ทำได้จริง? เลี้ยง “จิ้งหรีด” ฟาร์มมาตรฐาน! ยอดขายหลักล้านต่อเดือน

by ThaiQuote, 19 มีนาคม 2564

ส่องปัจจัยความสำเร็จ “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีด ท่าชัย-ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย” ฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน สร้างยอดขายหลักล้านต่อเดือน

การเลี้ยง “จิ้งหรีด” เริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกรเมืองไทย เนื่องจากยังมีคนทำไม่มาก ประกอบกับการที่กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้มีการเลี้ยงแบบฟาร์มมาตรฐาน

สำหรับตลาดของ “จิ้งหรีด” นั้นก็ถือว่าน่าสนใน ทั้งในรูปแบบของสินค้าส่งออก จากเทรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากแมลงที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ซึ่ง ปัจจุบันมีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มอียู ฯลฯ ในรูปแบบผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% เพื่อนำไปทำอาหาร เช่น พาสตา



ส่วนตลาดในประเทศจะเน้นผงโปรตีน 100% ซึ่งจะนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ และแปรรูปเป็นอาหารกินเล่น ทั้งจิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ หรือน้ำพริก เป็นต้น

วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีด ท่าชัย-ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย นับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ โดยทางกลุ่ม มีรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีดต่อเดือนประมาณ 1.6 ล้านบาท หรือราวๆ 19.2 ล้านบาทต่อปี

คุณชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่จิ้งหรีดท่าชัย-ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ก่อนจะมารวมกลุ่ม ตนเองเลี้ยงจิ้งหรีดมา 5 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาอยากมีรายได้เสริม นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ ช่วงนั้นเห็นชาวบ้านเลี้ยงจิ้งหรีด จึงมีความสนใจ เลยไปศึกษาดูงานแล้วมาริเริ่มเลี้ยง



หลังจากไปศึกษาดูก็พบว่าเลี้ยงไม่ยาก สะอาดไม่เป็นมลภาวะกับพื้นที่ เลี้ยงคนเดียวได้ เรื่องของต้นทุนการเลี้ยงจิ้งหรีดเฉลี่ยแล้วไม่แพง อาหารที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดต่อรอบประมาณ 400-500 บาท สำหรับคนที่สนใจอยากเลี้ยงแนะนำว่าให้ไปศึกษาการเลี้ยงก่อน ไปดูฟาร์มจริง ต้องเรียนรู้ทฤษฎี และปฏิบัติควบคู่กันไป

สำหรับการลงทุนครั้งแรกใช้แค่ที่จอดรถในการเลี้ยง และเพื่อให้ได้มาตรฐานจึงต้องสร้างโรงเรือนแบบปิด พร้อมทั้งมีการตรวจอุณหภูมิ การให้อาหาร ให้น้ำ ให้ผัก ซึ่งเป็นระบบตามมาตรฐาน

“การเลี้ยงไม่ยาก 45 วันจับขายได้แล้ว แต่มายากเรื่องการส่งออก โดยคนที่เลี้ยงใหม่ ๆ ควรดูตลาดที่มีความมั่นคง ก่อนที่จะลงทุนทำอะไร หากมีตลาดที่แน่นอน ชัดเจน ก็ลงทุนได้” คุณชุติกาญจน์ กล่าว



ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ เพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาพรวมของตลาดจิ้งหรีดถือว่าดีมาก เพราะเป็นตลาดต่างเทศที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของแมลง โดยธุรกิจที่ทำตอนนี้ 95% ส่งจิ้งหรีดออกนอกประเทศ ส่วนที่เหลือส่งในประเทศ เนื่องจากความต้องการบริโภคในไทยยังน้อยกว่าต่างประเทศที่มีการนำไปแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์

ด้านราคาของจิ้งหรีด คุณชุติกาญจน์ บอกว่าขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการเลี้ยง, ชนิดของแมลงที่เลี้ยง โดยตลาดในประเทศสายพันธุ์ของจิ้งหรีดที่ได้รับความนิยม คือสายพันธุ์ทองดำ, ทองแดง, จิ้งโกร่ง, สะดิ้ง และทองแดงเวียดนาม ซึ่งสายพันธุ์จิ้งโกร่งมีราคาดีที่สุด ขายปลีกกิโลกรัมละ 200 กว่าบาท

ส่วนเรื่องตลาดส่งออก เกิดจากการมีลูกค้าต่างประเทศมาเยี่ยมชมฟาร์ม พร้อมนำจิ้งหรีดจากฟาร์มไปตรวจวิจัย เพื่อดูเชื้อ-สารตกค้าง ซึ่งจิ้งหรีดของฟาร์มไม่มีสารตกค้าง จึงรับซื้อเพื่อนำไปแปรรูป ซึ่งการส่งออกฟาร์มจิ้งหรีดต้องได้รับมาตรฐาน GIP เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของสินค้า



“ตอนนี้การตลาดนำการผลิตไปแล้ว คือผลผลิตไม่เพียงพอต่อออเดอร์การสั่งซื้อที่เข้ามาในแต่ละรอบ ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากนำไปแปรรูปจิ้งหรีด 4 กิโลกรัม จะเหลือแค่ 1 กิโลกรัม เช่น ลูกค้าต้องการแปรรูป 5 ตัน ก็ต้องใช้จิ้งหรีดประมาณ 20 ตัน”

สุดท้าย คุณชุติกาญจน์ บอกเคล็ดลับความสำเร็จ คือเรื่องการมองหาตลาด ซึ่งในตอนแรก เริ่มจากในประเทศที่กลุ่มค้าส่ง ซึ่งมีการซื้อต่อครั้งเกินกว่าร้อยกิโลกรัม จากนั้นจึงขยับมาแปรรูปเอง โดยในช่วงแรกใช้วิธีทอดขาย ต่อมาได้เปลี่ยนมาสู่รูปแบบอบ ซึ่งเพิ่มมูลค่าได้และช่วยให้เก็บสินค้าไว้ได้นานขึ้น

 


เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ท่องเที่ยว “บ้านน้ำราบ” จากป่าชายเลนเสื่อมโทรมสู่ท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน