“ดอยตาปัง” ชุมชนสร้างสุขได้ด้วย “การท่องเที่ยว”

by ThaiQuote, 19 มกราคม 2564

“ทุกอย่างต้องหยุด หลังมีประกาศคำสั่งผู้ว่าฯ เราอาจต้องรออีก 45 วัน จึงจะกลับมาเปิดให้ขึ้น ดอยตาปัง กลางเดือนกุมภาฯ น่าจะเปิดได้ ส่วน “ตาปัง” ก็ยังมีความสุขดี” เสียปลายสาย ของ “ผู้ใหญ่ประเสริฐ ภักดี” บอกกับเรา เมื่อฉันโทรไปถามสารทุกข์สุขดิบของ ชาวกองทุนหมู่บ้านบนดอย ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร หลังการแพร่ระบาดของโควิด19 รอบที่ 2

น้ำเสียงที่ได้ยิน บอกได้ว่า “ยังมีหวัง” แม้ทุกวันนี้สมาชิกชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนเป็นงานหลัก ต้องออกไปหารายได้เสริมจากการรับจ้าง งานก่อสร้าง และอื่นๆ ทำไปก่อนในระหว่างรอก็ตาม

หมู่บ้านบนดอย คือที่ตั้งของ “ดอยตาปัง” จุดชมวิวที่งดงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งสวยไม่แพ้ดอยใดๆ ในภาคเหนือ และถูกยกย่องให้เป็นจุดชมวิว Unseen 1 ใน 3 แห่งของภาคใต้

ก่อนหน้านี้ ฉันออกเดินทางร่วมคณะกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ “กทบ.” เพื่อลงพื้นที่ดูการสร้าง “ท่องเที่ยวชุมชน” ให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่ตนเองมีอยู่ “ไม่ต้องออกไปขายแรงงาน ไปทำอาชีพอื่นๆต่างถิ่น และสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัว” นี่คือแกนสำคัญของการสร้างท่องเที่ยวชุมชน ในช่วงเวลาที่โควิดเริ่มซาจากการระบาดระลอกแรก


ในครั้งนั้น ฉันได้พบกับเจ้าของดอยตัวจริง อย่าง “ตาปัง” ชาวปากน้ำโพ นครสวรรค์ ชายสูงอายุ รูปร่างสันทัด แกร่ง และยิ้มแย้มอยู่ในที อย่างคนอารมณ์ดี สะพายกล่องใส่ยากันยุง ติดไว้ข้างตัว ระหว่างต้องทำงานในสวนผลไม้ของแก

“ตาปัง” เล่าว่า ตัวแกคือผู้บุกเบิกกลุ่มแรกที่เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2528 ในขณะที่บริเวณทั้งหมดยังเป็นป่ารกทึบ ความเจริญไม่อาจเอื้อมเข้าถึง และเป็นตัวแกเอง ที่แนะนำจุดชมวิวบนดอยนี้ให้คนในหมู่บ้านได้รู้จัก จนกลายเป็นแกนหลักการท่องเที่ยวของชุมชนในปัจจุบัน ทุกคนจึงต่างพร้อมใจเรียกภูเขาที่อยู่สูงขึ้นไปจากบ้านแกว่า “ดอยตาปัง”


ฉันแอบมองเข้าไประหว่างร่องไม้ของประตูบ้านไม้ครึ่งปูน 2 ชั้น ที่ตาปังใช้อาศัยอยู่ ซึ่งมีภาพ “ในหลวง ร.9” อยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินปีเก่าๆ หรือรูปในฉากไม้ซึ่งตาปัง เก็บสะสม ตาปัง บอกว่า “แกรักในหลวง ในหลวงได้มอบสิ่งต่างๆ ให้กับชีวิตแกมากมาย แม้กระทั่งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย บนผืนป่าอนุรักษ์ในปัจจุบัน”

