ราคา “รถไฟฟ้า” บทพิสูจน์ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

by ThaiQuote, 18 มกราคม 2564

อีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งมวลชน อย่าง รถไฟฟ้า กำลังจะกลายเป็นระบบหลักสำคัญของการเดินทางในเมืองหลวง อย่าง กทม. แต่กลับพบว่ารถไฟฟ้า มีอัตราค่าบริการที่สูงจนส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ

จากการที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เผยแพร่ประกาศ การกำหนดราคาค่าโดยสารโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียวใหม่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 ที่ผ่านมา โดยมีราคาปรับขึ้นเพิ่ม สถานีละ 3 บาท ทำให้มีอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดเส้นทาง ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 16 ก.พ.64 นี้

แน่นอนการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของอัตราดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเป็นเส้นทางหลักในการสัญจร และปิดโอกาสการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนของผู้มีรายได้น้อยอย่างไม่ต้องสงสัย

ประเด็นปัญหาดังกล่าว กระทรวงคมนาคมระบุว่า ได้เคยทำหนังสือถึง กทม. เพื่อกำหนดราคารถไฟฟ้าร่วมกัน ในราคาที่เป็นธรรม และไม่เป็นภาระกับประชาชนไปแล้ว โดยอิงจากมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย.61 ซึ่ง กทม.ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่เป็นไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท

แต่กระทรวงคมนาคม ขอให้ชะลอการขึ้นราคาไว้ก่อน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทย และกทม. ปรับแก้ไขสัญญารถไฟฟ้า ในแนวทางที่เหมาะสม พร้อมกับขอให้ส่งข้อมูล เรื่องผลการศึกษาโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และต้นทุนโครงการ สู่การพิจารณาที่จะนำไปสู่การปรับลดราคาค่าโดยสารตลอดสายให้ต่ำกว่าราคา 65 บาท ให้สอดคล้องกับราคาตลอดสายของรถไฟฟ้าอื่นๆ เช่น สีน้ำเงิน สีชมพู สีเหลือง สีม่วง ที่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ 42 บาท


สำหรับอัตราใหม่ รถไฟฟ้าบีทีเอส แบ่งเป็น สายสีเขียวเข้ม (สุขุมวิท) สถานีคูคต-เคหะสมุทรปราการ รวม 47 สถานี ระยะทาง 53.58 กม.กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง 1.ช่วงสัมปทานบีทีเอส หมอชิต-อ่อนนุช (16 สถานี 17 กม.) ราคา 16-44 บาท (คงราคาเดิม) ราคาเฉลี่ย 2.59 บาท/กม. 2.ส่วนต่อขยาย หมอชิต-คูคต (16 สถานี 19 กม.) ราคา 15-45 (ปรับเพิ่มสถานีละ 3 บาท) เฉลี่ย 2.37 บาท/กม. 3.ช่วงส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-เคหะฯ (14 สถานี 17.58 กม.) ราคา 15-45 บาท (ปรับเพิ่มสถานีละ 3 บาท) เฉลี่ย 2.56 บาท/กม.

สายสีเขียวอ่อน (สีลม) สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า รวม13 สถานี (รวมสถานีสยาม จุดเชื่อต่อสายสุขุมวิท-สีลม) ระยะทาง 14 กม. แบ่งเป็น 2 ช่วง 1.สัมปทานบีทีเอส สนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน (7 สถานี 6.5 กม.) ราคา 16-44 บาท เฉลี่ย6.7 บาท/กม. ช่วง 2.สะพานตากสิน-บางหว้า (6 สถานี 7.5 กม.) ราคา 15-33 บาท (ปรับเพิ่มสถานีละ 3 บาท) เฉลี่ย 4.4 บาท/กม.

โดยหากคิดราคารวมใหม่ตลอดสายสีเขียวเข้ม 104 บาท/เที่ยว (จากคูคต-เคหะฯ แบ่งเป็น ค่าแรกเข้า 15 บาทแรก + 30 บาท (คูคต-หมอชิต) + 44 บาท (หมอชิต-อ่อนนุช) + 30 บาท (อ่อนนุช-เคหะฯ) ระยะทางรวม 53.58 ราคาเฉลี่ย 1.94 บาท/กม.

ขณะที่ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกอบด้วยสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 47กม. ราคา 17-42 บาท (คิดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นสถานีละ 2 บาท เว้นสถานี 1,4,7,10 คิดเพิ่ม 1 บาทเป็น 3 บาท) โดยคิดค่าโดยสารสูงสุด (42 บาท ตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป) รวม 38 สถานี จากสถานีท่าพระ-หลักสอง (ปี 65 เพิ่มอีก 5 สถานี ระยะทาง 8 ก.ม. จากหลักสอง-พุทธมณฑลสาย 4) เฉลี่ยราคา 0.89 บาท/กม.

สายสีม่วง ราคา 14-20 บาท 16 สถานี จากสถานีเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23.6 กม. เฉลี่ยราคาประมาณ 0.84 บาท/กม.

ทั้งนี้ข้อมูลจากผลการศึกษาของดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

พบว่าค่ารถไฟฟ้าตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP) ซึ่ง กทม.มีราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ไทยยังมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์ สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ

และหากเปรียบเทียบด้วยโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้ใช้รถไฟฟ้าในไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท/กม. คิดเป็น 0.478 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้วเช่นกัน พบว่าสูงกว่าสิงคโปร์ 6 เท่าและสูงกว่า ฮ่องกง 3 เท่า

ขณะที่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษอยู่ที่ 12.4 บาท/กม. หรือ 0.402 ดอลลาร์ ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท หรือ 0.075 ดอลลาร์ และฮ่องกง 4.08 บาท หรือ 0.155 ดอลลาร์

แน่นอนว่าราคาดังกล่าวจะทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยสูงขึ้นอีก เมื่อเปรียบเทียบจาก ตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน

ส่วนสิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน และลอนดอนมีรายได้รายต่อหัวที่111,032 /เดือน

นอกจากนี้ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ยังได้ระบุถึงอัตราความสามารถจ่ายค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 11.69 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งต่ำกว่าค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 28.30 บาทมากกว่า 1 เท่า ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางพบว่ามีความสามารถในการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20.33 บาท/คน/เที่ยว


ดร.สุเมธ กล่าวว่า ไทยสามารถลดต้นทุนรถไฟฟ้าได้ ด้วยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร พร้อมทั้งควรกำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน และกลไกปรับราคาที่ต้องมีการทบทวนทั้งต้นทุนและปริมาณการใช้บริการ อย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นและระยะยาว

บทสรุปของอัตราค่ารถไฟฟ้าในไทย ด้วยนิยามของระบบขนส่งมวลชน ย่อมไม่อาจวัดผลได้ด้วยกำไรหรือขาดทุน แต่หากวัดกันด้วยการตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งราคาที่แพงกว่าประเทศอื่นๆได้สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย มีแนวโน้มการขายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


บทความที่น่าสนใจ