“ทัวร์ลง” ตระเวนดูสเปกบ้าน ที่ถูกใจ “คนไร้บ้าน”

by ThaiQuote, 5 ตุลาคม 2563

โดย...คเชนทร์ พลประดิษฐ์

 

เมื่อคนไร้บ้าน อยากมี “บ้าน” จึงเกิดทริป “ทัวร์ลง” สำรวจที่อยู่อาศัยภาครัฐ-เอกชนที่จัดไว้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน โดยมูลนิธิกระจกเงา

8.00 น. เวลานัดหมายที่วันนี้ เราจะลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม “ทัวร์ลง” กับคนไร้บ้าน และ มูลนิธิกระจกเงา ตามหาความต้องการส่วนสำคัญในชีวิตอย่างที่อยู่อาศัย ซึ่งกลายเป็นปมประเด็นให้พวกเขาถูกเรียกกล่าวว่า “คนไร้บ้าน”

สังคมอาจเคยตั้งคำถามถึงการจัดระเบียบให้กับห่วงโซ่การดำเนินชีวิตของ “คนไร้บ้าน” ซึ่งต้องบอกว่าไม่ได้ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป บางครั้ง คนแปลกหน้าหลายสิบคนที่กำลังเดินสวนทางกับคุณ ในจำนวนนั้นอาจมีคนไร้บ้านปะปนอยู่โดยคุณไม่รู้ตัว นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจาก “ผู้ป่วยข้างถนน”

รถบัสธรรมดาแต่สีฉูดฉาด เคลื่อนตัวออกจากถนนเลียบคลองผดุงฯ บริเวณหัวลำโพง พร้อมกับคนไร้บ้าน กว่า 50 ชีวิต เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายแรกของทริปการสำรวจที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับ คนไร้บ้าน นั่นคือ“สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี” ในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

 

 

ตลอดการเดินทาง เต็มไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน คนไร้บ้าน จากแหล่งต่างๆทั่วพื้นที่ กทม. อาทิ อนุสาวรีย์ชัยฯ หัวลำโพง สนามหลวง บางกอกน้อย บางซื่อ และท่าน้ำนนท์ฯ เริ่มกิจกรรมบนรถกันด้วยการร้องรำทำเพลง หากจะบอกว่านี่คือบรรยากาศแบบทัวร์สายบุญทั่วไป ก็คงไม่ต่างกันหนัก

แม้จะมีแหล่งที่มาต่างกัน แต่พวกเขารู้จักกันเป็นอย่างดี บ้างคุ้นเคยกันเพราะเคยร่วมงาน “จ้างวานข้า” กับมูลนิธิกระจกเงา บ้างรู้จักกัน เพราะเคยอยู่ในแหล่งทำมาหากินเดียวกันมาก่อน

ประมาณ 9.30 น. เราก็เดินทางถึง “สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี” ตลอดเวลาบนรถบัส เราได้รับข้อมูลจากคนไร้บ้าน ว่าที่นี่คือสถานที่ซึ่งคนไร้บ้านเกือบทุกคนไม่อยากมาอยู่ เราจึงเห็นการตั้งธงของคนไร้บ้าน ซึ่งเลือกที่จะนอนอยู่ริมถนนมากกว่าที่จะเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ

ภาพของสถานที่ ซึ่งร่มรื่นไปด้วย ต้นไม้ ดูเงียบเชียบ เราลงจากรถ พร้อมจัดแถวเป็นกลุ่ม เพื่อจะเดินเข้าสู่ห้องประชุมซึ่งอยู่ค่อนไปด้านหลังของ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี

 

 

คนไร้บ้านบางคนเริ่มหยิบบุหรี่ออกมาสูบ และจับกลุ่มคุยกัน โดยยอมที่จะให้เราเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนานั้น ขณะที่เรายืนคุยกันอยู่นั้น ก็ปรากฏกลุ่มชาย เดินเข้ามาเพื่อหยิบเอาก้นบุหรี่ที่ใกล้จะหมดมวนบนพื้นขึ้นไปสูบต่อ

