“ผ้าป่าถั่วเขียว” กิจกรรม “คนปั่นจักรยาน” ร่วมฟื้นฟูผืนป่า “ห้วยขาแข้ง”

by ThaiQuote, 23 กุมภาพันธ์ 2564

กิจกรรมเล็กๆ ของกลุ่มนักปั่น “ผ้าป่าถั่วเขียว” สู่การเป็นส่วนหนึ่งของการนำร่องฟื้นฟูผืนป่าอนุรักษ์ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ป่ามรดกโลก “ห้วยขาแข้ง”

ในวันที่ปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับชาวบ้านบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยังคุกรุ่น มองไปอีกด้านหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ชายป่ามรดกโลก “ห้วยขาแข้ง” มีกิจกรรมหนึ่งภายใต้ “โครงการวิจัยถิ่นอาศัยในพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง” ได้เริ่มและเฝ้ารอผลสำเร็จไปแล้วอย่างเงียบๆ

“เพจห้วยขาแข้งสืบสาน” บอกเล่าเรื่องราว “โครงการวิจัยถิ่นอาศัยในพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง” โดย “ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์” ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยถิ่นอาศัยในพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง และ “ตรศักดิ์ นิภานันท์” หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีเป้าหมายเพื่อคืนพื้นที่ให้กับสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยเฉพาะพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำทับเสลาตอนเหนือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่กันชนระหว่างป่ากับชุมชน ภายหลังกรมป่าไม้ได้ขอคืนที่พื้นที่

 

จากอดีตพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งปศุสัตว์ขนาดใหญ่ แพะและวัวควายเดินหากิน มีการเพาะปลูกพืชโดยคน ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์สำหรับ ฝูงละมั่ง เนื้อทราย วัวแดง ขนาด 150 ไร่ (ตามการขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้)

ล่าสุด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ทุ่งหญ้าปศุสัตว์หลังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะหายไป พร้อมกับกิจกรรมแรกในแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ป่าบนพื้นที่กันชน โดยกลุ่มปั่นจักรยาน “ADVENTURE FOR WILDLIFE HUAI KHA KHAENG” ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ผ้าป่าถั่วเขียวเพื่อสัตว์ป่า”

 



“ผ้าป่าถั่วเขียว” ได้จัดกิจกรรมไปแล้วเมื่อ 14 ก.พ.64 ที่ผ่านมา โดยนำร่อง ปลูกถั่วเขียวและหญ้าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงในพื้นที่ ก่อนที่ทางโครงการฯ จะเก็บเมล็ดพันธุ์หญ้าพื้นเมือง และพืชพื้นถิ่นที่สัตว์ป่าใช้ประโยชน์ มาเพาะปลูกทดแทน พร้อมกำจัดพืชต่างถิ่นในบริเวณ รวมทั้งทำโป่งเทียม เพิ่มแร่ธาตุให้สัตว์ป่า

“สถานที่ริมอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มใช้เป็นที่รวมตัวกันปั่นจักรยาน และกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยวันสุดท้ายที่เราได้ร่วมปั่นจักรยาน คือ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.62 ก่อนที่ทางกรมป่าไม้จะขอคืนพื้นที่ และห้ามการเข้าไปใช้ประโยชน์”

 

“อารีย์รัตน์ ภู่เทศ” หรือ “พี่อารีย์” สมาชิกกลุ่ม “ADVENTURE FOR WILDLIFE HUAI KHA KHAENG” กลุ่มจักรยานที่ร่วมทำกิจกรรมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ห้วยขาแข้งมาอย่างยาวนาน บอกกับเรา

พี่อารีย์เป็นแม่ค้า เป็นชาวนา และเป็นคนอุทัย กิจกรรมที่ถือว่าช่วยเปิดหัวใจเธอให้ “รักห้วยขาแข้ง” ครั้งแรก คือการทำเสื้อกลุ่มฯ โดยมี เสือกำพร้า “เจ้าคลองค้อ” เป็นนายแบบร่วมกับสัตว์ชนิดอื่นในสถานีเพาะเลี้ยงฯ และเธอภูมิใจที่ได้เป็นผู้ออกแบบลายเสื้อนี้เองจากโทรศัพท์มือถือ
“เราเห็นเจ้าหน้าที่ “แม่นมรุ้ง” ต้องคอยเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์ป่า ที่กำพร้า ถูกจับมาจากที่อื่น สัตว์ของกลาง คนเลี้ยงเสือ ที่ตามตัวมีร่องรอยบาดแผลทั้งใหม่และเก่า คนเลี้ยงนกที่ยอมโดนนกจิกหัวแตก ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเขาถึงยังทำงานตรงนี้ บางคนได้รับบาดแผลจากสัตว์ป่าเหล่านี้ แต่ยังเต็มใจที่จะทำ แม้แต่หัวหน้าต่าย หัวหน้าสถานีฯ เอง ท่านก็ใช้ทรัพย์สินส่วนตัวมาเป็นทุนสร้างกรงเลี้ยงเจ้าคลองค้อ”

 

นอกจากการปั่นจักรยาน ที่เป็นกิจกรรมหลักของกลุ่มแล้ว ทางกลุ่มยังได้ร่วมกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสถานีฯ มาอย่างต่อเนื่อง เธอจึงได้มีโอกาสสัมผัสการทำงาน และเห็นความตั้งใจของเจ้าหน้าที่เหล่านี้

“จากที่ผูกพันกับพื้นที่ชายป่าแห่งนี้ จะด้วยกิจกรรมปั่นจักรยานหรือว่าได้รู้จักกับพี่ๆ ในสถานีเพาะเลี้ยง ทำให้เรารู้สึกว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของพวกเราด้วยเหมือนกันที่จะช่วยเหลือหรือว่าเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไป หากเรารู้และเข้าใจในการทำงานของเขา” พี่อารีย์ กล่าว

และกิจกรรม “ผ้าป่าถั่วเขียวเพื่อสัตว์ป่า” ของทางกลุ่มจึงเกิดขึ้น โดยการนำของหัวหน้ากลุ่ม ในการร่วมระดมทุนซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่ขาดแคลน และเงินทุนผ้าป่ามอบให้กับสถานี ฯ ใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่า ผ่านทางโซเชียลฯ และลงมือหว่านเมล็ดถั่วเขียวในพื้นที่ริมอ่างทับเสลา กว่า 10 ไร่
“ถั่วเขียว” ที่กลุ่มช่วยกันหว่านนั้น จะกลายเป็นทั้งอาหารของ นกยูง และสัตว์ป่าอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นปุ๋ยบำรุงหน้าดินได้ในคราวเดียวกัน

 



"หัวหน้ากลุ่มฯ ท่านเป็นคนนำเรื่องกิจกรรมนี้ ไปลงประชาสัมพันธ์ในโซเชี่ยล ซึ่งผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งคนในกลุ่ม และคนภายนอก โดยในวันทำกิจกรรม เราจึงเห็นภาพทั้งคนในกลุ่ม หรือคนทั่วไปที่พาทั้งครอบครัว และเด็กมาร่วมทำกิจกรรมด้วย"

 

ในส่วนของชาวบ้าน “พี่อารีย์” บอกเล่าว่า วันนี้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องป่าห้วยขาแข้งมากขึ้น สิ่งที่โครงการฯ ทำ ไม่ใช่การยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอีกต่อไป แต่เป็นการเปลี่ยนการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยการอยู่ร่วมกับป่า โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นั่งเรือชมความงามพื้นที่อ่างเก็บน้ำ โฮมสเตย์ อาหารท้องถิ่น

“เรามองว่าชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ ป่านี่แหละ ที่จะเป็นนักอนุรักษ์ที่ดีและเป็นกำลังหลักสำคัญในการดูแลป่าและสัตว์ป่าเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเขาอยู่ใกล้ป่าที่สุดและได้ใช้ประโยชน์จากป่ามากกว่าใคร”

การร่วมกิจกรรมดังกล่าว สำหรับ “พี่อารีย์” เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จะสามารถทำให้กับ ผืนป่ามรดกโลก ที่ตั้งอยู่ในบ้านเกิดของเธอเองได้

“คำว่ามรดกโลก มันน่าภาคภูมิใจ ถ้าทุกคนคิดแบบเดียวกันว่าทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของในทุกตารางนิ้วของผืนป่านี้ ทุกคนจะรักและหวงแหนไม่อยากให้ใครมาทำลาย ห้วยขาแข้งแห่งการอยู่ร่วมกัน อยากเห็นคำนี้เกิดขึ้นจริง และหวังว่าอีกไม่นาน คำๆ นี้จะอยู่บนป้ายทางเข้าห้วยขาแข้ง ป้ายทางเข้าหมู่บ้านกันชนรอบชายป่าห้วยขาแข้งทุกแห่ง ซึ่งชุมชนที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม” พี่อารีย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

นี่คือแนวคิดของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ต้องการจะสื่อสารถึง กิจกรรมดีๆ ของกลุ่มปั่นจักรยานเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง เพื่อเป็นก้าวแรกให้คนกลุ่มอื่นๆ ได้หันหาร่วมกิจกรรมเหล่านี้บ้าง

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

เผยภาพ “ผืนป่าตะวันตก” งดงาม สมบูรณ์ด้วยสัตว์น้อยใหญ่