มุมมอง ‘วิชาการ’ : การชุมนุมใหญ่ ม็อบปลดแอก 19 ก.ย.

by ThaiQuote, 17 กันยายน 2563

ประเมินสถานการณ์ ม็อบปลดแอก 19 ก.ย.“3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝันสูงสุด” ม็อบปลดแอกจะลบภาพการเมืองแบบเก่า


นับถอยหลังอีก 2 วัน จะถึงวัน “ดีเดย์”19 กันยายน 2563 ที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ประชาชนปลดแอก นัดรวมตัวกันชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้การชูธงเคลื่อนไหว 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน มุ่งปลดแอกพันธนาการทางการเมืองแบบเก่า ที่อยู่คู่ “ระบอบประยุทธ์” มานานกว่าครึ่งทศวรรษ

สำนักข่าวThaiQuoteถือโอกาสสนทนากับ “รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย” อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงการประเมินสถานการณ์ม็อบ 19 กันยา อันร้อนระอุ และทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

• ประเมินสถานการณ์ 19 กันยายนนี้ ม็อบปลดแอกนิสิตนักศึกษาจะไม่ซ้ำรอย เหตุการณ์ในอดีต

ถือเป็นยุทธศาสตร์ของทั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่พยายามสร้างเครือข่ายเนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ ก็ต้องทำให้รัฐไม่สามารถที่จะเดินต่อไปได้ หรือว่าสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง คราวนี้เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ทางตันทางการเมืองมีการขยับประเด็นต่างๆ ทางสังคม เช่น มีการขยับข้อเรียกร้องอย่างที่กลุ่มชุมนุมได้ประกาศไว้ว่า จะมีการเพิ่มเติมข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวทีย่อยต่างๆก็มีการเพิ่มขอเรียกร้องมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายมวลชน ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ต้องดำเนินการ เพื่อที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับมวลชนในส่วนต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความหลากหลายมากขึ้น เช่นการเชื่อมต่อกับกลุ่มแรงงานหรือกลุ่มชาวเกษตรกร สิ่งเหล่านี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนไหวหรือการเดินหน้าต่างๆ นำไปสู่ความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายของการเคลื่อนไหวได้

• คนเสื้อแดงหรือประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะเข้ามาร่วมชุมนุม จะทำให้จุดยืนของม็อบนิสิตนักศึกษาเปลี่ยนไปหรือยกระดับขึ้นไปหรือไม่

มองว่าในแง่ประเด็นหลักของการเคลื่อนไหวก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่กับการต่อสู้อำนาจรัฐหรือว่าเรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน อันนี้ไม่น่าจะเปลี่ยน ส่วนประเด็นเรียกร้องให้ยุบสภาเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่ตลอด เพียงแต่ในสภาพความเป็นจริงอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นเมื่อพิจารณาเงื่อนไขแล้ว แม้จะมีการเพิ่มเติมกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามามากขึ้น มองว่าเงื่อนไขหลักก็ไม่น่าจะเปลี่ยน แนวร่วมในทางยุทธศาสตร์หรืออุดมการณ์ของกลุ่มเหล่านี้ คือ ต้องการขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้กระทั่งกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือการเกิดวิกฤตโควิด-19

• ม็อบปลดแอกมุ่งหน้าสู่ทำเนียบ ทำไปเพื่ออะไร และมีนัยยะสำคัญอย่างไร

การที่กลุ่มผู้ชุมนุม เดินทางที่ทำเนียบแน่นอนว่าคงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่จะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการเข้าไปสู่ศูนย์กลางอำนาจการบริหาร นั่นคือทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ แม้ว่าม็อบจะเข้าไปถึงทำเนียบได้ แต่คนที่ออกมารับข้อเรียกร้องก็คงจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่ามวลชนต้องการเข้าไปสู่ศูนย์กลางอำนาจ ข้อเรียกร้องเหล่านี้จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ เป็นเงื่อนไขสำหรับการชุมนุมต่อได้

เช่นเดียวกันที่อดีตกลุ่มพันธมิตรเมื่อหลายปีก่อน ที่บุกยึดทำเนียบฯ เข้าไปปักหลักนอนค้าง แม้กระทั่งม็อบเกษตรกรหรือม็อบสมัชชาคนจนที่ได้รับความเดือดร้อน ก็มักจะเดินทางไปที่ทำเนียบฯ ล้อมทำเนียบไว้ เพราะเป็นศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายบริหาร เช่นเดียวกับรัฐสภา ที่เป็นสัญลักษณ์ศูนย์กลางอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ

• มือที่สาม มือที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ไม่เคยจับได้

มือที่ 3 จะเป็นตัวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งที่มีการเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง เพื่อจะทำให้เกิดความพลิกผันสถานการณ์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น มือที่ 3 ก็จะกลายเป็นแพะรับบาป แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถหามือที่ 3 เพื่อนำมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เลยฉะนั้นมือที่สามจะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ ก็บอกว่าทุกการชุมนุมวันนี้โอกาสที่เกิดขึ้นได้แน่นอนและความรุนแรงต่างๆก็เป็นสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ 

แต่ยุคปัจจุบันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของพี่น้องประชาชนมีมากขึ้น มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือคอยตรวจสอบ จับตา เฝ้าระวังมากขึ้น การจะมีมือที่สามแอบแฝงเพื่อสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจะไม่ง่ายเหมือนในอดีต ซึ่งเราก็จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุม ต่างแสดงออกว่าไม่ใช่ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง

โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเน้นย้ำว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงหรือเหตุปะทะกัน จะดูแลผู้ชุมนุมประชาชนบรรดานิสิตนักศึกษาในฐานะของลูกหลานและอนาคตของชาติ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุม มีการตรวจอาวุธ และดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นก็จะไม่ได้มาจากพวกเขา

• มีต่างชาติอยู่เบื้องหลังหรือเป็นพลังบริสุทธิ์

กระแสข่าวการสนับสนุนจากต่างชาติ เป็นอีกวาทกรรมหนึ่ง ซึ่งเราก็มักจะได้ยินอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่ถูกนำหยิบยกขึ้นมาเพื่อทำลายความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวมากกว่า เพราะไม่เคยมีหลักฐานหรือข้อมูลชัดเจนเชิงประจักษ์ ที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าการสนับสนุนดังกล่าวมีอยู่จริง

แต่ในมุมมองของระดับสากล หรือระหว่างประเทศ เขาก็มองในลักษณะของการเรียกร้องสิทธิของพลเมืองต่างๆ ซึ่งการสนับสนุนก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งในต่างประเทศก็ยังมี เช่น องค์กรเอ็นจีโอที่ดูแลในเรื่องของสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน แต่คราวนี้การที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาทกรรมเรื่องของการสนับสนุนจากต่างชาตินี้ ในบ้านเรามักถูกผูกโยงกับเรื่องความเป็นชาตินิยม เหมือนกับว่าถ้าใครที่ได้รับการสนับสนุน มีทุนอุดหนุนนี้ก็คือคนที่อาจจะไม่ใช่เป็นพวกเดียวกันหรือไม่ได้อยู่ร่วมชาติเดียวกัน ทำให้ประเด็นเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องของการสนับสนุนของต่างชาติ

• รัฐบาลกับท่าทีการหาทางออก สู่ความพอใจ 2 ฝ่าย

วันนี้ทุกฝ่ายจะต้องหาทางออกร่วมกัน คือไม่ใช้ความรุนแรง จะทำให้อย่างอื่นเดินต่อไปได้ และหลังจากนี้ควรจะต้องมีเวทีพูดคุยกัน แต่ต้องไม่ใช่เวทีที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาล หรือเวทีที่รัฐเป็นผู้ควบคุมกำกับ เพราะจะทำให้ผู้ขัดแย้งกลุ่มต่างๆไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ได้ทั้งหมด แต่ควรเป็นเวทีที่เปิดโดยภาคประชาสังคมแต่รัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อพูดคุยกัน หารือร่วมกัน ทำให้ได้มุมมองที่เข้าใจกันมากขึ้น 

ส่วนระยะกลางแน่นอนว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมันคือการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้เกิดการยอมรับในกติการ่วมกัน เป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนระยะยาวเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคงอันนั้นต้องเป็นเรื่องที่พูดกันอีกยาว แต่ว่าในระยะสั้นกับระยะกลางนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ทันที

สุดท้าย การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะยังไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นแต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การขยายตัวในการชุมนุมอีกหลายๆ ครั้ง และตัวชี้วัดที่จะบ่งบอกได้ดี คือวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก ซึ่งอาจจะมีการชุมนุมคู่ขนานของกลุ่มปลดแอก เพื่อดูท่าทีที่จะนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะขับเคลื่อนอย่างไร ก็คงต้องภาวนาให้ทั้งสองฝ่ายหาทางออกร่วมกันได้ด้วยสันติวิธี ไม่ซ้ำเติมประเทศชาติ ที่กำลังซมพิษวิกฤตเศรษฐกิจรอบด้านอยู่ในขณะนี้

 

ข่าวที่น่าสนใจ