คุยกับ “คามิน เลิศชัยประเสริฐ” ศิลปะ กำลังเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย

by ThaiQuote, 1 กุมภาพันธ์ 2564

กลางเดือนที่ผ่านมา ไวรัลเรื่องประติมากรรม “ยายสา” ส่วนหนึ่งในโครงการงานแสดงศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 บริเวณชายหาดอ่าวนาง จ.กระบี่ ได้กลายเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์ เมื่อ “ยายสา” กำลังจะถูกย้ายออกจากพื้นที่ หลังครบกำหนดการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดแสดงผลงานในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

“ยายสา” หรือ ชื่อผลงาน “No Sunrise No Sunset” เป็นผลงานของ “อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ” ยืนผ่านวันเวลามากกว่า 2 ปี ก่อนที่จะมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ จนเป็นข่าวดัง และทำให้ทางเทศบาลเมืองกระบี่ขอต่ออายุการแสดงผลงานออกไปอีก 1 ปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัด


เมื่อศิลปะได้รับใช้การท่องเที่ยว

ไม่บ่อยนักที่จะเกิดปรากฏการณ์ ของประติมากรรมผลงานทางศิลปะ ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการท่องเที่ยวในพื้นที่หนึ่งๆ ได้ แต่วันนี้ “ยายสา” ได้ทำให้เราเห็นว่า ศิลปะ ก็มีอิทธิพลกับการท่องเที่ยวได้เช่นกัน

“งานศิลปะ หากมีประโยชน์ในการช่วยเหลือเรื่องของการท่องเที่ยวได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในฐานะที่งานชิ้นหนึ่งจะได้มีส่วนร่วมในด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากการตอบโจทย์ทางศิลปะเพียงอย่างเดียว

โดยส่วนตัว ผมมองว่าถ้าเห็นว่ายังมีประโยชน์ก็สมควรจะให้ตั้งอยู่ต่อไป ส่วนหน้าที่ของผมมันจบไปแล้ว ผมนำเสนองานตามที่เขาให้ผมทำอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลพลอยได้ หากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็ยินดีที่จะให้คงอยู่ไป”

“อาจารย์คามิน” บอกกับเรา เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่ผลงานของตัวเขานั้น ได้สร้างให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวใหม่ขึ้นในจังหวัดกระบี่


“ยายสา” ความจริงและสิ่งสมมุติ

“No Sunrise No Sunset” เป็นงานศิลปะเฉพาะพื้นที่ (Site-specific art) โดยออกแบบเป็นพาวิเลียนกระจกสะท้อนที่สมมุติว่าเป็นถ้ำ ยื่นออกไปในทะเล มีประติมากรรม “ยายสา” ยืนอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เบื้องหลังเป็นพื้นน้ำทะเล ท้องฟ้าและพระอาทิตย์ตก โดยมีไอเดียมาจาก ภาพเขียนถ้ำผีหัวโต มิสเตอร์กระบี่ (Mr.Krabi)

“มันเป็นไอเดียของการเล่าเรื่องด้วยแนวคิดพื้นที่ที่ไม่มีอยู่จริง หรือมีอยู่แต่มองไม่เห็น พื้นที่ซึ่งดูพระอาทิตย์ขึ้น-ตก นั้นมันมีอยู่จริงหรือเปล่า เพราะความเป็นจริงคือโลกหมุนรอบตัวเอง ผมจึงทำให้กล่องนี้เป็นเหมือน “ไทม์แมชชีน” ที่เรามองไม่เห็น อยู่ข้างนอกเราจะมองไม่เห็นว่ามีกล่องอยู่ เพราะมีรีเฟล็กซ์ (Reflex) สะท้อนเป็นภูเขา แต่เมื่ออยู่ข้างในจะรู้สึกว่าเป็นถ้ำ

“ยายสา” เป็นยายที่อยู่ข้างบ้านผมที่ เชียงใหม่ เป็นคนจริง แกอยู่คนเดียว สามีเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลูกชายก็ไปทำงานในเมือง นานๆ กลับมาครั้งนึง ผมเคยคุยกับแกว่า อยู่คนเดียวไม่กลัวหรอ แกบอกกับผมว่า “อยู่คนเดียวไม่กลัวหรอก ตายก็ไม่กลัว อยู่ก็ไม่กลัว” ผมก็ประทับใจคำพูดดังกล่าว โดยเคยเอามาทำหนัง ไปจัดแสดงที่เมืองจีน ผมก็เอา 2 เรื่องมาบวกกัน โดยเอา ยายสาไปยืนคอยสามี ก็เหมือนกับว่า Mr.Krabi ที่อาจจะเป็นคนจริงๆ ในจินตนาการของผม

“ยายสา” จึงกลายเป็นการเอาเรื่องจริงมารวมกับเรื่องแต่ง โดยมีความหมายการพูดถึง “สัจจะ” ซึ่งมี “ปรมัตถ์สัจจะ” ความจริงแท้ถาวร ว่าเราทุกคนต้องตาย มันเป็นสัจธรรมแท้จริงไม่เปลี่ยนแปลง และ “สมมุติสัจจะ” ของนอกกาย ที่พอตายแล้วเราก็เอาไปไม่ได้ ซึ่งทั้ง 2 อย่าง มันเป็นความจริงคู่ขนาน


มนุษย์ทุกคน เกิดมา ก็ขวนขวายหาสัจจะ และพยายามทำความเข้าใจว่า เกิดมาทำไม? ตายแล้วไปไหน? อยู่อย่างไรให้มีคุณค่า?

