับการให้ความรู้ด้านการจัดการบัญชี ภาษี และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธพว. กระนั้น ในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทช่วย SMEs โดยเฉพาะการใช้ระบบซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยเหลือในด้านธุรกิจ เรื่องนี้ ถูกรับผิดชอบโดยฟากของเอกชนที่เข้ามาร่วมโปรเจ็กค์กับภาครัฐ นางปรัชนันทน์ โภควณิชกุลพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทลลิเจน เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ (IEC) ออกมาเผยว่า IEC เป็นบริษัทให้บริการซอฟท์แวร์ ที่เหมาะสม กับกลุ่มธุรกิจทั้งกลุ่มบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เพื่อส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งความร่วมมือในโครงการ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” นับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ปรับตัวตอบโจทย์ได้ดีเข้ากับธุรกิจในยุคปัจจุบัน สามารถการจัดทำและดูข้อมูล แบบ real time สามารถวิเคราะห์จัดทำบัญชีที่เป็นมาตรฐาน ควบคุมสต๊อกสินค้า ควบคุมต้นทุน ฯลฯ รวมถึง ทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงผลประกอบการที่แท้จริงของกิจการ แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และวางแผนธุรกิจได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

โครงการ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” มาวันนี้ถูกเดินหน้าไปแล้ว และระหว่างนี้ คือในวันที่ 16 มิถุนายน ทั้ง 3 ทีมก็ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อจัดสัมมนาออนไลน์เป็นยกแรกไปแล้ว ผ่านโปรแกรม YuuERP Conference โดยเริ่มไล่ไปจากภาคใต้ตอนบน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และภูเก็ต เป็นการเปิดรับกลุ่ม SMEs ท่องเที่ยวในพื้นที่รวม 20 กิจการ และได้ถ่ายทอดรู้การทำธุรกิจง่ายใน 90 นาที เช่น ทำบัญชีอย่างไร? ให้เงินเหลือเต็มกระเป๋า, สิทธิประโยชน์ทางภาษี รีบูตธุรกิจสู้ โควิด-19, การเพิ่มประสิทธิภาพทุกขบวนการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อลดต้นทุนด้วยระบบ ERP สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สู้ภัยโควิด-19 ไม่ต้องใช้หลักประกัน

ครั้งที่ 1 ภาคใต้ตอนบน


ส่วนโครงการต่อไปจะไปเจอกันในทั่วประเทศ เพียงแต่กลุ่ม SMEs ที่สนใจจะเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ “รีบูตธุรกิจท่องเที่ยว สู้ภัยโควิด-19” จะต้องสมัครลงทะเบียนเพื่อเข้าสัมมนาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มกันไปแล้วและไปสิ้นสุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 โดยเงื่อนไขก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงสแกน QR Code ในโปสเตอร์ด้านล่างของบทความตามที่พื้นที่ของ SMEs ท่องเที่ยวดำเนินธุรกิจอยู่ โดยกรอก User Name เป็น E-mail ตามตารางการออกทัวร์ เท่านั้นพร้อมรับฟรีซอฟต์แวร์! โปรแกรมการเพิ่มประสิทธิภาพทุกขบวนการทำงาน หรือระบบ ERP ฟรี! 3 เดือน มูลค่า 16,500 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากร (คุณพรพิมล) โทร. 02-272-9819, ฝ่ายส่งเสริมการตลาดและกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ (คุณกนกพร) โทร.02-265-3882 หรือ Call Center 1357

 

ครั้งที่ 2 ภาคใต้ล่าง


ครั้งที่ 3 ภาคเหนือตอนบน


ครั้งที่ 4ภาคเหนือตอนล่าง


ครั้งที่ 5 ภาคอีสานตอนบน


ครั้งที่ 6 ภาคอีสานตอนล่าง


ครั้งที่ 7 กรุงเทพมหานครและภาคกลาง


ครั้งที่ 8 ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