“สวนผักยอดรัก” ปลูกจากใจด้วย “เกษตรทฤษฎีฉัน”

by ThaiQuote, 24 มีนาคม 2564

ความสุขเริ่มจากตัวเอง!! “สวนผักยอดรัก” สร้างแปลงผักจาก “เกษตรทฤษฎีฉัน” ปลูกกินเอง เหลือแบ่งปัน มีมากจึงขาย ผ่านตลาดเครือข่ายคนรักสุขภาพ

“อาชีพเกษตร” ทุกวันนี้ได้เป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน ที่รู้สึกว่าอยากกลับบ้าน ไปทำเกษตรในแบบของตัวเอง โดยมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 1 ไร่ ภายในบริเวณบ้าน ก็ที่จะเนรมิต “สวนผัก” แหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

“สวนผักยอดรัก” จ.ตรัง “Yodrak Organic Farm at Trang” อาจเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นโดย “ธงฉัตร คืนตัก” หรือ “พี่ปุ่น” และ “ฌัชชญา นามกร” หรือ “พี่แอน” 2 สามีภรรยา ที่ช่วยกันปลุกปั่นการทำเกษตรในแนวทาง “ทฤษฎีฉัน” เริ่มจากเล็กๆ แค่ปลูกไว้กิน

จนวันนี้ ทั้งคู่มีตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตของตัวเอง สร้างเครือข่ายผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนรักสุขภาพในพื้นที่ จ.ตรัง

“ธงฉัตร คืนตัก” หรือ “พี่ปุ่น” หันหลังให้กับอาชีพ “วิศวกรระบบดับเพลิง” บ่ายหน้าจากเมืองกรุง กลับบ้าน ด้วยภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ในวัยชรา และการตามหาคำตอบจากโจทย์ที่มีอยู่ในชีวิต จากวันนั้นในปี 2554 นับ 10 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นรูปเป็นร่างของ “สวนผักยอดรัก” ขึ้นมา

 

 

“หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมา 5-6 ปี พอรู้ว่ามันไม่เข้ากับเรา ไม่ค่อยตอบโจทย์ เราก็เลยกลับบ้าน มาคิดย้อนดูพื้นฐานว่าเรามีอะไร บ้าง เรามีพื้นที่ มีสวนยางพารา เราก็เลยหาความรู้ว่าเรากลับมาอยู่บ้านแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง เรียนทุกอย่างที่มี เกษตรพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ จนมาได้คำตอบว่าคือ เราต้องผลิตอาหารเองได้ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ซึ่งน่าสนใจ รู้สึกว่าตอบโจทย์ให้กับชีวิตเรา” พี่ปุ่น กล่าว


“เมล็ดพันธุ์” คือ “ชีวิต”

จากการหาความรู้เรื่องเกษตร จึงทำให้ “ธงชัย” ได้พบกับ “โจน จันใด” ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ด้วยนิยามที่ว่า เมล็ดพันธุ์ คือชีวิต จึงทำให้ เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ของสวนผักยอดรักเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นเอง โดยแบ่งแปลงปลูกส่วนหนึ่งสำหรับผลิตเมล็ด และอีกส่วนหนึ่งที่เอาไว้กิน แบ่งปัน และจำหน่าย

 

 

 

“เมล็ดพันธุ์ คือชีวิต สำคัญมาก ข้อแรกเลย คือ เราไม่ต้องซื้อ เรามีเมล็ดพันธุ์เท่ากับมีความมั่นคงแล้วส่วนหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ 1 เมล็ด กลายเป็นต้นเป็นดอก แตกกระจายเป็นเมล็ดพันธุ์อีก 100 อีก 1,000 เมล็ด เราเอาเมล็ดพันธุ์มาปลูกได้ผักมากิน ส่วนหนึ่งเราปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำให้เรียนรู้ว่าผักชนิดไหนเหมาะที่จะปลูกในแปลงของเรา ก็ปลูกไปเรื่อยๆ ทดลองไปเรื่อย แล้วก็เก็บเมล็ดพันธุ์มาแจกจ่ายให้คนอื่นๆ ด้วย พอปลูกได้สักพักเราได้ผักไว้กินเอง เหลือมากขึ้นก็แบ่งปัน จนนานเข้าแล้วมากขึ้น เราก็ได้ขาย”

“ธงชัย” บอกว่าอีกข้อที่สำคัญของการมีเมล็ดพันธุ์ เป็นของตัวเอง คือ เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแปลงนั้น จะปรับตัวเป็นเมล็ดพันธุ์เฉพาะ ซึ่งเข้ากับพื้นที่ กับปุ๋ยคอก (จากมูลวัวในพื้นที่)