ผมจึงเปรียบเทียบให้คนที่เข้ามาชมงานนี้ ก็เหมือนสามีของ “ยายสา” ที่ออกไปหา “สัจจะ” แล้วจริงๆ “ยายสา” ก็คือ “สัจจะ” เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึง ความรัก ความเมตตา ความซื่อสัตย์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องการเรียนรู้ เมื่อทุกคนได้เจอ “ยายสา” เจอภาพน้ำสะท้อนท้องฟ้า มันทำให้เราไม่รู้ว่า ที่เห็นอยู่นั้น มันเป็นภาพของอะไร น้ำ หรือ ท้องฟ้า ทุกอย่างมันเป็นจริง แต่ก็เป็นความลวงอยู่ในนั้น


Art for Air ศิลป์สำนึก ในวันกรุ่นควัน PM2.5

“ผมเชื่อว่าคนที่เห็นงานศิลปะ สามารถที่จะเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องต่างๆได้ งานศิลปะที่ดีจะสร้างสำนึก เหมือนอย่าง “ยายสา” สามารถสร้างสำนึกเรื่องความรัก ความซื่อสัตย์ ความบริสุทธิ์ใจของผู้หญิงที่มีต่อความรัก มันเลยทำให้สังคมที่เรื่องนี้กำลังขาดหายไป ได้กลับมาเฝ้าดู หรือมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นตัวแทนของสิ่งที่เขาไม่มี

ช่วงนี้ผมกำลังทำโครงการ Art for Air ร่วมกับ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และหลายๆองค์กร นำเอาศิลปะมากระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เชียงใหม่ยังคงเผชิญกับปัญหานี้อยู่ โดยจะมีศิลปินร่วมงานประมาณ 64 คน

นิทรรศการศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ART for AIR จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.- 30 เม.ย.64 ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองเก่า เทศบาลนครเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัย อ.สันกำแพง

“ศิลปะ” สร้างพื้นที่ให้สิ่งที่ขาดหาย

เหตุที่เราไม่อาจรับรู้เป็นตัวเลขหรือสถิตได้ว่า การจัดงานนิทรรศการศิลปะ หรือการสร้างงานศิลปะขึ้นมา 1 ชิ้น แล้วมันจะช่วยให้คนมีจิตสำนึกเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน อาจารย์คามิน ช่วยขยายความหมายดังกล่าวให้เราฟังว่า
“ศิลปะ เหมือนการเปิดพื้นที่ให้คนตระหนักถึงสิ่งที่มันอาจจะเป็นนามธรรม หรือสิ่งที่เคยมีแล้วหายไป สิ่งที่ควรจะมีแต่ไม่มี ศิลปะช่วยเติมเต็มในพื้นที่ที่มันหายไป

สังคมในวันนี้ สิ่งที่ขาดหายไป คือ จิตสำนึก เป็น ความรัก ความเมตตาที่เรามีต่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยมีสาเหตุที่ขาดสิ่งเหล่านี้ไป เพราะมันเป็นธรรมชาติของโลกทุนนิยม New Normal ทุกคนต้องเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ

เรามองทุกอย่างด้วยเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่มองคุณค่าที่เป็นนามธรรม ความสุข ความเมตตา ความเอื้ออาทร มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่มันทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เราจะมองเรื่องส่วนตัว เรื่องปากท้อง แต่ลืมไปว่า ถ้าเรามีเงิน แต่เราไม่มีการแบ่งปันมันก็ไม่เกิดความสุข ความสุขจะมีค่าก็ต่อมาเมื่อได้รับการแบ่งปัน

ถ้าคุณมีความสุขอยู่คนเดียว แต่คนในครอบครัวคุณมีความทุกข์ เพื่อนบ้านคุณเดือดร้อน หรือโลกใบนี้ไม่มีความสุข แล้วคุณจะอยู่ได้อย่างไร

เรื่องนี้ ระบบการศึกษา หรือวิธีคิดแบบร่วมสมัย ถูกสอนให้มองแยกส่วน ไม่ได้มองให้เป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นศิลปะ สามารถจะสร้างพื้นที่เพื่อให้เราได้คิด เขียน ตระหนักรู้ถึงมันได้” อาจารย์คามินบอกกับเราในตอนท้าย

 

บทความที่น่าสนใจ