“ชุมชนนาบัว” เปลี่ยนวิกฤติ! พลิกฟื้นฝืนป่า สู่เกษตรกรรมยั่งยืน

by ThaiQuote, 8 มีนาคม 2564

เมื่อธรรมชาติที่เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงชีวิตสูญสิ้นไป เพราะ “ป่าชุมชนถูกทำลาย” ชาวบ้านตำบลนาบัวจะทำอย่างไร เพื่อพลิกฟื้นผืนป่า!!

นี่คือเรื่องราวของชุมชนตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงป่าเพื่อทำเกษตรกรรม แต่เมื่อป่าถูกทำลาย บวกกับการทำเกษตรที่ผิดวิธี ธรรมชาติที่เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงชีวิตมลายไป ชาวบ้านจึงต้องพบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส

แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ชุมชนแห่งนี้ได้ร่วมใจกันเพื่อพลิกฟื้น จนปัจจุบันได้ขยายพื้นที่การดูแลป่าได้ถึง 3,000 ไร่ ดิน น้ำ ต้นไม้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยหลักการที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อประมาณเกือบ 40 ปี หลังปี พ.ศ.2525 สัมปทานป่าได้ยุติลง ชุมชนตำบลนาบัวซึ่งเคยปกคลุมไปด้วยผืนป่าจึงแทบไม่เหลือต้นไม้ขนาดใหญ่ ทว่าแทนที่ชาวบ้านจะช่วยกันฟื้นฟู กลับพากันบุกรุกแผ้วถางพื้นที่จนโล่งเตียนเพื่อทำไร่ข้าวโพด


ช่วง 10 ปีหลังจากนั้นผลกระทบก็เริ่มตามมา เมื่อลำธารหล่อเลี้ยงการทำการเกษตรค่อย ๆ แห้งเหือด สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เคยเป็นแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผักหวาน หน่อไม้ เห็ดเผาะ ไข่มดแดง ฯลฯ เริ่มร่อยหรอลงทุกวัน เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อผิด ๆ ว่าการจุดไฟเผาป่าจะช่วยกระตุ้นให้หญ้าอ่อนเติบโตเป็นอาหารแก่วัว ควาย การเผากอไผ่จะทำให้มีหน่ออ่อนแทงยอดใหม่เร็วขึ้น หรือการเผาผืนดินจะทำให้เห็ดเผาะและผักหวานผุดงอกขึ้นมารวดเร็วและหาได้ง่าย ซึ่งเป็นซ้ำเติมความย่อยยับให้กับผืนป่าโดยไม่รู้ตัว

นั่นคือโศกนาฎกรรมแห่งชีวิตระหว่างคนกับป่า จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายป่าชุมชนตำบลนาบัว เพื่อร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมา โดย 1 ใน 7 แกนนำชุมชนยุคบุกเบิกคือ “อุดม สอนศรี” เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ตำบลนาบัว หอบปัญหาทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อเสนอทางรอด และได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานพิทักษ์ป่าชุมชน พร้อมทั้งกำหนดกฎระเบียบกติกาการดูแลป่าขึ้น

นั่นคือ ห้ามจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หยุดล่าหรือเก็บของป่านอกฤดูกาลเพื่อให้ธรรมชาติได้หยุดพัก และมีการขยายพันธุ์มากขึ้น พร้อมกับห้ามตัดไม้สดหรือไม้อ่อนมาเผาถ่านเด็ดขาด ทุกครัวเรือนต้องช่วยกันปลูกป่าทดแทน ครอบครัวใด หรือบุคคลใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรการทางสังคมที่ชุมชนบัญญัติขึ้น เช่น ไม่แจกผ้าห่มในฤดูหนาวแก่คนที่แหกกฎ

