เปิดมุมมอง “อธิบดีกรมเจรจาฯ” ทิศทางการค้าไทยจะเป็นอย่างไร ในยุค “โจ ไบเดน”

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2564

สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อ “โจ ไบเดน” ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการ หลังผ่านพิธีสาบานตน

หากย้อนกลับในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยนโยบายหาเสียง “America First” ที่จะดำเนินการอะไรคนอเมริกันต้องมาเป็นอันดับแรก จึงทำให้สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นซาตานในสายตาของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำสงครามการค้ากับจีนที่สร้างความปั่นป่วนต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก ทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า, การแบนแอปพลิเคชันจากผู้ผลิตจีน เช่นเดียวกับไทยที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดอันดับต้น ๆ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จากโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็น โจ ไบเดน ย่อมเกิดการคาดหวังอยากจะเห็นทิศทางนโยบายการค้าว่าเป็นอย่างไร

บทความนี้ ThaiQuote จะพามาฟังมุมมองของนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงอนาคตการค้าไทย-สหรัฐฯ ต่อไปในอนาคตจะมีทิศทางอย่างไร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าประเมินคร่าว ๆ การเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดน เรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการจ้างงาน

แต่ในขณะเดียวกันเท่าที่ติดตามนโยบายก็พบว่า โจ ไบเดน เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำการค้า ซึ่งจะมีเวทีหลักสำคัญ คือองค์การการค้าโลก (WTO) มีการประเมินว่า โจ ไบเดน จะกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง หลังปัจจุบันมีอันต้องหยุดชะงัก การเจรจา ข้อพิพาทต่าง ๆ ไม่คืบหน้า เนื่องจากประเทศหลัก ๆ อย่างสหรัฐฯ มีปัญหา

 

 

“เราประเมินว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้ามาใน WTO ซึ่งเป็นเวทีที่มีความสำคัญสำหรับกำหนดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ มีสมาชิกทั่วโลก 164 ประเทศ ถ้าสหรัฐฯ กลับมาให้ความสำคัญกับเวที WTO มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับการค้าโลก และการค้าของประเทศไทย” นางอรมน กล่าว

ขณะเดียวกัน หากไบเดนให้ความสำคัญในเรื่องกระชับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ สหรัฐฯ อาจจะหันมาให้ความสำคัญกับข้อตกลง FTA มากขึ้น ย้อนกลับไปภายใต้การบริหารงานของพรรคเดโมแครตเคยให้ความสำคัญกับเวที TPP ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น CPTPP พอมาถึงสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่ามีการถอนตัว

“เรื่องนี้ต้องติดตามดูว่าสหรัฐฯ จะแนวทางการดำเนินการอย่างไรกับ CPTPP หรืออีกทางหนึ่งสหรัฐฯ อาจจะสร้างเวทีขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะทำข้อตกลงแบบ FTA ก็มีความเป็นไปได้ สำหรับการสร้างพันธมิตรทางการค้าสหรัฐฯ อาจจะมีกลไกใหม่ ๆ เข้ามาให้ประเทศไทยได้พิจารณา”

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะจบลงอย่างไร

นางอรมน มองว่าเรื่องนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อย่าลืมว่าใครจะเข้ามาบริหารก็จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีกลไกเข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดการจ้างงานในสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการค้ากับประเทศคู่ค้า ทำอย่างไรให้ลดการขาดดุล โดยที่ผ่านมา ทรัมป์ ได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ออกมาใช้กับประเทศที่สหรัฐฯ มองว่าทำให้พวกเขาต้องขาดดุล

 

 

ประเด็นเหล่านี้ใครมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย่อมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โจ ไบเดน อาจมีวิธีการแก้ไขปัญหาแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยนโยบายหนึ่งเรื่องที่เห็นได้ชัด คือการดูแลมาตรฐานสิ่งแวดล้อม, แรงงาน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเดโมแครต

ขณะเดียวกันการสร้างพันธมิตรก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยไทยอยู่ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียที่มีข้อตกลง RCEP

 

“โจ ไบเดน” เน้นสร้างพันธมิตรทางการค้า

จะเห็นได้ว่า นโยบายด้านการค้าเปรียบเทียบระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน มีความแตกต่างอยู่พอสมควร โดยทรัมป์นั้นจะเป็นไปในลักษณะดุดัน ส่วนโจ ไบเดน คาดการณ์ว่าเจ้าตัวจะหันมาเจรจามากขึ้น พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรทางการค้าขึ้นมา เพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่กับความน่าสนใจของแต่ละตลาดว่าสำคัญมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ไทยไม่ควรมองข้าม คือ การที่สหรัฐฯ อาจจะยังคงกำหนดเงื่อนไขกดดันไทยให้ทำตามมาตรฐานของสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ เช่น แรงงาน เพื่อแลกกับการให้สิทธิ์ GSP ตามที่เคยใช้กับไทยไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการเข้าไปเปิดตลาดในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการ SME ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค

 

เรื่องที่น่าสนใจ

ไขข้อสงสัย ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 ควรฉีดหรือไม่ฉีด?