เปลี่ยนแนวคิดใหม่ สร้างคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ด้วย Blockchain

by ThaiQuote, 23 กันยายน 2563

Blockchain กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เรื่องที่อาจไกลตัวเกษตรกรไทย แต่ตอบโจทย์การสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทย และเศรษฐกิจฐานราก

 

Blockchainกับ เกษตรอินทรีย์ คือทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในยุคที่เรากำลังเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่ยุคที่เทคโนโลยีนำการผลิต วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่กำลังปรับเปลี่ยนวิถีทางการเกษตรไทย จากรุ่นเก่าไปสู่ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ

 

 

สำหรับ Blockchainหรือ โครงข่ายการจัดเก็ยข้อมูลออนไลน์ที่เรียกดูย้อนกลับข้อมูลที่จัดเก็บได้ โดยการนำมาใช้ร่วมกับการทำเกษตรอินทรีย์นั้น จะสามารถทำให้ผู้บริโภครู้ที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น แหล่งที่ผลิต ขั้นตอนการปลูกและผลิต ชนิดพันธุ์ ชื่อของเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ และแน่นอนว่ารวมไปถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตขิงเกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “Blockchainกับ เกษตรอินทรีย์” ขึ้น โดย “อภิรดี ตันตราภรณ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน กมธ.พาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ได้กล่าวถึง การเริ่มใช้เทคโนโลยี Blockchianร่วมกับ การผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นสินค้าเกษตรที่เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อบ่งบอกถึงแหล่งที่มา และการตรวจสอบย้อนกลับที่ชัดเจนได้

 

 

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจเกษตรในรูปแบบใหม่ การควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กาลงน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ได้ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออก เหนือสิ่งอื่นใดคือการทำให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ สามารถลืมตาอ้าปากได้

 

 

ด้าน พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า พณ. ได้จดทะเบียนโดเมน TraceThai.com เพื่อเป็นชื่อสำหรับระบบบล็อกเชน (Blockchain) ให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ สนค. กำลังดำเนินการอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งระบบนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสามารถขายและส่งออกได้ในระยะเวลาที่สั้นลง อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ และมีสินค้าอย่าง “ข้าวอินทรีย์” เป็นสินค้านำร่อง

ต่อจากนี้ในอนาคต เพื่อให้โดเมน TraceThai.com เป็นโดเมนหลักที่รวบรวมสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทย ทางสนค.จะร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธกส. ปูพรมลงทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศ โดยในอนาคตจะมีการแยกสัดส่วนระหว่างสินค้าเกษตรอินทรีย์ และไม่ใช่เกษตรอินทรีย์เพิ่มเข้ามาด้วย

ในส่วนของผู้ประกอบการ เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในสินค้าเกษตรนั้นจะช่วยให้ลูกค้า และผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในแบรนด์ของผู้ผลิตมากยิ่งขึ้น โดย “ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์” กรรมการ บ.ซองเดอร์ ไทยออกานิคฟูด จำกัด กล่าวแสดงความเห็นว่า เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของ ซองเดอร์นั้น เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ดังนั้นการที่สินค้าระบุถึงการตรวจสอบย้อนหลังถึงแหล่งที่มาที่ไปได้ จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคซึ่งเป็นพ่อแม่ และครอบครัวมากยิ่งขึ้น

 

 

ขณะที่ “มานพ แก้วโกย” ผู้บริหาร หจก.เนเจอร์ฟู้ดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า การใช้บล็อกเชน มาสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้เกษตรกรไทยนำหน้าคู่แข่งไปแล้ว 1 ก้าว ซึ่งช่วยให้ข้าวอินทรีย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ แต่การริเริ่มใช้บล็อกเชนดังกล่าว ควรจะต้องทำงานประสานกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อเสียที่เกิดขึ้นคือ วันนี้เกษตรกร ยังปรับตัวได้ช้า และไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร

 

 

ในมุมของเกษตรกร ซึ่งผลิตข้าวอินทรีย์นั้น “นฤมล บุลนิม” จากบ้านสวนข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี มองว่า ในส่วนของบ้านสวนข้าวขวัญ นั้นแม้จะไม่ได้ส่งออกข้าวอินทรีย์โดยตรง แต่ก็มีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ซื้อเพื่อนำไปส่งออก เมื่อเราใช้บล็อกเชนดังกล่าว มันทำให้เราสามารถรับรองคุณภาพให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งเป็นข้อดี เพราะผู้บริโภคคนไทยเองก็อยากรู้ว่าข้าวที่เอาจะเลือกนั้นมาจากที่ไหน บรรจุเมื่อวันที่เท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคคนไทยด้วยกัน ที่ปัจจุบันก็มันมาสนใจการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น

 

 

ด้าน “เอกนรินทร์ สิงห์คำ” ผู้แทนวิสาหกิจศูนย์ข้าวชุมชนบ้านมะยาง จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงปัญหาที่พบจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในช่วงเริ่มแรก คือ การเปลี่ยนพันธุ์ข้าวในพื้นที่ปลูกซึ่งระบุไว้ในข้อมูล ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งตามสภาพอากาศ หรือสภาพพื้นที่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เองยังไม่มีความคุ้นชินกับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้นหน่วยงานจะต้องสร้างความเข้าใจและสร้างให้เป็นถึงมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อหันมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์

 

 

จากข้อสรุปของการจัดสัมมนา เรายังเห็นถึงความยากลำบากของการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของเกษตรกรทั่วไป ที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมากเท่าที่ควร ด้วยความยุ่งยาก การยึดติดกับการทำเกษตรแบบเดิม ที่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก มากกว่าการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องค่อยๆสร้างคามเข้าใจ ให้เห็นถึงผลดีผลเสีย โดยอนาคตเชื่อว่าการใช้บล็อกเชน ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู ช่วยศก.ไทยโต 1.28% เปิดช่องส่งออกสินค้าไทยไป อียู