 

 

“เมื่อมีเมล็ดพันธุ์จากผักที่ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง ด้วยนิสัยของเราเองในการปลูก ผักเติบโตสมบูรณ์โดยปรับสภาพให้เข้ากับพื้นที่ นิสัย ซึ่งเราไม่ชอบรดน้ำมาก ขี้เกียจ และสภาพดินฟ้า อากาศ หรือปุ๋ยคอกอย่างนี้ จึงเป็นผักที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ของเรามากที่สุด”

 

“สวนผักยอดรัก” จากความรักของคน 2 คน

ที่มาที่ไปของสวนผักยอดรัก เกิดขึ้นจากความรักของคน 2 คน ที่เชื่อมั่นในทฤษฎีของการทำเกษตรแบบพอเพียง เริ่มจากเล็กน้อย พอกินเฉพาะในครัวเรือน เหลือก็แบ่งปัน มากขึ้นก็ทำตลาดเองไว้เพื่อจำหน่ายผลผลิต

 

 

“เริ่มทำสวนผักเมื่อ 10 ปีที่แล้วด้วยตัวคนเดียว ก่อนจะมาพบ “แอน” เราก็เรียกกันเล่นๆ ว่า “ที่รัก” ก็เลยเอามาตั้งชื่อว่า “สวนผักยอดรัก” ตอนเรามาอยู่ด้วยกัน เหมือนคำสร้อยให้ฟังดูเก๋ๆ แบบนามสกุล อย่างการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็น วุ้นยอดรัก ร้านกาแฟยอดรัก เรามองว่าเก๋ดี สนุกดี แต่บางทีฝนตกหญ้าขึ้นไม่ได้ถอน เลยกลายเป็น “ยอดรก” พี่ปุ่นกล่าวอย่างอารมณ์ดี

 

 

เอาทุกอย่างรอบตัวมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด

“ขั้นแรกที่เราเริ่มปลูกผัก ก็จะต้องเตรียมดินที่เรียกว่า “บ่มดิน” ก็ใช้ขี้ไก่ ซึ่งได้มาจากเพื่อนที่เขาทำฟาร์มไก่เนื้อ ซึ่งจะมีขี้ไก่ผสมกับแกลบ มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ผสมกับดิน ราดด้วยน้ำจุลินทรีย์ที่เราทำเอง (น้ำจุลินทรีย์หมักจากเศษปลา,เศษผัก ที่หาได้ตามตลาด และครัวเรือน) มาหมักไว้ 10-15 วัน เป็นการบ่มดิน

วิธีทำน้ำจุลินทรีย์เราก็เปิดดูจากเว็บไซต์ จากหนังสือ ทดลองทำอันที่เหมาะกับเรา ใช้วัตถุดิบที่เราหาได้เองง่ายๆ บางอย่างเยอะเกินไปเราก็ไม่ได้ใช้ เน้นเอาที่ง่ายๆ เพราะเราไม่ได้หวังให้ผักต้องโตอะไรมากมาย”

 

“ตลาดกรีน ชินตา” สร้างตลาดนำการผลิต

ถึงแม้สวนผักยอดรักจะไม่เน้นการปลูกเชิงพาณิชย์มาก แต่ “ธงชัย” ก็มองว่าการตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เพื่อรองรับผลผลิตที่มีมากเกินจะกิน และแจก “ตลาดกรีน ชินตา” จึงเริ่มเกิดขึ้น โดยอาศัยเครือข่ายกลุ่มปลูกผักอินทรีย์และคนรักสุขภาพ ในพื้นที่ จ.ตรังมาร่วมกันทำ ในพื้นที่ของ ตลาดชินตา

 

 

 

“เราเริ่มทำ “ตลาดกรีน ชินตา” มาประมาณ 3 ปีแล้ว มีความสำคัญนะ แรกๆ เราเอาไปขายตามตลาดนัด แล้วบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า “ผักอินทรีย์” คืออะไร บอกว่าแพงไป แต่เราก็จะมีสตอรี่ ว่าต้องปลูกแบบนี้ ปลอดสารพิษนะ ใหม่ สด เราจึงสร้างกลุ่ม และตลาดของตัวเอง เพื่อการนำเสนอเรื่องราวที่เราปลูก ดึงคนที่คิดสนใจ และพร้อมที่จะเข้าใจ มาซื้อและนำไปกินอย่างมีความสุข อย่างเข้าใจในผลผลิตของเรา”

