“ไร่สุขพ่วง” เรียนรู้หน้าที่ตนเอง จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

by ThaiQuote, 27 กรกฎาคม 2563

เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “ไร่สุขพ่วง” เริ่มต้นได้จากการรู้จักหน้าที่ของตนเอง แล้วทำให้เกิดความสุขที่พร้อมแบ่งปัน

ภาพของบ้านชั้นเดียวที่เราได้เห็นนั้น ถูกแบ่งให้เป็นที่พัก ลานกิจกรรม เป็นพื้นที่เรียนรู้ ตามมุมผนังหน้าบ้านที่เต็มไปด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง ร.9 และในหลวง ร.10 พร้อมกับทำให้เรานึกถึงคำพูดที่ว่า “รูปที่คนไทยมีทุกบ้าน”


ในขณะที่ “อภิวรรษ สุขพ่วง” หรือ “พอต” เจ้าของ “ไร่สุขพ่วง” ศูนย์การเรียนรู้ Earth Safe อินทรีย์วิถีไทย กำลังสอนนักเรียนของเขา ซึ่งหลายคนมีอายุอานามทมากกว่าครูที่เป็นคนสอน ให้เข้าถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำไร่สุขพ่วงให้เป็นไร่ที่มีความสุขของทุกคน

ที่นี่สอนทุกอย่าง ตั้งแต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ที่ตนเองอยู่ เพื่อให้เข้าใจในพื้นที่ก่อนลงมือทำ ตามที่ “อภิวรรษ” บอกนักเรียนของเขาว่า หากไม่รู้จักพื้นที่ของตัวเอง ก็ไม่มีวันจะลงมือทำอะไรในพื้นที่ของตัวเองได้


“อภิวรรษ” เริ่มสร้าง “ไร่สุขพ่วง” เมื่ออายุ 22 ปี โดยนำเอานามสกุลของตัวเองมาตั้ง ในวันที่เขาเรียนจบป.ตรี และ พ่อ เกษียณอายุราชการ บนพื้นที่ 25 ไร่ มรดกตกทอดมาตั้งแต่ครั้งรุ่นทวด ซึ่งเคยได้ถวายงาน ร.5 คราวเสด็จประพาสต้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

“เราเข้าใจในเนื้องานของ ในหลวงร.9 ว่าที่ดินเป็นสิ่งที่มีค่ามาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญวิกฤต ผมเริ่มทำไร่สุขพ่วง ในขณะที่เรียนจบ ผมเจอวิกฤต 4 เรื่อง ในตอนที่เป็นทหารเกณฑ์ ผมเรียกมันว่า เทวทูตทั้ง 4 คือ 1.สงครามกลางเมืองในปี 2554 นั่นคือความขัดแย้งที่น่าสลด 2.ผมเจอโรคระบาด “ไข้หวัด 2009” 3.น้ำท่วมในปี 54 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมาชติครั้งใหญ่ 4.ความอดอยาก ที่เกิดจากสงคราม โรคระบาด และภัยธรรมชาติ ตั้งแต่วันนั้นผมเลยปวารณากับตัวเองว่าจบแล้วเราจะไม่ไปทำมาหากินอย่างนั้นอีก” อภิวรรษ บอกกับเรา


ระหว่างช่วงเวลาเสร็จจากการรับใช้ชาติ 1 ปีเต็ม “อภิวรรษ” กลับมานั่งคิดว่า ตนเองจะทำอะไร ด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนตัวเอง ซึ่งมี “ที่ดิน” คือต้นทุน ผนวกกับฐานทรัพยากรในบ้านเกิด ทั้งวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เขาพยายามเรียนรู้ สิ่งที่เขาเองบอกว่า คือการ “ขุดคุ้ย” เพื่อให้รู้จักตัวเอง รู้จักปัญหา โดยตั้งโจทย์ว่า หากเขากลับไปตัวเปล่า เขาจะทำมาหากินอย่างไรเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง

“ผมรู้สึกคิดว่าตลอดเวลาที่เราเรียนมาว่าเราได้อะไร เราก็ได้แต่แนวคิดของฝรั่ง ที่ถูกถอดเอามาไว้เป็นบทเรียนให้เราเรียน ผมพยายามขุดคุ้ยว่าที่บ้านผมมีอะไร หากผมกลับไปตัวเปล่า ผมจะทำมาหากินอะไรที่เลี้ยงดูตัวเองได้ เพราะผมไม่มีเงิน ผมกลายเป็นคนตกงาน ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมมีเงินเดือน เลี้ยงตัวเองแต่ไม่ค่อยรอด ผมเริ่มคิดว่าเราต้องเลิกทำให้ตัวเองเป็นภาระใน 2 เรื่อง คือ กิน และใช้” อภิวรรษเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย นอกรั้วค่ายทหาร

เรื่องกิน ตามมุมมองของ “อภิวรรษ” คือ พ่อแม่ต้องไปจ่ายตลาดเพื่อทำกับข้าวให้กิน และเรื่องใช้ ซึ่งเขามองว่ามีความสิ้นเปลืองตามประสาของวัยรุ่น จุดประกายความคิดที่ว่า ถ้าหากวันหนึ่ง แม่ไปจ่ายตลาดแล้วไม่ต้องซื้อของมามากมาย เราจะช่วยให้ลดรายจ่ายให้แม่ได้อย่างไร

“ผมเริ่มดูว่าแม่ไปจ่ายตลาดแล้วซื้ออะไรบ้าง เราเริ่มปลูก “กับข้าว” ปลูกบวบผัดไข่ที่ผมชอบกิน จนกระทั่งวันหนึ่งแม่ผมกลับมาบ้านพร้อมน้ำมันพืชขวดเดียว เราตกใจ ถามแม่ว่าทำไมซื้อมาแต่น้ำมันพืช เขาก็บอกว่า ก็เราปลูกทุกอย่างหมดแล้ว แล้วจะให้ซื้ออะไร แล้วถ้าเอ็งผลิตน้ำมันพืชได้ แม่ก็ไม่ต้องออกจากบ้านเลยใช่มั้ย


ความประทับใจ และแรงบันดาลใจมันเกิดตั้งแต่ตอนนั้น ว่าเราอยู่กรุงเทพฯ เราเลี้ยงตัวเองไม่รอด แต่เรากลับมาบ้านเราเลี้ยงคนได้ถึง 6 คน” อภิวรรษ บอกเราว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น มันคือ “สมการชีวิต” ที่นำเอามาวิเคราะห์ได้ ถึงการที่คน ๆ หนึ่ง สามารถแบกรับความเป็นอยู่ของคน 6 คนในครอบครัวได้ โดยที่ไม่มีเงินเลย” อภิวรรษ กล่าว

คนเมืองมักคิดตามวิถีที่ว่า จบมาต้องทำงาน ทำงานแล้วมีเงินเดือน มีรายได้ประจำ เริ่มสร้างตัว ด้วยการมีรถ มีบ้าน ต่างกับคนต่างจังหวัด ซึ่งมี “ที่ดิน” ที่ “อภิวรรษ” มองว่ามีค่าที่สุดมากกว่าเงินทอง ตั้งแต่วันที่เขาเริ่มปลูกผักกินเองในบ้าน ไปสู่แรงบันดาลใจของการสร้างรายได้ให้กับตัวเองภายใต้อาชีพที่เรียกว่า “เกษตรกร”

 


เขาเริ่มต้นจากมองสภาพที่ดินของบ้าน ด้วย อ.จอมบึง ซึ่ง ร.5 พระราชทานชื่อให้ จากที่เคยมีบึงใหญ่ในอดีต วันนี้ไม่มีแล้ว กลายเป็นเพียงพื้นที่แห้งแล้ง เขาจึงเอาที่ดินที่ได้มา ขุดเป็นบ่อใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตายายรับไม่ได้ แต่เขาบอกเล่าข้อมูลที่ได้เรียนรู้จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มรู้จักในหลวง ร.9 ผ่านสื่อออนไลน์ เริ่มไปดูงานตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ โดยมีโครงการแรกคือ โครงการหลวงเขาชะโงก จ.ราชบุรี

