ทำความรู้จัก “ยานโฮป” ความหวังสู่ “ดาวอังคาร” ของตะวันออกกลาง

by ThaiQuote, 21 กรกฎาคม 2563

UAE ส่ง “ยานโฮป” สู่ห้วงอวกาศ เดินหน้า “Hope Mars Mission” สำรวจดาวอังคาร ความภูมิใจของประเทศแถบตะวันออกกลาง

สำหรับโครงการด้านอวกาศแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐอเมริกาถือเป็นเบอร์ 1 ในด้านนี้ ถ้าเป็นยุคอดีต มหาอำนาจอย่างโซเวียตก็มีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ รวมทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกและปูพื้นฐานในภารกิจนอกโลกในหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จ

ในยุคปัจจุบันนอกจาก 2 มหาอำนาจที่กล่าวไปแล้ว ยังมี จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งอินเดีย ที่หันมาพัฒนาในด้านนี้อย่างจริงจัง และล่าสุดที่น่าจับมองคือประเทศในตะวันออกกลางอย่าง UAE หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นน้องใหม่แต่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ ในการส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร ในชื่อโครงการ Hope Mars Mission ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามมองของทั้งโลก

โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ก.ค.63) UAE ได้เริ่มภารกิจ Hope Mars Mission ด้วยการส่งยานสำรวจ “โฮป” (Hope probe) ซึ่งเป็นยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารดวงแรกจากโลกอาหรับ ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเวลา 06 : 58 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากศูนย์อวกาศทะเนะกาชิมะ จังหวัดคาโกชิมะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น

ยานอวกาศแยกตัวจากจรวดประมาณ 1 ชั่วโมงหลังถูกส่งขึ้นไปด้วยจรวดเอช 2 เอ (H2A) และเริ่มการเดินทางสู่ดาวอังคาร ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 อันเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการปล่อยยานอวกาศในวันพุธ (15 ก.ค.) แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายที่ฐานยิงจรวด


ยานสำรวจโฮปขนาด 1.5 ตันลำนี้ มีความยาว 2.9 เมตร กว้าง 2.37 เมตร ติดตั้งเครื่องมือ 3 ชนิด ได้แก่ อินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์, อัลตราไวโอเลตสเปกโตรมิเตอร์ และกล้อง ยานสำรวจไม่ได้ลงจอดบนดาวอังคาร แต่จะโคจรรอบดาวที่ 20,000-40,000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ใช้เวลาประมาณ 55 ชั่วโมงในการโคจรรอบดาวอังคารหนึ่งรอบ และมันจะโคจรรอบดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ต่อไปอย่างน้อย 2 ปี

หลังจากเข้าสู่วงโคจร ยานอวกาศจะรวบรวมข้อมูลอุตุนิยมวิทยาจากบริเวณต่าง ๆ ของดาวอังคารในเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้นักวิจัยเข้าใจสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และศึกษาความลึกลับของความแห้งแล้งบนดาวอังคาร รวมถึงวิวัฒนาการของชั้นบรรยากาศโลก

ภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญของยานโฮป มีดังนี้

- ศึกษาวัฏจักรของสภาพอากาศในรอบวันและฤดูกาลในรอบปีของดาวอังคาร

- ศึกษาสภาพอากาศในบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร (เช่น พายุฝุ่น)

- ศึกษาความแตกต่างทางสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่บนดาวอังคาร

- ศึกษากระบวนการสูญเสียแก๊สจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารสู่อวกาศ

จากภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของยานโฮป ตัวยานจึงมีอุปกรณ์ตรวจวัดบรรยากาศดาวอังคาร 3 ตัว ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงหลายย่านความยาวคลื่นที่ใช้ตรวจวัดฝุ่นและโอโซนในบรรยากาศ อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอินฟราเรด ใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร และอุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต ใช้ตรวจวัดระดับของไฮโดรเจนและออกซิเจน


ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้จัดตั้งหน่วยงานอวกาศแห่งชาติขึ้นในปี 2014 วางแผนที่จะเป็นประเทศอาหรับแห่งแรกที่ส่งยานสำรวจไร้คนขับไปยังดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดประสบการณ์ หน่วยงานและศูนย์อวกาศโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด จึงเลือกที่จะทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์บรรยากาศและฟิสิกส์อวกาศที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด และใช้เวลา 6 ปีในการพัฒนายานสำรวจโฮป

ข้อมูลจาก : สำนักข่าวซินหัว , สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เเห่งชาติ

 

เรื่องที่น่าสนใจ

“นาซา-สเปซเอกซ์” ส่ง 2 นักบินท่องอวกาศ กรุยทางสู่การบินเชิงพาณิชย์

ค้าภายในประกาศคุมราคาหมู “ร้านธงฟ้า-แม็คโคร” ขายเนื้อแดง 130 บาท/กก.