นายกฯ มะเร็งวิทยาสมาคม แนะผู้ป่วยเลือกรักษาใน รพ.ที่พร้อมใกล้บ้าน

by ThaiQuote, 26 ธันวาคม 2563

นายกฯ มะเร็งวิทยาสมาคม มั่นใจ นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย ระบุ ความล่าช้ามีผลต่อการรักษา แนะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเลือก รพ.ระดับรองลงมา ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนกับในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ผ่านมา คือเมื่อคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้รับรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กทม.) จากนั้นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาก็จะพิจารณาว่าตัวเองมีศักยภาพในการรักษาหรือไม่ หากเกินกำลังก็จะส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าหรือมีความพร้อมมากกว่า ซึ่งโรงพยาบาลจะกำหนดแน่นอนว่าจะส่งไปที่ไหน ผู้ป่วยก็ต้องไปรักษาตามนั้น


อย่างไรก็ตาม ระบบใหม่ หรือนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น จะลดการใช้ใบส่งตัวและทำลายข้อจำกัดเรื่องการกำหนดว่าจะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดเท่านั้น กล่าวคือโรงพยาบาลจะมีอิสระมากขึ้นที่จะให้ทางเลือกแก่คนไข้ว่าจะสามารถไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งใดได้บ้าง ซึ่งอาจมีหลายโรงพยาบาลให้เลือก

“เท่าที่รับฟังนโยบาย ทราบว่า สปสช. พยายามจะให้ไปรักษายังโรงพยาบาลใหญ่ที่อยู่ในเขตสุขภาพเดียวกันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยที่จะไม่ต้องเดินทางไกล และสามารถที่จะเข้ารับการรักษาที่มีคุณภาพได้ ข้อดีตรงนี้คือการลดขั้นตอน ลดความไม่สะดวกของผู้ป่วยที่จะต้องมาขออนุญาต ขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดเป็นระยะตลอด” รศ.นพ.เอกภพ กล่าว

รศ.นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีปัญหาหนึ่งคือคนไข้บางรายต้องการจะเข้ามารับการรักษาที่ส่วนกลาง หรือออกไปนอกเขตสุขภาพตัวเอง เช่น ต้องการเข้ามารักษาที่ กทม. หรือโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งถึงแม้ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงเรียนแพทย์จะมีบุคลากรและอุปกรณ์ที่พร้อมมากกว่า แต่ก็เกิดปัญหาความแออัด รอคิวนาน ไม่ได้รับความสะดวกสบาย และอาจทำให้อาการแย่ลงด้วย เพราะความล่าช้ามีผลต่อการรักษามะเร็ง

“จากนี้คนไข้ก็อาจต้องคอยพิจารณาดูด้วยว่าทางเลือกต่างๆ เป็นอย่างไร อาจไม่ต้องไปรักษาที่โรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ใน กทม.ก็ได้ อาจเลือกโรงพยาบาลที่รองลงมาแต่มีศักยภาพในการรักษา ซึ่งจะรอคิวไม่นานเหมือนกับโรงเรียนแพทย์” รศ.นพ.เอกภพ กล่าว

รศ.นพ.เอกภพ กล่าวว่า ขณะนี้แพทย์และโรงพยาบาลได้พูดคุยกันแล้วว่าจะส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลในเขตสุขภาพได้อย่างไร ควรส่งไปที่ไหน มีทางเลือกอะไรบ้าง ที่สำคัญคือเตรียมการระบบข้อมูลอย่างไรเพื่อวางแผนในการรักษา ขอย้ำว่าทุกโรงพยาบาลให้การรักษาในมาตรฐานเดียวกัน ยืนยันว่าโรคมะเร็งไม่ใช่ต้องรักษาเฉพาะโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่โรงพยาบาลระดับรองๆ ลงมา เช่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ก็มีความสามารถที่จะดูแลรักษาโรคมะเร็งได้ตามมาตรฐานเช่นเดียวกัน

 

ข่าวที่น่าสนใจ

แรงงานขอนายจ้าง "ให้ลูกจ้างหยุดงานปีให"ม่ อย่าอ้างโควิดแล้วให้ทำงานต่อ