น่าเสียดาย ด้วยเวลาที่รีบเร่ง ในระหว่างที่ฟังเรื่องเล่าจากแก ทำให้ฉันไม่มีโอกาสได้บันทึกภาพภายในบ้านหลังนั้น

 


“ตาปัง” เล่าชีวิตของแกอย่างเรียบง่าย ด้วยแววตาแห่งความสุข แต่เรารู้ว่ามันไม่ง่ายเลย ตลอดเวลา 35 ปีที่ผ่านมา คนพลัดถิ่นต้องจากบ้านเกิดของตนเอง มาใช้ชีวิตต่างที่แปลกภาษา โดยมีเพียง 2 มือแผ้วถางทางป่า สุดแล้วแต่จะมีแรงทำ ตามที่ทางการในสมัยนั้นอนุญาต เพื่อสร้างชีวิตใหม่

ทุกวันนี้ “ตาปัง” อาศัยอยู่บ้านหลังนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยคนเดียว ดูแลสวนทุเรียน มังคุด เงาะ สะตอ กาแฟ และยางพารา ปลูกทุกอย่างแบบ “สวนสมรม” ในพื้นที่กว่า 10 ไร่ จากอดีตที่มีเพื่อนบ้านกว่า 25 หลังคาเรือน ส่วนเมีย และลูก ก็ย้ายลงมาอยู่ข้างล่างพร้อมกับเพื่อนบ้าน เพราะน้ำไฟและความสะดวกเข้าถึง

ภาพภูเขาลูกเล็กลูกน้อยซ้อนทับกันไปคล้ายกับ ภูลังกา จ.พะเยา สวยงามเกินคำบรรยายถึงจุดชมวิวบนดอยตาปังได้ หากจะบอกว่า “ตาปัง” คนนครสวรรค์ ได้ค้นพบ “ดินแดนแห่งสวรรค์” ของแกแล้ว ก็คงไม่ใช่การกล่าวที่เกินเลยไป


ที่นี่มีโฮมสเตย์ 2 แห่ง ซึ่งเป็นของสมาชิกกองทุน โดยรายได้ของโฮมสเตย์นั้นอยู่ที่ประมาณ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน หากที่พักไม่พอ ทางชุมชนยังสามารถกระจายนักท่องเที่ยวให้กับเครือข่ายหมู่บ้านใกล้เคียง เช่นที่ เขาทะลุ เขาปีบ เป็นต้น รวมถึงหากใครชอบกางเต้นท์ ก็ยังมีลานลมโชย และจุดกางเต้นท์บ้านตาปัง ที่สามารถรองรับได้


ผู้ใหญ่ประเสริฐ ยังบอกกับเราว่า พื้นที่ “ดอยตาปัง” ถือเป็นส่วนหนึ่งของป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านได้อาศัยเป็นที่ทำกินมาตั้งแต่อดีต แน่นอนสิ่งที่พวกเขาไม่เคยลืม คือ การอนุรักษ์พื้นที่ให้คงสภาพเดิมเหมือนก่อนนี้ที่เคยเป็น


“ในบางครั้ง ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ซึ่งเสื่อมโทรม ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามล่าสัตว์ นี่คือกฎของชุมชน ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นเราขอเพียงแค่ว่าเมื่อคุณขึ้นไปเที่ยว ไปกางเต้นท์สัมผัสความเป็นธรรมชาติแล้ว ขอให้ช่วยนำเอาขยะที่คุณเอาขึ้นไปลงมาทิ้งยังภายนอกด้วย”

หมู่บ้านบนดอย ที่นี่ เริ่มจากต้นทุนธรรมชาติอย่าง “ดอยตาปัง” พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ก่อนจะนำเอาวิถีพื้นถิ่น อื่นๆร้อยเข้าด้วยกัน เราจึงได้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนที่กลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับการท่องเที่ยว ได้อย่างไม่เคอะเขิน ผ่านการบริหารและจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจรด้วยคนในชุมชนเอง

 

บทความที่น่าสนใจ