รองหน.ปชป. ไขข้อข้องใจ ทำไมน้ำท่วมกรุง! พร้อมเผยวิธีแก้ ไม่ต้องเสียงบมหาศาล

by ThaiQuote, 12 ตุลาคม 2563

รองหน.ปชป. ไขข้อข้องใจ ทำไมน้ำท่วมกรุงเทพฯ พร้อมเผยวิธีแก้ ชี้! ทำได้ ไม่ต้องย้ายเมืองหลวงหนี้ ไม่ต้องเป็นหนี้ สร้าง”เมืองหลวงใหม่”


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "น้ำท่วม! ถ้าไม่แก้ “คอขวด” อุโมงค์ยักษ์ก็ช่วยไม่ได้" โดยระบุว่า

แม้ว่าผู้บริหารของ กทม.ออกมาชี้แจงว่า กทม.ได้ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับพายุที่ถาโถมเข้าสู่ไทยเป็นระลอกๆ แต่ก็ไม่อาจยับยั้งไม่ให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้ เป็นเพราะอะไร? และจะต้องแก้อย่างไร? ติดตามได้จากบทความนี้

หาก กทม.ได้เตรียมการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ไว้เป็นอย่างดีแล้วตามที่ได้ชี้แจง โดยได้ดำเนินการหลายอย่าง อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น

 

 

แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ผมประเมินว่าเป็นเพราะมี “คอขวด” ที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

“คอขวด” คือท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กและคูคลองที่มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ยักษ์ได้อย่างรวดเร็ว

ถึงเวลานี้ เรามีอุโมงค์ยักษ์หรือ “ทางด่วนน้ำ” ใช้งานแล้ว 4 อุโมงค์ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างรวมทั้งกำลังจะก่อสร้างอีก 5 อุโมงค์ อุโมงค์ยักษ์เหล่านี้มีหน้าที่ลำเลียงน้ำซึ่งรับมาจากท่อระบายน้ำ และคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 4 อุโมงค์ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทันทีที่น้ำไหลมาถึงปากอุโมงค์ก็จะขนน้ำไปสู่ท้ายอุโมงค์แล้วสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว “ขาออก” จากอุโมงค์ไม่มีปัญหา น้ำสามารถออกจากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ “ขาเข้า” ที่ปากอุโมงค์มีปัญหา

 

 

เนื่องจากท่อระบายน้ำ และคูคลองไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก และคูคลองมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้มีสภาพเป็น “คอขวด” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก น่าเห็นใจยิ่งนัก

ด้วยเหตุนี้ กทม.จะต้องเร่งแก้ปัญหา “คอขวด” โดยด่วนโดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งกระทะ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังอีกต่อไป การแก้ปัญหา “คอขวด” สามารถทำได้โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม.เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่งผมทราบว่า กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะขจัด “คอขวด” ได้ ทำให้การลำเลียงน้ำไปสู่คูคลอง และอุโมงค์ยักษ์เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป หรือลำเลียงน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีอุปสรรค แม้ว่าการวางท่อใหม่จะใช้งบประมาณมาก

แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรเทาปัญหารถติด ลดมลพิษ และลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ผมอยากให้ กทม.ศึกษาความเป็นได้ในการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่” อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการเก็บกักน้ำในขณะฝนตกก่อนปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อฝนหยุดตก ทำให้สามารถป้องกันน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผมทราบว่าเวลานี้ กทม.ได้สร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดเล็ก” หรือที่ กทม.เรียกว่า “บ่อหน่วงน้ำ” เสร็จสมบูรณ์แล้ว 2 บ่อ ซึ่งยังไม่เพียงพอ ดังนั้น กทม.ควรศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่” กับ “บ่อหน่วงน้ำ” ว่าการลงทุนใดได้ผลคุ้มค่ากว่ากัน

การแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังมีหนทางถ้าทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ทิ้งขยะลงในที่สาธารณะ เช่นถนน และคูคลอง เป็นต้น เป็นการไม่สร้างภาระหนักให้ กทม. ในขณะที่ กทม.จะต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ให้บกพร่อง หากทำได้อย่างนี้ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถแก้วิกฤตน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน ไม่จำเป็นจะต้องย้ายเมืองหลวงเพียงเพื่อหนีน้ำท่วม แล้วไปสร้าง “เมืองหลวงใหม่” ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้สามารถฝ่าฟันงานหินชิ้นนี้ไปได้ด้วยดี"

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