จ่ายเงินซื้อ พ.ร.บ. รถยนต์ทุกปี รู้มั๊ยเบิกอะไรได้บ้าง?

by ThaiQuote, 13 กันยายน 2563

รู้ไหม? พ.ร.บ. ที่ต่อกันทุกปี เบิกอะไรได้บ้าง? รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ จ่ายหลักร้อย เบิกได้หลายแสน!

 

ประกันภัย พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เป็นสิ่งที่รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์จะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ สามล้อเครื่อง รถบรรทุก รถพ่วง ฯลฯ ก็ตาม (ยกเว้นรถราชวงศ์และรถราชการบางประเภท) หากไม่มีจะถือว่าผิดกฎหมาย และถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท

โดยเจ้าของรถจะต้องเก็บสำเนาใบเสร็จรับเงินและสำเนากรมธรรม์ไว้กับรถสำหรับอ้างอิงกรณีเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามหากไม่ทำกรมธรรม์ พ.ร.บ. ก่อน กรมการขนส่งฯ ก็จะไม่รับจดทะเบียนรถหรือต่อภาษีประจำปีอยู่ พูดง่ายๆก็คือ’รถทุกคันที่จดทะเบียนได้หรือต่อภาษีประจำปีแล้วจะมี พ.ร.บ

 

 

สำหรับ พ.ร.บ.รถยนต์ หรือ การประกันรถยนต์ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่เราเรียกติดปากก็คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Third Party Insurance) ซึ่งมีการบังคับไว้ว่ารถยนต์ หรือ จักรยานยนต์ ทุกคันจะต้องทำประกันนี้ไว้ และทุกครั้งที่จะต้องเสียภาษีต่อทะเบียนรถจะต้องซื้อ พ.ร.บ.ควบคู่ไปด้วย เพื่อคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ และจักรยานยนต์ เป็นหลัก

วัตถุประสงค์ของพรบ.

1. เป็นการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายได้ทันท่วงที เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต

2. เป็นหลักประกันให้สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล หากรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ

ความคุ้มครองมีด้วยกัน 2 แบบ
ความคุ้มครองเบื้องต้น

ผู้เสียหายจะได้รับเงินชดเชยทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องมา

1. ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

2. การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 35,000 บาทต่อคน

3. แต่ถ้าเสียชีวิตหลังการรักษาพยาบาล จะได้ 2 อย่างข้างต้นรวมกัน รวมเป็นเงินไม่เกิน 65,000 บาท

ทั้งนี้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้เคลมประกัน จะได้รับภายหลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย โดยมีวงเงินคุ้มครองรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นดังนี้ กรณีเป็นฝ่ายถูก


แบบส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น

1 ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน

2 การเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน

3 สูญเสียอวัยวะ

3.1 สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือ ตาบอด อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป 300,000 บาท

3.2 สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือสายตา (ตาบอด) หรือ หูหนวกเป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใด 250,000 บาท

3.3 สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียว หรือ หลายนิ้ว 200,000 บาท

4 ค่าชดเชยการรักษาตัว กรณีผู้ป่วยใน 200 บาทต่อวัน แต่ไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท

5 จำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดรวมกันต้องไม่เกิน 304,000 บาท

6 วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์ไม่เกิน7 ที่นั่ง 5,000,000 ต่อครั้ง

7 วงเงินคุ้มครองความรับผิดสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง สำหรับรถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง 10,000,000 ต่อครั้ง


สำหรับ เอกสารที่จะต้องใช้เวลาการเคลม พ.ร.บ. มีดังนี้
กรณีบาดเจ็บ

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ

2. ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ

กรณีเบิกค่าชดเชย หรือ ผู้ป่วยใน

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ

2. ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

กรณีทุพพลภาพ

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
2. ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือ หลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ

กรณีเสียชีวิต

1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ

2. ใบมรณบัตร

3. สำเนาบัตรประชาชนทายาทสำเนาทะเบียนบ้าน

4. สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากรถ

เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว สามารถทำเรื่องขอเบิกเงิน จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ และจะมีการเบิกจ่ายเงินภายใน 7 วัน ซึ่งพ.ร.บ.จะคุ้มครองผู้เสียหายในส่วนของคนเท่านั้น ส่วนทรัพย์สิน หรือ ตัวรถจะไม่มีได้รับการคุ้มครอง

ฉะนั้น ผู้ขับขี่รถยนต์ ควรจะทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หรือที่เราเรียกว่าประกันรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นชั้น 1 ชั้น 2 หรือชั้น 3 ก็ควรทำไว้เช่นกัน เพื่อประกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำ พ.ร.บ. หรือการทำประกันภัยรถยนต์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ตัวของเราเองที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการจะเกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุ จึงควรขับขี่อย่างมีสติ และไม่ความประมาท

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