ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ “หมุดโลก” เขาสะแกกรัง อุทัยธานี

by ThaiQuote, 11 กรกฎาคม 2563

คืออะไร? “หมุดโลก” อุทัยธานี ส่วนหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลก แท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมปริศนา บนยอดเขาสะแกกรัง

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องเกินกว่า 40 วัน ผู้คนทั่วไปเริ่มกลัมมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งในรูปแบบ New Normal

โดยเฉพาะในส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บวกกับโหยหาการพักผ่อนและเดินทางที่ในตลอดเกือบ 3 เดือนที่ผ่านหลายคนมีความอัดอั้น ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันหยุดยาวโดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ

ด้วยความพลุกพล่านของผู้คนในสถานที่ยอดนิยม อาจทำให้หลายคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย หรือยังกังวลกับการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะผู้คนจำนวนมาก หันมามองแหล่งท่องเที่ยวซึ่งไม่เป็นที่สนใจมากนัก โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่ได้มีการท่องเที่ยวเป็นจุดขาย

วันนี้ เว็บไซต์ ThaiQuote จะมาแนะนำสถานที่เที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี ที่มีความน่าสนใจในแง่มุมของประวัติศาสตร์ ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่ามีอยู่ในประเทศไทย นั่นก็คือ “หมุดโลก” ซึ่งตั้งอยู่ที่บนยอดเขาสะแกกรัง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี


แล้ว “หมุดโลก” คืออะไร

สำหรับ “หมุดโลก” นั้นใช้สำหรับคำนวณและแบ่งแนวเขต เพื่อลงพิกัดแผนที่โลก เป็นหลักฐานสำคัญในการสำรวจแผนที่ทางการทหาร ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2518 องค์การแผนที่ กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Defense Mapping Agency Hydrographic/Topographic Center : DMAHTC) ได้ทำการปรับแก้และย้ายศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐานจากเขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย มาเป็นที่เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี

โดยการปรับแก้ครั้งนี้ใช้เทคนิคการรังวัดจากดาวเทียมดอปเปลอร์จำนวน 9 สถานี ซึ่งตำแหน่งสัมพัทธ์ที่ได้จากการรังวัดดาวเทียมดอปเปลอร์ มีความถูกต้องสูงกว่าที่ได้จากงานโครงข่ายสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นจุดควบคุมโครงข่ายสามเหลี่ยม ประกอบด้วยจำนวนหมุดสามเหลี่ยมทั้งสิ้น 426 สถานี เรียกผลลัพธ์จากการปรับแก้โครงข่ายสามเหลี่ยมในครั้งนี้ว่า “พื้นหลักฐาน Indian1975

โดย “หมุดโลก” บนเขาสะแกกรัง มีลักษณะเป็นแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมรูปตัวยูคว่ำ ใช้เป็นกรอบคร่อมทับจุดของที่ตั้งหมุดแผนที่ สำหรับค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ ที่กรมแผนที่ทหาร ใช้ในการกำหนดตำแหน่งของหมุดหลักฐานเขาสะแกกรังนี้ ได้แก่ ละติจูด 15 องศา 22 ลิปดา 56.0487 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 0 ลิปดา 59.1906 ฟิลิปดาตะวันออก มีกำหนดสูง 140.98 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง


ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมแผนที่ทหาร ระบุว่า หมุดโลก ที่เขาสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี เป็นหมุดหลักฐานแผนที่หมายเลข 3001 ชื่อ OTRI91 (โอทีอาร์ไอเก้าหนึ่ง) เป็นชนิดหมุดสามเหลี่ยม มีความสำคัญคือหมุดเริ่มต้น ของการทำแผนที่สมัยใหม่ ด้วยดาวเทียม ใช้อ้างอิงพิกัดบนโลก และเป็นโครงข่ายหลักของรังวัดสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส เพื่อใช้ทำแผนที่โลกและแผนที่ประเทศไทย โดยในการทำแผนที่ประเทศไทยจะมีหมุดทั้งหมด 18 แห่งทั่วประเทศ เช่น เขาสะแกกรัง จ.อุทัยธานี แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ "หมุดโลก" บนยอดเขาสะแกกรัง ถือเป็น 1 ใน 3 "หมุดโลก" ของทวีปเอเชีย ได้แก่ จุดที่ 1 จากจุดศูนย์กำเนิด หลักหมุดที่ 90 อยู่ที่เขากาเรียนเปอร์ ประเทศอินเดีย จุดที่ 2 หลักหมุดที่ 91 อยู่ที่เขาสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี และจุดที่ 3 หลักหมุดที่ 92 อยู่ที่ประเทศเวียดนาม

หากใครมีโอกาสไปเที่ยวอุทัยธานี หนึ่งในเมืองรองที่น่าสนใจ อย่าลืมแวะไปชม “หมุดโลก” ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลก

ข้อมูลจาก FB : ประวัติศาสตร์ชาติไทยและข่าวสาร , กลุ่มคนรักอุทยานแห่งชาติ

เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดประวัติ สองวีรสตรี “ย่าโม-นางสาวบุญเหลือ” หนังคนละม้วนกับ “ช่องส่องผี”

ภาพรวมคนไทย "หย่อน" สู้โควิด-19 แต่ยังมั่นใจรัฐบาลจะพารอด