คนไร้บ้าน คนหนึ่งจึงรวบรวมบุหรี่ที่มีในกลุ่มของพวกเขาเดินเอาไปให้ กลุ่มชายดังกล่าว พร้อมกับเดินกลับมาแล้วเอ่ยกับเราว่า “ผมสงสาร เรามีโอกาส เราพร้อมมากกว่าเขา เรื่องเล็กๆน้อยๆแค่นี้ เราช่วยได้แบ่งปันได้ ก็ช่วยกันไป”

 

 

คนซึ่งเข้ามาอยู่ภายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จะถูกเรียกว่า “ผู้รับบริการ” ขณะที่เจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฯ จะใช้คำเรียกว่า “ผู้ปกครอง” ภายในศูนย์มีจำนวนผู้รับบริการเกือบ 600 คน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งเป็น “ผู้ปกครอง” นั้นมีอยู่เพียง 52 คน ศูนย์ฯ ถูกแบ่งโซนออกเป็น “บ้าน” ซึ่งมีทั้ง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนไร้บ้าน โดยส่วนใหญ่ของผู้รับบริการ กว่า 80% คือ ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งนี่คืออีกสาเหตุหลักที่ทำให้ คนไร้บ้าน ไม่อยากจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

“ที่นี่ไม่ได้น่าอยู่อย่างที่ใครเขาพูดกันหรอกพี่ บางคนไม่รู้ก็บอกให้เราเข้ามาอยู่ที่นี่ เรากลัวเขาจะมาจับเราแล้วเอาเราเข้ามาอยู่ที่อย่างนี้” คนไร้บ้าน คนหนึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจกับเรา เราเก็บข้อสงสัยพร้อมเปิดใจรับฟังข้อมูลจากอีกด้านหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร

 


เราเริ่มต้นการเยี่ยมชมพื้นที่ในส่วนที่เรียกว่า “อาคารนอนผู้รับบริการ” ซึ่งพบว่ามีการแยกส่วนของ “ผู้รับบริการแต่ละประเภท” เป็นสัดส่วน เช่น โซนผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนไร้บ้าน โดยความคิดเห็นของผู้ไร้บ้าน ที่เข้าไปเยี่ยมนั้น ต่างมองว่า ยังไม่มีการแยกส่วนที่ชัดเจนเพียงพอ

 

 

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ใช้เป็นที่สำหรับฝึกวิชาชีพ และจัดแสดงสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จาก “ผู้รับบริการ” พร้อมทั้งการอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริของ ในหลวง ร.9 โดยใช้ชื่อว่า “ธัญบุรีโมเดล”

 


“ณิชาภัทร วิบูลย์พานิช” ผู้ปกครองสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี กล่าวว่า การที่มูลนิธิกระจกเงา ได้นำกลุ่มคนไร้บ้านมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อได้รับทราบถึงการดำเนินการของศูนย์นี้ ก็จะช่วยให้เราได้รับฟังปัญหาและเสียงสะท้อน ซึ่งเราจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของหน่วยงานของศูนย์ ทั้งเรื่องการปรับปรุงอาคารสถานที่ การให้บริการ ได้ต่อไป

ขณะเดียวกันในส่วนของการประเมิน “ผู้รับบริการ” นั้นจะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ที่จะประเมิน โดยการแบ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริการเป็นกลุ่มต่างๆ จะช่วยให้เราจัดการบริการได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ต้องการแยกให้คนที่แข็งแรง และมีสภาพร่างกายที่ดี ออกมาจากกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชนั้น ต้องยอมรับว่าขณะนี้ได้มีการแยกอาคาร โดยแบ่งเป็นโซนอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการใช้พื้นที่ร่วมกัน ทั้งการทำกิจกรรม การรับประทานอาหาร ยังคงเป็นพื้นที่เดียวกันอยู่ ซึ่งเราจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปรับปรุงต่อไป

 


