เปิดข้อกฎหมายอย่างที่ “สิระ” ถาม ทำไม ‘แกนนำม็อบ’ นอนรพ.เอกชน – มีเพื่อนเยี่ยมได้

by ThaiQuote, 3 พฤศจิกายน 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

กรณี “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาจี้ถาม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ที่สังกัดพรรคเดียวกัน ถึงความเท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติ ระหว่าง “แกนนำม็อบ” ในเชิง ที่ได้รับอภิสิทธิ์ มากกว่า “นักโทษ” ในเรือนจำ ทั้งเรื่อง สิทธิ์การรักษาใน รพ.เอกชน สิทธิ์ที่มีเพื่อนฝูงเข้าเยี่ยมโดยไม่จำกัดเวลา สรุปแล้วมันเป็นยังไงกันแน่

ThaiQuote จึงยกหูหาแหล่งข่าวทนายความนิรนาม จึงได้คำตอบว่า เรื่องนี้ มีกฎหมาย 2 ฉบับด้วยกันคือ

1.พระราชบัญญัติ ราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา)

มี 2 คำ ที่ต้องใช้ในกรณีนี้ คือ ผู้ต้องหา และผู้ต้องขัง ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน คือ

ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล

ผู้ต้องขัง ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 4 (2) – (6) ระบุว่า ผู้ต้องขัง หมายถึง “นักโทษเด็ดขาด คนต้องขังและคนฝาก” โดย “คนต้องขัง” คือ “บุคคลที่ถูกฝากขังไว้ตามหมายขัง” และ “คนฝาก” หมายถึง “บุคคลที่ถูกฝากให้ควบคุมไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือ กฎหมายอื่น โดยไม่มีหมายอาญา”


ในกรณี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง เป็นกลุ่มที่อยู่ในประเภท “คนต้องขัง” และเมื่อวันที่ 30 ต.ค.63 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีคำสั่งยกคำร้องพนักงานสอบสวน สภ.พระนครศรีอยุธยา ที่ขออำนาจควบคุมตัว


โดยศาล ให้เหตุผลว่า ผู้ร้องสอบสวนพยานได้แล้วเสร็จ แต่คงเหลือการเสนอสำนวนการสอบสวนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งผู้ร้องเบิกความว่า พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3

ไม่ปรากฏหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 จะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น เนื่องจากขณะที่มีการยื่นคำร้องขอควบคุมตัวนี้ผู้ต้องหาทั้ง3 มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามใบรับรองแพทย์ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาทั้ง 3 ไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83,134


เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำคัดค้านข้ออื่น

ดังนั้น เมื่อถูกปล่อยตัว ออกจากเรือนจำ ตามคำสั่งศาลแล้ว จึงถือว่าไม่ใช่ผู้ต้องขัง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม แต่เป็น “ผู้ต้องหา” ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการรออัยการสั่งฟ้องต่อศาล

ในระหว่างนี้ “แกนนำม็อบ” จึงอยู่ในฐานะ “ผู้ต้องหา” ที่ได้รับการ “ปล่อยตัวชั่วคราว” ตามประมวลกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 34

สรุปเรื่องนี้นั้น กระทรวงยุติธรมไม่มีอำนาจหน้าที่ ควบคุมตัว “แกนนำม็อบ” ภายหลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัว เหตุเพราะยังไม่การพิจารณาคดีจนศาลมีคำสั่งเด็ดขาด และไม่ใช่ “ผู้ต้องขัง”

และในขณะนี้ “แกนนำม็อบ” สามารถที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือตามที่ศาลกำหนด โดยมีหน้าที่จะต้องวไปตามนัดในวันที่อัยการ สั่งฟ้องคดีต่อศาล

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ครม.ไฟเขียว มาตรการด้านการเงิน-ภาษี ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว