ปรับทัพ! “สภาพัฒน์” เล็งใช้ “แผนแม่บทเฉพาะกิจ” สู้โควิด ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

by ThaiQuote, 10 กุมภาพันธ์ 2564

มองภาพรวมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายหลัง โวคิด-19 กับ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ เมื่อต้องงัดแผนแม่บทเฉพาะกิจ อุ้มประเทศไทยยุค New Normal

คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันของประเทศไทย กำลังจะเข้าสู่ภาวะคลี่คลายได้ในอีกไม่นานนี้ ภายหลังจาก วัคซีนโควิด-19 กำลังจะเข้ามายังไทย ลอตแรก ในปลายเดือน ก.พ. จำนวน 200,000 โดส ในเดือน มี.ค. อีก 800,000 โดส และเดือน เม.ย. อีก 1,000,000 โดส

หลังจากนั้นคงจะมีการพูดถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่บางส่วนได้ดำเนินการมาตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก ซึ่งยังเซ็ตอัปได้ไม่เต็มที่ เมื่อเราเผชิญกับการะบาดในระลอกใหม่ จนทำให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง

เรื่องของการเซ็ตอัปแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม แน่นอนว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากพูดถึงหน่วยงานที่เป็นมันสมองของแผนทั้งหลายเหล่านี้ คงต้องยกให้ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ภายใต้การนำของ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ช่วงก่อนหน้าการระบาดระลอกใหม่ เราพบว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจกำลังปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รายได้ภาคเกษตร ภาคการบริการ นั่นคือก่อนที่เราจะเผชิญกับการะบาดระลอกใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่ามาเร็วและแรง แต่มาตรการด้านสาธารณสุขของเราก็รับมือได้ดี เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว ดังนั้นมาตรการควบคุมการปิดกิจการจึงไม่เหมือนกับปีที่แล้ว โดยเรายังคงเปิดให้ภาคธุรกิจในบางพื้นที่ดำเนินการต่อไปได้” เลขาฯ สภาพัฒน์ กล่าวถึงมาตรการการจัดการโควิดของรัฐบาล ที่ยังคงเปิดพื้นที่เศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดยังพอได้หายใจอยู่บ้าง

ปรับกระบวนทัพใหม่รับความเปลี่ยนแปลง

“วันนี้เราต้องปรับทัพใหม่ ด้วยมาตรการฟื้นเศรษฐกิจอย่าง “คนละครึ่ง” ทั้ง 2 รอบ และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งช่วยให้สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง จากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก เมื่อมีการระบาดรัฐจึงต้องอัดมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมผ่าน “เรารักกัน”

โดยก่อนหน้านี้เราได้เตรียมประกาศ การใช้งบประมาณจากแผนฟื้นฟูวงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนหนึ่งประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทที่จะกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ก็ต้องระงับไว้ก่อน ซึ่งระยะเวลาของเงินกู้มีกำหนดก่อนเดือน ก.ย.64 อาจจะต้องขยายไปถึง ธ.ค.64 โดยโครงการในส่วนของวงเงินนี้ ได้เสนอมาโดยภาคประชาชน เอกชน ผ่านระดับจังหวัดขึ้นมา เพื่อใช้ในการเติมเต็มในท้องถิ่นและชุมชน

ดังนั้นเราเห็นภาพชัดว่า การฟื้นฟูในรอบนี้จะต้องอัดเม็ดเงิน ลงไปเพื่อดูแลในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ทั้งเรื่องของวิสาหกิจ และโอท็อปของชุมชน และส่วนที่ 2 คือ ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดหลักๆ ในภูมิภาค”

เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวถึงแผนการที่จะสานต่อ ซึ่งอาจมีการปรับการดำเนินการในบางส่วนแต่ยังคงพุ่งเป้าหมายหลักไปยังท้องถิ่น และชุมชน


อัดเม็ดเงินกระจายในชุมชนมากขึ้น

สำหรับแผนการดังกล่าว คือ 1.การสร้างกำลังซื้อในระดับภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการกระตุ้นการบริโภค โดยโฟกัสเฉพาะให้ตรงกับพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น ในจังหวัดที่ยังมีศักยภาพการพัฒนาน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องประคองจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เช่น กระบี่ ภูเก็ต ให้เดินหน้าต่อไปได้

2.กระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งต้องพึ่งพากลไกอย่างโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” และล่าสุดคือ “เรารักกัน”

3.ผลักดันงบประมาณฟื้นฟู ไปสู่การจ้างงานในพื้นที่ อาทิ การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ การจ้างงานในระดับ SME ที่ได้รับผลกระทบ การรักษาระดับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้จำเป็นจะต้องทำให้ตรงจุดกับกลุ่มคนที่ต้องการมากที่สุด เพื่อลดผลกระทบ รวมทั้งสร้างโอกาสการเข้าถึงให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการของรัฐได้

แน่นอนว่าโครงการจ้างงาน และการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ จะต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูในระยะสั้น และวางระบบไปสู่ระยะยาวควบคู่ไปด้วย

ผุด “แผนแม่บทเฉพาะกิจ” ฉบับประวัติศาสตร์

ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ เองไม่เคยกำหนดแผนแม่บทเฉพาะกิจมาก่อน โดยปัจจุบันประเทศไทยใช้แผนแม่บทฉบับที่ 12 หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564”

“การออกแผนแม่บทเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ซึ่งเป็นแผนที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น แตกต่างจากแผนแม่บทฉบับอื่นๆ ที่มีกรอบระยะเวลา 5 ปี อย่างเช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565-2569 ซึ่งเราได้วางแนวทางการเชื่อมโยงแผนฉบับที่ 12 ไปสู่แผนเฉพาะกิจ และแผนฉบับที่ 13 ด้วยการ 1.ปรับจุดอ่อน เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถรองรับ New Normal ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความยั่งยืน และ2. เสริมจุดแข็งเดิม สร้างจุดแข็งใหม่ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น”
เลขาฯ สภาพัฒน์ เผยถึงแผนแม่บทฉบับพิเศษ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแผนฉบับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย


พูดถึงเรื่องแผนบทเฉพาะกิจ สภาพัฒน์ได้กำหนด แบ่งออกเป็น 4 เรื่องด้วยกันคือ

1.ด้านการเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งหวังที่จะลดช่องว่างระหว่างฐานะ เพื่อให้คนที่อยู่ด้านล่างยกตัวเองขึ้นมาให้มีรายได้และอาชีพ และการปรับกฎระเบียบเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันในสังคม

2.การพัฒนาอุตสาหกรรม จะต้องมีการปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าต่อจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงปรับตัวไม่สูงมากนัก ดังนั้นตลาดนักท่องเที่ยวจึงยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่จะปรับไปสู่กลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้นแทน

3.การพัฒนาคน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทักษะ และยกระดับทักษะ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน

การใช้งานแอปพลิเคชันผ่านโครงการของรัฐ อย่าง “คนละครึ่ง” แอปฯ “เป๋าตังค์” ซึ่งพบว่า ระบบดังกล่าวได้เชื่อมโยงข้อมูลของคนไทยกว่า 20 ล้านคนไว้ในระบบเดียว ต่อจากนี้อาจจะมีการพัฒนาโครงการ ให้ร้านค้า หรือบริการที่เข้าร่วม นำสินค้าของตนมาขาย พร้อมบริการรับส่งผ่านในระบบนี้ได้ รวมทั้งการดึงศักยภาพของผู้ที่เรียนจบมาในด้านต่างๆ ให้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

4. การส่งเสริมผ่านปัจจัยที่เป็นตัวช่วย กฎระเบียบ หรือกลไกต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาบุคลากร ชุมชน ท้องถิ่น และเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น

“เราพยายามมองหาโอกาสและความสอดรับกับทิศทางโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเราพยายามใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยกิจกรรมในเรื่องของสร้างมูลค่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการดำเนินการไปบ้างเเล้ว เพื่อทำให้เกิดมูลค่าสูงสุด ชาวบ้านได้ประโยชน์มากที่สุด

เราต้องสร้างจุดสนใจ ให้กับสินค้าที่ผลิตอยู่ในชุมชนของตัวเอง ถามว่าเรามีความอดทนพอที่จะไม่ส่งสินค้าที่มีอยู่ ซึ่งไม่เหมือนใคร ออกไปขายภายนอกได้หรือไม่ แล้วพยายามชักชวนให้คนภายนอก ต้องมาซื้อจากในชุมชนแทน นี่คือการสร้างมูลค่า ที่จะขยายผลไปยังการสร้างรายได้อื่นๆให้กับชุมชนได้อีก เรื่องนี้ต้องอาศัยท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นมาทำงานร่วมกัน

ผนวกกับ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมส่วนใหญ่ที่กำลังแล้วเสร็จ ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นและรัฐบาลต้องอาศัยความเชื่อมโยงนี้ คิดนอกกรอบถึงการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเส้นทางคมนาคมเหล่านี้วิ่งผ่าน เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจระดับฐานราก” เลขาฯสภาพัฒน์ กล่าวกับเราในตอนท้าย

จะเห็นไปว่าไม่ใช่เพียงแต่การวางแผนเชิงนโยบายเท่านั้น ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งได้ แต่เมื่อภาครัฐลงมือทำในระดับกว้างแล้ว ระดับท้องถิ่น ชุมชนเองก็จำเป็นที่จะต้องมีแรงกระตุ้นจากภายในให้เกิดความร่วมมือและพร้อมที่จะพัฒนาต่อไปร่วมกันด้วย

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“บิตคอยน์” มูลค่าพุ่ง ทำพลังงานโลกสั่นคลอน