ส่วนที่มีคำถามว่า ทำไมจึงต้องจับคนไร้บ้านมาไว้ที่นี่ด้วยนั้น ขอทำความเข้าใจว่า ในช่วงเวลาที่มีการจัดระเบียบในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนั้น เจ้าหน้าที่จะสำรวจและถามความสมัครใจ และแจ้งบริการที่จะจัดสรรให้ พร้อมทั้งนำตัวเข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรอง โดยหากคนไร้บ้านไม่ยินยอมลงชื่อเพื่อเข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์ ทางศูนย์ฯก็ไม่มีอำนาจที่จะกักขังหน่วงเหนี่ยวได้

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วย พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน หากว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและไม่เสียค่าปรับ ก็จะต้องเข้ารับการฝึกทักษะการประกอบอาชีพภายในศูนย์เป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อที่จะฝึกอาชีพให้บุคคลนั้นๆ ไม่ต้องกลับไปเป็นขอทานอีก

“หน้าที่และเป้าหมายของเราในฐานะสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชาย เราไม่อยากต้องการให้คนที่อยู่ที่นี่ต้องอยู่ไปตลอดชีวิต แต่เมื่อเขามีความพร้อมแล้ว เขาก็สามารถกลับไปสู่ครอบครัว หรือกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีความสุข” ณิชาภัทร กล่าว

 


ช่วงบ่ายหลังจากที่เรานั่งกินข้าวกล่องร่วมกันกับคนไร้บ้านแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางไปเยี่ยมชม สถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านอีกแห่งหนึ่ง ในชื่อว่า “บ้านพูนสุข” ซึ่งดำเนินการโดย “มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย” ที่ได้รับงบประมาณมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ อพช.

 


สำหรับ “บ้านพูนสุข” ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2 ไร่ ในซ.วัดบางพูน ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ภายในประกอบด้วยส่วนของอาคาร 3 หลัง คือ 1.อาคารอำนวยการ 2.อาคารที่พักอาศัย 2 ชั้น 3. อาคารชั้นเดียว แบ่งเป็นห้องพักจำนวน 8 ห้อง โดยเป็นห้องพักให้เช่าในราคาเดือนละ 200 บาท ค่าน้ำ-ค่าไฟคิดเป็นรายคน รายละ 30 บาท


นอกจากนี้ยังมีส่วนของห้องพักรายวันที่เป็นห้องปรับอากาศจำนวน 5 ห้อง และห้องพัดลม 3 ห้อง เพื่อให้ญาติของคนไร้บ้าน ได้พักอาศัยในระหว่างมาเยี่ยม โดยมีราคาห้องแอร์คนละ 200 บาท และห้องพัดลม 100 บาท

 

 

“บ้านพูนสุข” เป็นส่วนของโครงการใหม่ที่แยกออกมาจาก “ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อย” ซึ่งเปิดให้คนไร้บ้านที่สมัครใจได้เช่าอาศัยอยู่มาเป็นการลดลองการบริหารจัดการร่วมกันมาแล้ว เดือน และในขณะนี้กำลังปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างอาชีพ ให้กับคนไร้บ้าน โดยเรามีโครงการสร้างอาชีพ เช่น การสนับสนุนให้ปลูกผักสวนครัว ไม้ประดับเพื่อจำหน่าย การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา และกบ ขณะที่ส่วนหนึ่งก็ยังคงทำอาชีพรับจ้างทั่วไปอยู่ โดยในอนาคตจะมีการจัดตลาดเพื่อนำสินค้าเกษตรที่ปลูกมาจำหน่ายให้กับคนทั่วไป

 


นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการในรูปแบบกองทุนเพื่อการกู้ยืมเป็นทุนสำรองในการประกอบอาชีพ ในรูปแบบที่หุ้นส่วนที่พี่น้องคนไร้บ้านบริหารจัดการกันเอง ยกตังอย่างเช่น บางครั้งคนไร้บ้านอาจจะไม่มีเงินออกไปทำงานรับจ้าง กองทุนก็จะให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 2 บาท ไม่เกิน 700 บาทต่อคนต่อสัปดาห์ โดยเมื่อครบสัปดาห์แล้วจะต้องนำเงินมาคืน เพื่อที่จะยืมใหม่ได้ โดยดอกเบี้ยจะแบ่งปันผลตามหุ้นของคนไร้บ้านแต่ละคน