3 ปีให้หลังผ่านไปอย่างทุลักทุเล เพราะมีทั้งชาวบ้านที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเห็นแก่ตัวยังคงลักลอบเผาป่าอยู่เหมือนเดิม ทำให้ “อุดม” พร้อมทีมงานต้องวิ่งขึ้นๆ ลงๆ บนภูเขาเพื่อดับไฟป่าที่ชาวบ้านจุดขึ้นวันละ 3–4 รอบ

กระทั่งย่างเข้าปีที่ 4 การทำงานเป็นทีมและการสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชุมชนที่เข้มแข็งมากขึ้น ทำให้ต้นไม้เริ่มให้ร่มเงา พืชผักผลไม้ป่าเริ่มผลิดอกออกผลให้เก็บกินได้ และตาน้ำที่เคยแห้งก็เริ่มไหลรินเป็นลำธารสายเล็ก ๆ ให้ทุกคนได้ตื่นเต้นดีใจ ทว่ากลับถูกคุกคามจากคนนอกหมู่บ้านที่เข้ามาขโมยของป่าและลักลอบตัดไม้เผาถ่าน

แต่ด้วยเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้นประกอบกับกระแสอนุรักษ์ที่เริ่มติดลม เป็นที่มาให้ชาวชุมชนร่วมกันสนับสนุนให้ “อุดม” ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสวมหมวกแกนนำไปเจรจาต่อรองกับผู้นำชุมชนรอบข้างให้หยุดทำลายป่า ซึ่งในที่สุดก็ดึงเข้ามาร่วมขบวนอนุรักษ์ป่าเช่นเดียวกับชุมชนตำบลนาบัว พร้อมกับได้หันหน้ามาทำงานอนุรักษ์ป่าร่วมกันอีกด้วย


เช่น การจัดค่ายเยาวชน “คนรักษ์ป่าต้นน้ำลำน้ำตอน” ที่ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการดูแลลำน้ำตอน ซึ่งเป็นสายน้ำเส้นเลือดใหญ่ของคนพิษณุโลก ซึ่งค่ายเยาวชนตำบลนาบัวไม่ได้ทำกิจกรรมเฉพาะการปลูกจิตสำนึกการฟื้นฟูและพิทักษ์ป่าไม้ แต่ยังเป็นค่ายช่วยแก้ปัญหาสังคมให้ชุมชนด้วย โดยมีการดึงเด็กหัวโจกที่เคยเกกมะเหรกเกเรมาร่วมขบวนและมอบบทบาทให้เป็นนักรบพิทักษ์ป่าลำน้ำตอน เด็กๆ เหล่านี้จึงกลับตัวกลับใจเลิกเสพยา หันมาเอาดีเป็นจิตอาสาดูแลป่าและร่วมพัฒนาชุมชน

ตลอดจนทำหน้าที่สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ ทำงานคู่ขนานกับผู้ใหญ่ ทำให้การจัดค่ายเยาวชนในแต่ละรุ่นมีเด็กทั้งในและนอกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 ชีวิต ซึ่งจัดติดต่อกันมาถึง 8 ปี

ทุกวันนี้เครือข่าย ทสม. ชุมชนตำบลนาบัว ขยายพื้นที่การดูแลป่าได้ถึง 3,000 ไร่ ดิน น้ำ ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จากความเข้มแข็งของเครือข่ายทำให้กรมป่าไม้มอบความไว้วางใจให้ดูแลพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ถึง 7 จุด รับผิดชอบสอดส่องดูแลไม่ให้คนเข้ามาตัดไม้หรือล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูขัด ซึ่งนับเป็นภารกิจสุดภาคภูมิใจของคนในชุมชนตำบลนาบัว

การสร้างเครือข่ายพิทักษ์ป่าที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ทำให้เครือข่ายตำบลนาบัว ได้รับรางวัลเครือข่าย ทสม.ดาวรุ่งระดับประเทศ ด้านพิทักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ประจำปี 2562 ซึ่งจะเป็นสมบัติตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ประโยชน์และอาศัยอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“เทศบาลบ้านศรีฐานขอนแก่น” ต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะ! ประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง 3.2 ล้านบาท