ไขความกระจ่าง "ปิตาธิปไตย" คือสิ่งใด แล้วทำไมผู้ชุมนุมถึงต่อต้าน

by ThaiQuote, 3 ธันวาคม 2563

ThaiQuote Team

 

ในหมู่มวลการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่แผ่กว้างออกไปในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร การรวมพลของกลุ่มนักศึกษา นักเรียน คนรุ่นใหม่ในหมู่มากเพื่อเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาชูว่าเหมาะสมสำหรับประเทศ รวมไปถึงการขับไล่และต่อต้านการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานับว่ามีความเข้มข้นบ้าง หรือบางจุดก็ดูอ่อนแอไปบ้างเหมือนกัน

การชูป้ายข้อเรียกร้องของกลุ่มมวลชน มีทั้งการเรียกร้องระบอบการปกครองประชาธิปไตยชนิดเต็มใบอย่างที่ต้องการ รวมไปถึงการต่อต้านระบอบการปกครองอื่นๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และในการต่อต้านนี้เอง เกิดคำหนึ่งขึ้นมาคือ "ปิตาธิปไตย" ที่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนชูป้ายนี้ในการกำกับข้อความด้วยว่า ไม่เอาการปกครองชนิดนี้เข้ามาในประเทศ

คำถามคือ "ปิตาธิปไตย" คืออะไร? และทำไมต้องเกิดการต่อต้านระบอบการปกครองนี้ขึ้นมา

จากข้อมูลที่เราสืบค้นเจอว่า ปิตาธิปไตยคืออะไร ทำให้เห็นภาพคำตอบที่ชัดแจ้งขึ้นมาในทันที และสรุปใจความได้ว่า คือรูปแบบการปกครองที่ "ผู้ชาย" เป็นใหญ่ หรืออีกอย่างคือระบอบการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก"

ปิตาธิปไตย (patriarchy) เป็นระบบสังคมแบบหนึ่งที่ซึ่งเพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลักและครอบงำบทบาทในด้านผู้นำการเมือง อำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม เอกสิทธิ์ทางสังคม และการควบคุมทรัพย์สิน สังคมปิตาธิปไตยบางแห่งยังเป็นสังคมแบบสืบทอดทางพ่อ (patrilineal) ด้วย หมายความว่า ทรัพย์สินและยศฐาบรรดาศักดิ์นั้นสืบทอดโดยสายสกุลเพศชาย

ปิตาธิปไตยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับชุดความคิดหนึ่ง คือุดมการณ์ปิตาธิปไตยนั้นใช้เพื่ออธิบายและให้เหตุผลกับสภาพครอบงำของเพศชาย และถือว่าเป็นผลมาจากความแตกต่างตามธรรมชาติระหว่างชายและหญิง นักสังคมวิทยามักมองว่าปิตาธิปไตยเป็นผลผลิตทางสังคมและไม่ได้เป็นผลจากความแตกต่างระหว่างเพศทั้งสองในตัวเอง และมุ่งให้ความสนใจกับทางที่บทบาทจากเพศในสังคมหนึ่งนั้นส่งผลต่อความแตกต่างเชิงอำนาจระหว่างชายกับหญิงอย่างไร

ในประวัติศาสตร์ ปิตาธิปไตยปรากฏอยู่ในองค์กรทางสังคม กฎหมาย การเมือง ศาสนา และเศรษฐกิจ แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมในสังคมร่วมสมัย ถึงแม้จะไม่มีการระบุว่าเป็นปิตาธิปไตยอย่างเปิดเผย แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเป็นปิตาธิปไตยยังคงมีอยู่

นักสังคมวิทยามักปฏิเสธคำอธิบายเชิงชีววิทยาเกี่ยวกับปิตาธิปไตยซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายกำเนิดของปิตาธิปไตยอย่างแพร่หลาย และยึดมั่นว่าเป็นที่กระบวนการทางสังคมที่นำไปสู่บทบาทตามเพศที่ทำให้เกิดปิตาธิปไตยขึ้น ทฤษฎีทางสังคมวิทยามาตรฐานเชื่อว่าปิตาธิปไตยเป็นผลมาจากการก่อร่างทางสังคมและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

อีกนัยหนึ่ง ปิตาธิไตย เป็นการปกครองแบบโบราณ ที่ผู้ปกครองเป็นเสมือน “พ่อ” และประชาชนเปรียบเสมือน “ลูก” ในทางคำศัพท์จะใช้เรียกแทนพฤติกรรมของบุคคล องค์กร หรือการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและความอิสระของประชาชน ในบางความหมายจะใช้แทนการเรียกระบบสังคมที่จำกัดสิทธิของคนบางกลุ่มและให้คนบางกลุ่มที่เป็นส่วนน้อยของสังคมมีสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ หรือใช้เรียกกฎหมายที่เข้ามาจำกัดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ซึ่งนัยยะนี้เองที่อาจจะเป็นคำตอบของป้ายที่ถูกชูในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร


อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2

 

ข่าวที่น่าสนใจ