“ในหลวง ทรงใช้เทคโนโลยีสูง เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่ศาสตร์ที่ล้าหลัง พระองค์ท่านทรงสะพายกล้อง แบกแผนที่ ใช้สารเคมีเสกฝนให้ตกจากฟ้าได้ เหล่านี้ล้วนเป็นวิทยาการที่ก้าวหน้ามาก ถ้าเทียบกับสมัยนี้อาจจะเป็นนาโนเทคโนโลยี ซึ่งอาชีพเราอยู่ภายใต้ความขาดแคลน สิ่งที่เราต้องใช้คือนวัตกรรม พระองค์ท่านสอนเรื่องการกักเก็บน้ำฝน สละที่ดิน ออกแบบที่ดินให้เก็บน้ำฝนได้ทุกเม็ด ผมเรียนรู้ว่า เมื่อจอมบึง ไม่มีบึงแล้ว เริ่มแรกเราจะต้องทำอย่างไรให้ “บึง” กลับมา ผมไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน ผมไม่เข้าใจเรื่องความพอเพียง แต่ผมเข้าใจว่า พระองค์ท่านทรงแก้ปัญหาได้ ” อภิวรรษ กล่าวถึงช่วงเริ่มสร้างไร่พ่วงสุข
จากวันนั้นถึงวันนี้ “อภิวรรษ” เล่าว่า เขาได้อยู่กับพ่อแม่ตลอด 24 ชั่วโมง อาหารที่ผลิตได้กลายเป็นอาหารอินทรีย์โดยอัตโนมัติ เพราะเขาทำด้วยความรักที่มีต่อแม่ จึงต่อยอดไปสู่การขายผักออแกนิกในราคาที่เหมาะสม เพราะความตั้งใจแรกที่ทำเพื่อปลูกให้ตัวเองและครอบครัวได้กิน ซึ่งไม่ใช่การทำเพื่อการค้า

“อภิวรรษ” บอกกับเราว่า คนที่รู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือคนที่ต้องเรียนรู้หลักการพระพุทธศาสนา ในหลวง ร.9 ไม่ได้สอนว่าเมื่อทำแล้วจะต้องรวย จะต้องมีฐานะ แต่สอนว่าเมื่อทำสำเร็จแล้วเราจะพ้นทุกข์จากที่เป็นอยู่ ซึ่งก่อนที่จะศึกษา “ราชาศาตร์” ให้เข้าใจ เราต้องเข้าใจ “พุทธศาสนา” ด้วยเช่นกัน

“หลักพุทธศาสนาอยู่ในวัฒนธรรมไทย ผู้เฒ่าผู้แก่มักบอกว่าการจะไปทำนา ก่อนทำนาต้องปักธูปไหว้บูชา 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน 14 ชั้นบาดาล อัญเชิญเทวดา บอกกล่าวแม่ธรณี ตอนแรกเราไม่เข้าใจพิธีกรรม แต่รู้ว่ามันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว ที่ทำให้คนสมัยก่อนอุปมาว่ามีเทวดา แม่ธรณี จนวันหนึ่งผมไปศึกษาเรื่องดิน สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดิน ถ้าหากไปพลิกไถดิน จนแดดส่องสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตาย นี่คือ พระแม่ธรณีเจ็บ เมื่อเรียนรู้พิธีกรรม ทำให้เข้าใจถึงรากเหง้า แล้วเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาลบล้าง ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีพระราชพิธีแรกนาขวัญ ความกตัญญูต่อแผ่นดิน เราจึงเห็นได้ว่าความเป็นรากเหง้ามันสามารถหล่อหลอมให้เข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์ได้” อภิวรรษ เล่าเรียงแนวคิด ซึ่งเขาได้ศึกษามาจากศาสตร์ของพระราชา

