Eat Out to Help Out คนละครึ่งรัฐบาลอังกฤษ ความสำเร็จที่ล้มเหลว?!

by ThaiQuote, 23 พฤศจิกายน 2563

รู้จักโครงการ Eat Out to Help Out คนละครึ่งสไตล์อังกฤษ ไม่ต้องสมัคร ไม่ต้องใช้แอปฯ จ่ายครึ่งเดียวจบที่ร้านค้าร่วมโครงการ แต่ดราม่ามาเต็ม! กลายเป็นต้นตอโควิด-19 ระลอกสอง สุดท้ายต้องเลือก “เศรษฐกิจ” หรือ “สุขภาพ” 

 

จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กับ “โครงการคนละครึ่ง” ที่ประสบความสำเร็จ ได้การตอบรับดีจากทั้งกลุ่มลูกค้าและร้านค้า ล่าสุดมีการยืนยันออกมาแล้วว่าทางกระทรวงการคลังพร้อมผลักดันเฟส 2 ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลการันตีว่าจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการเพิ่มวงเงินของส่วนลดให้อีกด้วย

 

 

ปัจจัยความสำเร็จของ “คนละครึ่ง” ถูกมองว่ามาจากการที่ตัวโครงการจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายได้จริง เพราะราคาสินค้าถูกลงครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันด้วยข้อกำหนดที่ไม่เปิดให้กิจการรายใหญ่เข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้เม็ดเงินกระจายลงสู่กิจการรายย่อยได้เป็นอย่างดี

 

Eat Out to Help Out คนละครึ่งสไตล์อังกฤษ

อย่างไรก็ดี พบว่าแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ ไม่ได้แต่เฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในประเทศอังกฤษได้มีโครงการในลักษณะนี้เช่นเดียวกันในชื่อ Eat Out to Help Out โดยกระทรวงการคลังแดนผู้ดี มอบส่วนลด 50% เมื่อรับประทานอาหารที่ร้านอาหารที่ลงทะเบียนกับโครงการ

สำหรับกติกานั้นแทบไม่แตกต่างจากโครงการคนละครึ่งในบ้านเรา โดย Eat Out to Help จะมอบส่วนลด 50% สำหรับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สูงสุดไม่เกิน 10 ปอนด์ (ประมาณ 400 บาท) ต่อมื้อ ใช้ได้ทุกวันจันทร์อังคารและพุธระหว่างวันที่ 3 -31 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

สุดปัง! ไม่ต้องสมัคร ไม่ต้องใช้แอปฯ จ่ายครึ่งเดียวจบที่ร้านค้าร่วมโครงการ

จุดเด่นของคนละครึ่งแดนผู้ดี ก็คือใช้สิทธิ์กี่ครั้งก็ได้ตามที่เราต้องการ ได้ส่วนลดอัตโนมัติจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรกำนัลหรือโหลดแอปพลิเคชันใดๆ และใช้ร่วมกับส่วนลดอื่นๆ ได้ ซึ่งร้านค้าจะไปเรียกเก็บเงินคืนจากรัฐบาลสำหรับส่วนลดที่มอบให้กับลูกค้า

สำหรับสถานประกอบการที่เข้าร่วมประกอบไปด้วย ร้านอาหารทั่วไป คาเฟ่ ผับ-บาร์ ศูนย์อาหารในที่ทำงานและโรงเรียน ไม่จำกัดกลุ่มคนซื้อ ใช้ส่วนลดได้ทุกคน โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินจำนวน 500 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) เพื่อเป็นทุนสำหรับโครงการนี้

 

 

แน่นอนว่า Eat Out to Help Out ได้การตอบรับแบบมหาศาล ในสัปดาห์แรกมีจำนวนการใช้บริการส่วนลดนี้มากถึง 10. 5 ล้านครั้ง จากร้านอาหารประมาณ 84,700 แห่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ด้านเว็บไซต์สำหรับจองร้านอาหาร OpenTable ระบุว่ามีการจองร้านอาหารเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับช่วงวันจันทร์ถึงวันพุธในเดือนสิงหาคมปี 2019

 

ดราม่ามาเต็ม! คนแห่กินข้าวนอกบ้านEat Out to Help Out ต้นตอโควิด-19 ระลอกสอง

แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ Eat Out to Help Out ก็มีดราม่าเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีรายงานว่า ผลกระทบจากการโครงการนี้ทำให้ผู้คนออกมากินข้าวนอกบ้านมากขึ้น จนเกิดการลุกลามของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในอังกฤษ โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก ระบุว่า มีผู้ป่วย 8-17% ของกลุ่มที่ติดเชื้อใหม่อาจเชื่อมโยงกับช่วงเวลา 3-31 ส.ค.63 ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่มีจับจ่ายใช้สอยสูงของโครงการมีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของการเริ่มต้นใช้ส่วนลด และตอกย้ำด้วยยอดติดเชื้อที่ลดลงต่อสัปดาห์เมื่อ Eat Out to Help Out เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน

ด้านกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่าประเทศอื่นในยุโรปที่ไม่มีโครงการในรูปแบบนี้ก็มียอดผู้ติดเชื้อสูงเช่นเดียวกัน ขณะที่ Thiemo Fetzer นักเศรษฐศาสตร์ที่ตีพิมพ์ผลการวิจัยกล่าวว่า Eat Out to Help Out คือดาบสองคม แม้กระตุ้นเศรษฐกิจได้แต่ก็ส่งผลร้ายในเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19

 

“เศรษฐกิจ” หรือ “สุขภาพ” อย่างไหนมาก่อน?

สุดท้ายดูเหมือนว่าประเด็นเศรษฐกิจจะมาก่อนเรื่องสุขภาพ เมื่อ Rishi Sunakรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษแย้มว่าเตรียมจะเปิด Eat Out to Help Out เฟส 2 ในเร็วๆ นี้ โดยจะประเมินจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการสนับสนุนให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

 

 

แม้ รมต.คลัง UK จะไม่ได้ลงรายละเอียด แต่คาดการณ์ว่า Eat Out to Help Out เฟส 2 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ซึ่ง ณ เวลานั้นจะพ้นจากการล็อกดาวน์ประเทศ (อังกฤษล็อกดาวน์รอบ 2 สิ้นสุด 2 ธ.ค.63 ) สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายมากขึ้น รวมทั้งความหวังจากวัคซีนที่อาจประสบความสำเร็จหลังปีใหม่

กลับมาที่ประเทศไทย ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังถือควบคุมได้ ณ เวลานี้ นับเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ทุกฝ่ายพยายามเดินหน้าเต็มที่เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ แม้เบื้องต้นโครงการคนละครึ่งจะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีผลกระทบด้านลบตามมาหรือไม่ เพื่อรักษาไว้ซึ่ง “สมดุล” ระหว่างเศรษฐกิจและความปลอดภัยทางด้านสุขภาพ

ที่มา : Gov.uk, Bloomberg, Bbc, Metro.co.uk, Reuters

เรียบเรียงโดย ปกรณ์ ดุลบุตร  

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ “คนละครึ่ง” เม็ดเงินถึงรายย่อย กระตุ้น ศก.ได้