เยี่ยม “ดอยตาปัง” ท่องเที่ยวชุมชนบนผืนป่าอนุรักษ์

by ThaiQuote, 19 กรกฎาคม 2563

ใครจะรู้ว่า ภาคใต้มีจุดชมวิวที่งดงามไม่แพ้ดอยต่าง ๆ ในภาคเหนือ และน้อยคนนักจะรู้ว่า จ.ชุมพร ประตู่สู่ภาคใต้ จะมีจุดชมวิว ทิวทัศน์ ที่สร้างบรรยากาศคล้าย “ภูลังกา” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน จ.พะเยา

คืนนี้ฝนตกในตัวเมืองชุมพร พร้อมรอลุ้นว่า ฝนที่ตกอยู่ตอนนี้ คงตกที่ อ.สวี เช่นกัน ถึงเวลานัดหมายตี 5 ในเช้าอากาศเย็นสบาย เราเดินทางจากตัวเมือง ไปยังจุดนัดหมายของ กองทุนหมู่บ้านบ้านบนดอย ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร เพื่อยลโฉม แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อว่า เป็นจุดชมวิว Unseen 1 ใน 3 แห่งของภาคใต้ “ดอยตาปัง”

อาจฟังดูเป็นเรื่องเล่าหยอกกันเล่น ระหว่างทาง ว่า “ดอยตาปัง” นั่นมีเจ้าของ และเจ้าของนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ตาปัง” ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง “ตาปัง” ปัจจุบันอายุ 65 ปี คนเมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ รูปร่างสันทัด แข็งแรง ยิ้มแย้ม แจ่มใส สะพายกล่องใส่ยากันยุง ติดตัวไว้กันยุงกัดระหว่างต้องทำงานในสวนผลไม้ของแก


“ตาปัง” ถือเป็นผู้บุกเบิกกลุ่มแรกที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวในปี 2528 และเพราะแกเป็นคนแนะนำจุดชมวิวนี้ให้คนภายนอกได้รู้จัก ทุกคนจึงต่างพร้อมใจเรียกภูเขาที่อยู่สูงขึ้นไปจากบ้านแกว่า “ดอยตาปัง”

ฟังดูง่าย แต่ 35 ปีที่ผ่านมา คนพลัดถิ่นจากบ้านเกิดของตนเอง มาใช้ชีวิตต่างที่แปลกภาษา โดยมีเพียง 2 มือแผ้วถางทางป่า สุดแล้วแต่จะมีแรงทำ ตามที่หลวงเขาให้ เพื่อสร้างชีวิตใหม่ เราว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ “ตาปัง” ก็บอกเล่ากับเราด้วยแววตาที่สุกใส

ทุกวันนี้ “ตาปัง” อาศัยอยู่บ้านบนดอยคนเดียว ดูแลสวนทุเรียน มังคุด เงาะ สะตอ กาแฟ และยางพารา ปลูกทุกอย่างแบบ “สวนสมรม”ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ จากอดีตที่มีเพื่อนบ้านกว่า 25 หลังคาเรือน ส่วนเมีย และลูก ก็ย้ายลงมาอยู่ข้างล่างพร้อมกับเพื่อนบ้าน เพราะน้ำไฟเข้าถึง

เราขึ้น “ดอยตาปัง” พร้อมกับลุ้นในใจว่าจะมีทะเลหมอกให้ได้ชื่นชม แต่วันนี้ทะเลหมอกดูไม่เป็นใจสักเท่าไร ลมแรง เมฆฝน และหมอกฟุ้ง ก่อนเว้นวรรคให้เราได้เห็นภาพเบื้องหน้าชั่วระยะหนึ่ง ภาพที่ ภูเขาลูกเล็กลูกน้อยซ้อนทับกันไปคล้ายกับ ภูลังกา จ.พะเยา สวยงามเกินคำบรรยาย หากจะบอกว่า “ตาปัง” คนนครสวรรค์ ได้ค้นพบ “ดินแดนแห่งสวรรค์” ของแกแล้ว ก็คงไม่ใช่การกล่าวที่เกินเลยไป

ด้วยอากาศกำลังเย็นสบายเช่นนี้ เราไม่พลาดที่จะลองจิบ “กาแฟเขาทะลุ” จากแหล่งปลูกกาแฟโรบัสต้า สายพันธุ์ที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศที่ ต.เขาทะลุ ซึ่งมองเห็นอยู่เบื้องล่างจาก ดอยตาปัง

พูดถึงเรื่องการจัดการการท่องเที่ยว “ดอยตาปัง” เรารู้มาว่า กองทุนหมู่บ้านบนดอยได้เตรียมพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ตามนโยบายของ “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เพื่อเชื่อมโยง เอาแหล่งท่องเที่ยว โฮมสเตย์ วิถีชีวิต ผ้าทอ และผลผลิตทางการเกษตร มาร้อยเข้าด้วยกัน ชิมกาแฟ นอนโฮมสเตย์ เช้าขึ้นดอยตาปัง กินอาหารพื้นถิ่นในมื้อเช้าและเที่ยง ล้วนเป็นเรื่องน่าอภิรมย์สำหรับการท่องเที่ยวแบบครบวงจรได้จริง ๆ


“เดิมทีตอนที่เราเริ่มจัดการท่องเที่ยวดอยตาปัง ในปี 2560 อาศัยการบอกเล่ากันปากต่อปากจากนักท่องเที่ยวพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนขยายไปสู่การสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ทำให้คนรู้จักที่นี่เพิ่มมากขึ้น มีการรวมกลุ่มในกองทุนหมู่บ้านเพื่อจัดสรรรถโฟร์วีลสำหรับรับนักท่องเที่ยวขึ้นดอย ทั้งหมด 14 คัน ราคาค่าบริการคันละ 500 บาท สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 10 คนต่อคัน ทำให้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านเดือนละ ประมาณ 125,000 บาท” ประเสริฐ ภักดี ประธานกองทุนหมู่บ้านบนดอย เล่าให้เราฟังถึงการจัดการท่องเที่ยวดอยตาปัง โดยกองทุนหมู่บ้านบนดอย

 


นอกจากนี้เรายังรู้มาว่า ที่นี่มีโฮมสเตย์อีก 2 แห่ง ซึ่งเป็นของสมาชิกกองทุน โดยรายได้ของโฮมสเตย์นั้นอยู่ที่ประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน หากที่พักไม่พอ ทางชุมชนยังสามารถกระจายนักท่องเที่ยวให้กับเครือข่ายหมู่บ้านใกล้เคียง เช่นที่ เขาทะลุ เขาปีบ เป็นต้น รวมถึงหากใครชอบกางเต้นท์ ก็ยังมีลานลมโชย และจุดกางเต้นท์บ้านตาปัง ที่สามารถรองรับได้

“ประเสริฐ ภักดี” ประธานกองทุนหมู่บ้านบนดอย เล่าให้เราฟังเพิ่มอีกว่า “ต่อจากนี้เราก็มาคิดถึงคนในชุมชนทั้งหมด ซึ่งเราจะต่อยอดการพัฒนาสินค้าชุมชน ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการทำการตลาดผ่านออนไลน์ ทั้งเรื่องผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูป


เนื่องจากพื้นที่ “ดอยตาปัง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านได้อาศัยเป็นที่ทำกินมาตั้งแต่อดีต แน่นอนสิ่งที่พวกเขาไม่เคยลืม คือ การอนุรักษ์พื้นที่ให้คงสภาพเดิมเหมือนก่อนนี้ที่เคยเป็น

“บางครั้ง ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ซึ่งเสื่อมโทรม ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามล่าสัตว์ นี่คือกฎของชุมชน ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นเราขอเพียงแค่ว่าเมื่อคุณขึ้นไปเที่ยว ไปกางเต้นท์สัมผัสความเป็นธรรมชาติแล้ว ขอให้ช่วยนำเอาขยะที่คุณเอาขึ้นไปลงมาทิ้งยังภายนอกด้วย” ประเสริฐ กล่าวกับเราในตอนท้าย

 

เยี่ยม “ดอยตาปัง” ท่องเที่ยวชุมชนบนผืนป่าอนุรักษ์


บทความที่น่าสนใจ