มากกว่านั้นจึงทำให้เขาศึกษาลงลึกไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เรียนรู้การเคี่ยวน้ำตาลเมืองเพชร การทำปลาร้าแจ่วบองของภาคอีสาน และอยู่กันมาเป็นหลายร้อยปี เขาเริ่มเก็บข้อมูลมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ในไร่ โดยใช้ภูมิปัญญาและความรู้วิทยาศาสตร์ร่วมกัน


“ผมศึกษา เดินทางไปทั่ว แล้วนำเอาสิ่งที่ได้มาทำลองผิดลองถูกเรื่อย ๆ จนเรารู้ว่า เฮ้ยฝรั่งหลอกเรา ฝรั่งสอนให้ทำมากได้มาก ไม่เคยสอนให้คนไทยทำน้อยแล้วได้ประโยชน์มาก นำไปสู่คำขวัญที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” แสดงว่าต้องมีเงินมาก ๆ ถึงจะเป็นสุข แต่ถ้ามีเงินน้อยเป็นทุกข์ ทำให้คนที่มีข้าวปลาอาหารมากมายในยุคนี้ยังเป็นคนจนอยู่ เรากำลังบอกว่า การควักเงินออกมาให้ดูว่ามีมากมายอย่างนั้นมันจึงเป็นสุข” อภิวรรษเล่าถึงปรัชญาชีวิตที่เขาได้เรียนรู้

การอธิบายของ “อภิวรรษ” ช่วยคลี่คลายความกระจ่างของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของตัวเอง สิ่งที่เรียกว่าผลิตผลทางการเกษตร อย่าง การขายข้าว 2 เกวียน แลกได้เพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว จะต้องเปลี่ยนไปด้วยการที่เขาจะเจียระไนผลผลิตที่ได้ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น

เขาเล่าว่าการทำการตลาดปัจจุบันคือ Trend Economy ตลาดนำการผลิต ปรับสนองต่อระบบตลาด แต่เขาทำสิ่งที่เหนือกว่านั่นคือ การควบคุมตลาดของเขาเอง โดยใช้พืชผักที่ปลูกในไร่ ซึ่งก็คือ ผักสวนครัว ที่ไม่ใช่สินค้านิยมในตลาด

“วันนี้ผมเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า “การควบคุมตลาด” ด้วยประโยคคำถามของลูกค้าที่ว่า “วันนี้พี่มีอะไรกินบ้าง” ผักที่ขายดีในห้างของผมไม่ใช่ คะน้า กวางตุ้ง แต่คือ ผักตำลึง เราทิ้งการคิดแบบเดิม ใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์แบบกลับหัวตามหลักปรัชญาของในหลวง” อภิวรรษ ขยายความ

10 ปีจนถึงวันนี้ จากเด็กอายุ 20 ต้น ๆ ซึ่งปลูกผักจากสิ่งที่ต้องการกิน เพื่อลดรายจ่ายในครอบครัว มาจนถึงวันที่ผักของเขาวางอยู่บนเชลฟ์ในห้างสรรพสินค้าค้า “อภิวรรษ” พูดถึงสิ่งที่เขาได้รับว่า คือ การรู้จักหน้าที่ของตนเอง การหน้าที่ของลูก ทำหน้าที่เป็นเกษตรกร กับนิยามการใช้ชีวิต ว่า “ความสุขพร้อมแบ่งปัน” ด้วยแนวคิดที่จะไม่ยอมมีความสุขอยู่คนเดียว แต่พร้อมแบ่งปันไปให้กับคนอื่น