 

 

“สมพร หารพรม” ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือที่คนไร้บ้าน รู้จักในชื่อของ “พี่โด่ง” ให้ข้อมูลกับเราว่า “บ้านพูนสุข” เกิดจากแนวคิดการเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน และต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของ “พี่น้อง” คนไร้บ้าน ซึ่งคนไร้บ้านที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่นั้น จะต้องมีข้อตกลง กฎระเบียบร่วมกันระหว่างกันเอง โดยอาศัยอยู่กันแบบ “พี่น้อง”

สำหรับ “บ้านพูนสุข” นั้น ทริปทัวร์คนไร้บ้าน ทุกคนต่างยอมรับว่า เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ แต่ด้วยประเด็นสำคัญ คือระยะทางซึ่งไกลจากแหล่งทำมาหากินของพวกเขา แต่บางคนก็พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่

และเรา ได้ร่วมวงสนทนากับพวกเขาที่จับกลุ่ม 2-3 เมื่อเข้าไปดูที่พักใหม่ ซึ่งอาจจะคับแคบสำหรับใครบางคน แต่ที่นี่สามารถเติมเต็มสิ่งที่พวกเขาขาดหายไปในช่วงชีวิตหนึ่งได้ “อั๋น” ชายวัยกลางคนอายุ 43 ปี บอกกับเราว่า ที่นี่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ด้วยที่อยู่อาศัยที่พอมั่นคง และการงานอาชีพที่มั่นคง เขาอาจจะสมัครเป็น รปภ. ตามพื้นที่ย่านรังสิต หรือรับจ้างทั่วไป ที่พอจะได้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และจ่ายค่าเช่าห้องรายเดือนได้ ในแววตาของเขา มีความหวัง และเรายินดี พร้อมกับพูดสนับสนุน

 


“สิทธิพงษ์ ชูประจง” หัวหน้าโครงการคนไร้บ้าน มูลนิธิกระจกเงา บอกกับเราว่า สิ่งสำคัญที่คนไร้บ้านทุกคนต้องการคือ ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ในส่วนของที่อยู่อาศัยซึ่งรัฐจัดให้นั้น หลายคนเคยเข้ามาใช้บริการแล้ว และพบว่ามีปัญหาและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา

“ความคาดหวังของเรา คือ อยากให้ภาครัฐได้ปรับตัวและพัฒนาตามบริบทเงื่อนไขซึ่งเหมาะสมกับคนไร้บ้านอย่างจริงจัง การสะท้อนความคิดเห็นจากคนไร้บ้านในกิจกรรม “ทัวร์ลง” นี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่คนไร้บ้านจะได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อทั้งสถานที่ซึ่งรัฐ จัดให้ และสถานที่ซึ่งเป็นของเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การที่คนไร้บ้าน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน” สิทธิพงษ์ กล่าว

 

 

สำหรับบทสรุปของเรา ผู้ซึ่งมีสถานะเป็นแขกที่เข้ามาเยี่ยมเยือนชีวิตของพวกเขา เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เราก็ได้บางส่วนว่าเขาไม่ใช่คนที่แปลกแยกในสังคมอย่างที่ใครหลายๆคนคิด พวกเขามีการใช้ชีวิตประจำที่อาจแตกต่างจากคนทั่วไป แต่ก็พยายามที่จะทำตัวให้กลมกลืมกับคนอื่นๆในสังคม บางคนมีสมาร์ทโฟน และใช้โซเชียลมีเดีย ในการติดต่อสื่อสารกับสังคมทั่วไป

คนไร้บ้านบางคนมีบ้านและครอบครัวที่เพียบพร้อม แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่เขาไม่อาจกลับไปอยู่ในจุดๆนั้นได้ พวกเขามีน้ำใจที่ไม่ใช่การเสแสร้ง เช่นกันว่า พวกเขามีความฝัน ของการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นของตนเอง เพื่อขยับตัวเองออกจากคำว่า “คนไร้บ้าน” อย่างสมบูรณ์แบบ

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