นักวิทย์จับมือเอกชน พัฒนา AIติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

by ThaiQuote, 6 ตุลาคม 2563

นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจับมือบริษัทเทคโนโลยี พัฒนา AI ติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ครอบคลุมทุกแหล่งที่มา เช็กได้หมด “มาจากไหน” “ปล่อยออกมาเมื่อไหร่” และ “ใครเป็นคนปล่อย”

 

ความรุนแรงและผลกระทบของภาวะเรือนกระจกที่มีต่อโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนอาจเข้าใจว่ามีการติดตามข้อมูลและจัดเก็บสถิติอย่างใกล้ชิด แต่กลับตรงกันข้าม เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่ถูกเปิดเผยไม่ใช่ข้อมูลแบบเรียลไทม์และส่วนหนึ่งยังมาจากการสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์เอง

เพื่อขจัดข้อครหาเรื่องความไม่แม่นยำและไม่ทันต่อเหตุการณ์ของชุดข้อมูล กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีและอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ อัล กอร์ (Al Gore) ในฐานะนักเคลื่อนไหวเรื่องภาวะโลกร้อน พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ “Climate TRACE” เพื่อติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ผ่านการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลภาพจากดาวเทียมและเทคโนโลยีทันสมัยอื่น ๆ

กอร์และทีมผู้พัฒนาได้อธิบายว่า ตัวแพลตฟอร์ม Climate TRACE จะติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายแหล่งที่มา เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ภาคการขนส่งทั้งทางบก ทะเลและอากาศ รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์

กอร์ ยังระบุในบล็อก Medium ที่เขาร่วมกันเขียนกับ กาวิน แมคคอมิค (Gavin Mccormick) ผู้อำนวยการบริหารของ WattTimeซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีของ Climate TRACE ว่า แพลตฟอร์มใหม่นี้จะมีรายละเอียดแม้กระทั่งว่าก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ “มาจากไหน” “ปล่อยออกมาเมื่อไหร่” และ “ใครเป็นคนปล่อย”

ที่ผ่านมา ข้อมูลที่เกี่ยวกับก๊าซต่าง ๆ มักเก็บโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ จึงอาจมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ และแต่ละประเทศอาจปล่อยข้อมูลก๊าซที่แตกต่างกันออกไป การสร้างแพลตฟอร์มทางการที่ให้คนเข้าถึงข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือได้ในที่เดียวจึงจะช่วยแก้ปัญหาความแม่นยำของข้อมูล และรัฐบาลต่าง ๆสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

ทีม Climate TRACE เปิดเผยอีกว่า ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น การสำรวจระยะไกล (Remote Sensing), ระบบ AI, ภาพถ่ายดาวเทียมและการเรียนรู้ของเครื่องกล (Machine Learning)

โดยคาดว่าจะปล่อยเวอร์ชั่นแรกของแพลตฟอร์มนี้ให้พร้อมใช้ภายในฤดูร้อนของปี 2564 และจะนำไปเสนอในการประชุมภาคีตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ รวมถึงหวังจะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

“วิสัยทัศน์ของพวกเราคือติดอาวุธให้บริษัท นักวางแผนนโยบาย และผู้นำทุกคนมีเครื่องมือที่จำเป็น ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” กอร์ กล่าวผ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม

ขณะที่ แมคคอมิค ได้ย้ำว่า โลกเหมือนคนไข้คนหนึ่งที่กำลังป่วยด้วยโรคที่ชื่อว่า ‘สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง’ การรักษาด้วยข้อมูลที่คนไข้บอกและจากงานวิจัยที่ไม่อัพเดทหรือล่าช้าไป 1 ปี ก็เหมือนการให้หมอรักษาโรคร้ายแรงที่ไม่มีข้อมูล ยกเว้นอาการต่าง ๆ ที่เคยเก็บจากคนไข้เมื่อปีก่อนๆ

“ถ้าอยากจะหยุดโรคร้ายอย่างสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้หมอเข้าถึงอุปกรณ์ที่เหมือนกับอุปกรณ์ในโรงพยาบาลจริง” เขากล่าวเสริม

ศาสตราจารย์ เคลลี่ ซิมส์ กัลลาเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จากมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) กล่าวสนับสนุนความเห็นของแมคคอมิค โดยระบุว่า การมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แม่นยำนั้นจำเป็นมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะเรียงลำดับความสำคัญสิ่งที่ควรแก้ไขเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์โลกร้อนผิด

ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

จับตาโลกร้อน!“กรีนแลนด์” เกาะแตก!น้ำแข็งละลายสิ้น