“คนที่รู้หน้าที่ไม่ว่าเขาจะมีอาชีพอะไร เขาก็จะแบ่งปันความสุขไปให้คนอื่นได้ เมื่อถึงวันหนึ่ง ผมพร้อมที่จะปลดเกษียณตัวเองเดินทางไปพร้อมกับคนอื่น ไปเป็นอาสาสมัครเพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่น ๆ ผมคิดถึงคำพูดของพระพุทธเจ้าก่อนเสด็จปรินิพพาน ที่สอนว่า “จงหยั่งประโยชน์ตน แลประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท” คือการไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่ทำให้ตัวเองลำบาก และช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยความไม่ประมาท” อภิวรรษ บอกเล่ากับเรา


นอกจากนี้สิ่งที่เขามองในอนาคตคือ “การสร้างสัมมาชีพ” ให้กับคนที่เดือดร้อน จากวันนี้ที่เราเกิดวิกฤตผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 “อภิวรรษ” มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาสังคมจะต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

“วันนี้เรามองถึงการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด โดยลืมรากฐานของตัวเอง ถ้าเราทำพื้นฐานไม่ดี เราอยากไปต่อ เรามีความเสี่ยง วันนี้พื้นฐานผมแน่นแล้ว ที่จะกระจายความรู้ไปให้กับคนอื่นได้ ผมรู้ว่าดูไบต้องการน้ำตาล Syrup จากอ้อย เดือนละ 3 ตู้คอนเทนเนอร์ ถ้าผมคิดแบบทุนนิยม ผมก็เปลี่ยนไร่สุขพ่วงให้เป็นโรงงานน้ำตาล แต่ถ้าผมเอาความรู้ของผมกระจายไปยังชาวบ้านในจอมบึง แล้วให้เขาปลูกอ้อยบ้านละ 1 ไร่ ได้ผลผลิตวันละ 100 ขวด ด้วยองค์ความรู้มาตรฐานเดียวกัน แล้วรวมเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลอ้อยจอมบึง ส่งตลาดตะวันออกกลาง มันคือภาพการขับเคลื่อนไปเป็นองคาพยพ” อภิวรรษ เล่าให้เราฟัง


สุดท้ายสิ่งที่ “อภิวรรษ” บอกกับเรา คือ สิ่งที่ในหลวง ร.9 ทรงตรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียง จะไม่ได้สำเร็จในรัชสมัยของพระองค์ท่าน” ซึ่งเป็นจริงตามนั้น วันนี้เราเห็นแล้วว่า คนไทยก็ยังเป็นคนไทย นึกอะไรไม่ออกเราก็กลับบ้าน กลับมายังรากฐานของตัวเอง วันนี้คนไทยเริ่มให้ความสนใจด้านการเกษตร ซึ่งเขาเชื่อว่านี่คือ “ดีเอ็นเอ” ซึ่งอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกคน

“ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมาทำเกษตร แต่เราจะนำเอาความรู้ที่เรามี มาใช้กับส่วนอื่นในกระบวนการระหว่างต้นน้ำ คือ เกษตร กลางน้ำ คือ การค้าขาย หรือ การผลิตอาหารจากการเกษตร นำไปสู่ปลายน้ำ คือ ผู้บริโภค ได้ ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ ทำตัวเองให้ได้ประโยชน์มากที่สุด กว่าจะผ่านจุดนั้นจนรู้จักหน้าที่ได้ คุณจะต้องลงมือทำ หรือ “ปัจจัตตัง” ผู้ใดไม่ปฏิบัติผู้นั้นไม่รู้ ในหลวง ร.9 ได้ทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่ทรงเลือกมาเป็นโครงการตัวอย่าง คือพื้นที่ที่เลวร้ายที่สุดในการทำเกษตร แล้วพลิกฟื้นให้ทำได้” อภิวรรษกล่าวกับเราในตอนท้าย

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เปิดชีวิต“ย่ายิ้ม” นางฟ้าเดินดิน ผู้อยู่ในป่าลำพังนาน 40 ปี ด้วยวิถีพอเพียง

ทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ในหลวง ร.10 พระมหากรุณาธิคุณ พัฒนาเยาวชนไทย