“แกนนำแม่วัยรุ่น” โมเดลแก้ปัญหาสาวไทยท้องไม่พร้อม

by ThaiQuote, 21 กรกฎาคม 2563

สสส. เปิดโมเดล “แกนนำแม่วัยรุ่น” หลังพบจำนวนแม่วัยรุ่นสะสมกว่า 1 ล้านคน เหตุกำลังเผชิญวิกฤตรายได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาครอบครัว ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก

ถือเป็นสถิติที่น่าตกใจ จากข้อมูลสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า จำนวนของแม่วัยรุ่นสะสมของไทยนั้นมีกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะในปี 2561 พบว่า มีหญิงไทยซึ่งเป็น “แม่วัยรุ่น” อายุ 15-19 ปี จำนวน 70,181 คน หรือ 35 คนต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน

ขณะเดียวกันพบว่า “แม่วัยรุ่น” กำลังเผชิญปัญหาทับซ้อนหลายด้าน เช่น เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ยากจน การศึกษาไม่สูง มีความรุนแรงในครอบครัว ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้ โดยผลการสำรวจพบว่า แม่วับรุ่น ไม่มีอาชีพ/รายได้ไม่เพียงพอ มากถึงร้อยละ 62.8 มีปัญหากับครอบครัว ร้อยละ 43.6 และไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงดูบุตร ร้อยละ 31.4 สสส.ได้หาวิธีแก้ไขปัญหาเชิงลึก

ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา และถอดบทเรียนเพื่อช่วยเหลือ “แม่วัยรุ่น” ที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม ให้ตรงเป้าหมาย และเป็นการสร้างครอบครัวอย่างมีคุณภาพ จึงเกิดเป็น โมเดล “แกนนำแม่วัยรุ่น”

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส.ได้หาวิธีแก้ไขปัญหาเชิงลึก โดยสนับสนุน “โครงการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน” ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ดำเนินโครงการในพื้นที่นำร่อง 6 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ ชัยนาท สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสงขลา และพื้นที่ต้นแบบ 1 แห่ง ได้แก่ “ศูนย์ฅนวัยใส จ.เชียงใหม่” เพื่อส่งเสริมให้แม่วัยรุ่นเห็นความสำคัญของการเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเอง และสามารถเป็นแกนนำให้ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยแก่ครอบครัวอื่นๆ ในชุมชนได้

“เยาวชนที่เป็นแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียน แม้กฎหมายให้กลับมาเรียนได้ แต่กลับไม่ได้เรียนต่อเพราะ ไม่มีงานทำ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่ ตายาย เป็นผู้เลี้ยงดูบุตร มีความเครียด กดดัน ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ และตั้งหลักชีวิตไม่ได้ ดังนั้นโมเดลการทำงานของโครงการนี้จะช่วยพัฒนาให้แม่วัยรุ่นกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยให้เด็กได้รับการดูแลซึ่ง “โมเดลแกนนำแม่วัยรุ่น” จะวัดผลได้จริงจากพัฒนาการของเด็กที่ดีขึ้น แม่วัยรุ่นที่เติบโตและมีวุฒิภาวะเพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ ขยายครอบคลุมในทุกตำบลได้” ณัฐยากล่าว

สำหรับหลักการที่จะใช้ “แกนนำแม่วัยรุ่น” มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) คัดเลือกแกนนำจากประชากรแม่วัยรุ่นจากชุมชน2) พัฒนาศักยภาพของแกนนำแม่วัยรุ่นให้มีความรู้และทักษะ 3) จัดหา “สนามฝึก” ให้แกนนำแม่วัยรุ่นได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงดูบุตร และ 4) ประเมินผลศักยภาพและหนุนให้แกนนำแม่วัยรุ่นได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน โมเดลดังกล่าว มี “แกนนำแม่วัยรุ่นแล้ว 18 คน แต่ละคนมี “สนามฝึก” ให้ดูแลครัวเรือนแม่วัยรุ่นและครอบครัวเปราะบางคนละ 10 ครัวเรือน โดยพบว่า เด็กปฐมวัยลูกของแม่วัยรุ่นในโครงการซึ่งได้รับการดูแลจากแกนนำแม่วัยรุ่นมีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัยมากขึ้น เช่น สามารถอ่านออกเขียนได้ มีภาวะโภชนาการดีขึ้น ทิ้งขยะลงถัง สุขนิสัยดีขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนว่าแกนนำแม่วัยรุ่นสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นผู้มีศักยภาพมากขึ้นได้ สามารถให้คำแนะนำครอบครัวอื่นได้ ตนเองมีความรู้และทักษะในการดูแลบุตรของตนมากขึ้น มีความมั่นใจในตนเอง และภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น

 

ข่าวที่น่าสนใจ