เช็คเลือกตั้ง "ส.ก." สภาเล็กของเมืองกรุง การต่อสู้ระหว่าง “กระแสดี” กับ “ความภักดี”

by ThaiQuote, 16 กันยายน 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote


แม้ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมาพบว่า สนามการเลือกตั้งเมืองกรุงก็คึกคักอยู่ไม่ใช่น้อย หากไม่นับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีใหญ่เทียบเคียงกับการเลือกตั้งในระดับประเทศแล้ว การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่น่าจับตามองเช่นกัน

เพราะแว่วว่า อาจมีการจัดให้เลือกตั้งขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จึงยิ่งส่งให้เวทีการเลือกตั้ง ส.ก. เกิดความร้อนแรงของการแข่งขันเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากความเคลื่อนไหวของผู้สมัคร ส.ก.ในแต่ละเขต ที่เริ่มลงพื้นที่หยั่งคะแนนเสียงของตนเอง

เวทีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในอดีต มักมีผู้เล่นเพียงแค่ 2 พรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขณะที่ในปัจจุบัน แน่นอนว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจส่งผู้สมัครลงในนาม คณะก้าวหน้า จะเป็นน้องใหม่ที่ก้าวเข้ามาแข่งขัน

ในแง่ของหลักเกณฑ์การแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ ตาม “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562” ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่ากทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ได้ออกแบบวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ใน มาตรา 10 ว่า ให้อาศัยระบบ “เขต" ที่มีอยู่แล้วเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้าเขตใดมีประชากร 150,000 คนหรือน้อยกว่า ให้มี ส.ก. 1 คน ถ้าเขตใดมีประชากรมากกว่า 150,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มขึ้น 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน ถ้ามีเศษเกิน 75,000 คน ให้เพิ่ม ส.ก.ในเขตนั้นอีก 1 คน

จึงทำให้ หากจำนวนประชากรในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับประชากรจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ซึ่งมีประชากรประมาณ 5,701,394 (ข้อมูลกทม.) จะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น มีจำนวน ส.ก.ที่ลดลงกว่าเดิม คือจาก 61 คน ในปี 53 ลดลงเหลือ 38 คน ในระบบใหม่

จากสถิติการเลือกตั้ง ส.ก. ปี 2553 ทั้ง 50 เขต จำนวนทั้งสิ้น 61 คน พบว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. มีทั้งสิ้น 4,139,075 คน แต่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,702,845 คน คิดเป็นร้อยละ 41.14 จากเดิมร้อยละ 41.94 ในการเลือกตั้งปี 2549

ส่วนพรรคที่ได้ครองที่นั่งในสภา กทม. มากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ก. 45 คน รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย 15 คน และ ผู้สมัครอิสระ 1 คน

ขณะที่ในปีนี้ การแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ของ กทม.นั้นมีความเข้มข้นพอสมควร ด้วยความที่เจ้าของพื้นที่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เสียกำลังหลักส่วนหนึ่งให้กับ พปชร. และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แต่ที่น่าจับตาคือ จากการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งล่าสุด พปชร.สามารถเอาชนะในพื้นที่ กทม. กวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ถึง 12 คน ตามมาด้วย พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ที่ 9 คน และเพื่อไทย 9 คน ส่วนประชาธิปัตย์ถึงกับสูญพันธุ์ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ย่อยยับ

น่าจับตามอง ว่า พปชร. เตรียมความพร้อมในพื้นที่ กทม. มาดีแค่ไหน เพราะภายใต้การกุมบังเหียน ของ “ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษา และ “พุทธิพงษ์ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลฯ มีตัวแทนผู้สมัครของพรรคไว้ในใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ก.เก่าที่ย้ายค่าย หรือคลื่นลูกใหม่ทีมงานของ ส.ก.เดิม ที่ขยับขึ้นไปเป็น ส.ส. พื้นที่ของ พปชร. อยู่ในเขต กรุงเทพฯ ชั้นใน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีที่นั่งในมือแล้ว ประมาณ 15-20 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยังคงจับจองพื้นที่ฐานเสียงเดิม ที่เคยมีอยู่ หากนับจาก จำนวน ส.ส.ซึ่งได้มารอบนี้ จำนวน 9 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯตะวันออก แน่นอนพื้นที่อย่าง ห้วยขวาง ดอนเมือง สายไหม คันนายาว ลาดกระบัง บางบอน ตลิ่งชัน ยังคงอยู่ในมือของพรรคแน่นอน บวกด้วย บางกะปิ ซึ่งเจ้าของตำแหน่ง ส.ก.เดิม ได้ย้ายเข้าสังกัดเพื่อไทย แล้ว ทำให้ขณะนี้ เพื่อไทย น่าจะมีจำนวนที่นั่งเป็นทุนแล้วประมาณ 9-10 ที่นั่ง

ด้านน้องใหม่ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้า แน่นอนต้องอาศัยภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ ฉีกหนีหาความอยากเปลี่ยนแปลงของคนกรุงเทพฯ ให้ได้ ที่ผ่านมาจากการได้ จำนวน ส.ส. กทม.ถึง 9 คน ถือว่าเหนือความคาดหมาย แต่เหตุเป็นเพราะกระแสพรรคในขณะนั้นมาแรง แต่หากให้เจาะลึกถึงพื้นที่ท้องถิ่นจริงๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่หนักใจอยู่

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่กรุงเทพฯ ตัวจริง วันนี้ต้องพลิกกลยุทธ์ สู้สุดตัว เรียกได้ว่า เสียเปรียบแทบจะทุกทาง ทั้งการพ่ายแพ้ย่อยยับในสนามใหญ่ จำนวน ส.ก.เดิม ที่สมองไหลออกไปอยู่พรรคฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งแนวทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การเลือกตั้ง สก. ในพื้นที่ กทม. ไม่เคยหักปากกาเซียนเลยซักครั้ง แม้จะเกิดเหตุไม่คาดฝันในบางพื้นที่ แต่ที่แน่ๆ หัวใจของคนกรุงขนานแท้ ที่ไม่ใช่ประชากรแฝงยังคงมีความเหนียวแน่นในตัวบุคคล ซึ่งใกล้ชิดและทำงานในพื้นที่จริง นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ ฝังรากหยั่งลึก ครองหัวใจคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน หากจะบอกว่า ภาพสนามเลือกตั้ง ส.ก. มีความเป็นรอยัลตี้สูง เกินกระแสการเมืองจะตีกินได้ ก็คงไม่เกินจริงนัก ดังนั้นจึงมีแต่มือเก๋าเกมส์เท่านั้นที่จะกุมความได้เปรียบ

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