 

 

 

นอกจากนี้ “ตลาดกรีน ชินตา” จะเน้นผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์แล้ว ที่นี่ยังขอความร่วมมือเรื่องการลดใช้ถุง และบรรจุภัณฑ์พลาสติก อีกด้วย เราจึงเห็นภาพคนที่เดินจับจ่ายซื้อของอย่างไม่รีบไม่ร้อน พร้อมหิ้วถุงผ้า หรือตะกร้า และบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ

 

 

รายได้ ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์

“สวนผักยอดรัก” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ริเริ่มหยิบเอาอาชีพเกษตรมาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ โดยมีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การปลูกผักไว้กินเองภายในครัวเรือน

“ต้องมองฐานของแต่ละคน อย่างเรามีสวนยางอยู่ส่วนหนึ่ง มีกิจวัตรประจำวันที่ต้องดูแลพ่อแม่ ผักที่เราปลูกจึงไม่ใช่รายได้หลัก ส่วนใหญ่ทำกิน เหลือมาแบ่ง เก็บเมล็ดพันธุ์ หรือแปรรูป เป็นพวกกิมจิ และขนมบ้าง ชาบ้าง เช่น จิงจูฉ่าย ใบอ่อมแซบ ถ้าเป็นดอกไม้ ซึ่งเราปลูกไว้ล่อแมลงที่จะมากินผัก เราเอามาตากแห้งทำเป็นชา เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกาแฟ ดอกทุเรียน บานชื่น แต่ไม่ใช่รายได้หลัก หากจะทำเป็นรายได้หลักจะต้องทำเยอะกว่านี้

 

 

ถ้าเราเน้นทำเยอะ เราจะเหนื่อยมาก ต้องดูแลเยอะ เท่ากับว่าเราต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ต่างอะไรจากที่เราหนีมา เราทำวันละ 2-3 ชั่วโมง มองเรื่องประโยชน์อย่างอื่นที่คุ้มค่ามากกว่ารายได้ ประโยชน์ที่เรามีผักที่ปลูกกินเอง ทำให้ร่างกายเราแข็งแรง

 

“เกษตรทฤษฎีใหม่” ทำได้จริง หากทำอย่างพอเพียง

เกษตรพอเพียงทำได้จริง ที่สวนแห่งนี้ ซึ่งเจ้าของสวนมีแนวคิดว่า ไม่ต้องสวยหรูดูดีในสายตาคนทั่วไป แต่ประสบความสำเร็จได้ ถึงขนาดที่ว่าชาวต่างชาติสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้

“ถามว่า “เกษตรพอเพียง-ทฤษฎีใหม่” ทำได้จริงมั้ย ทำได้แน่นอน แต่ก็ต้องเริ่มจากเล็กน้อยๆ ก่อน ค่อยๆ เริ่มทีละนิด ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้อยู่ได้และมีจุดสมดุล ที่นี่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ลดอัตตา ได้เดินเท้าเปล่ากับพื้นดิน เราได้ฝึกทุกอย่างจากไร่แปลงเล็กๆ นี้ ได้อาหาร อากาศที่ดี เราทำแต่เช้า เกิน 10 โมงเราก็ไม่ทำแล้วเพราะในแสงแดดมียูวี ซึ่งเป็นโทษกับร่างกาย ช่วงบ่ายเราเริ่มบ่าย 3 หรือช่วงกลางวันเราก็ทำในร่ม หรือใช้เวลาระหว่างสายถึงบ่ายไปทำอย่างอื่น เช่น ทำน้ำหมัก ทำปุ๋ย เพาะกล้า เตรียมดิน พักผ่อน ฯลฯ

เพื่อนฝูงก็มาหาเยอะขึ้นกว่าตอนที่ทำงาน มาเรียนรู้เพราะอยากปลูกผัก อยากได้เมล็ดพันธุ์ ส่วนเพื่อนประเภทสังสรรค์ก็จะหายไป หลังจากนี้ไม่กี่เดือน ก็มีชาวฝรั่งเศสติดต่อมาจะขอดูงาน มาเรียนรู้การทำเกษตรที่สวนของเรา ก็งงเหมือนกัน ตอนเราเป็นวิศวะก็ไม่เคยมีใครมาหา”

 

“ความสุข” เริ่มจากคำว่า “พอดี”

ด้าน “ฌัชชญา นามกร” หรือ “พี่แอน” บอกกับเราว่า ความสุข เริ่มจากความ “พอ” การมีอาหารของตัวเอง ไม่มีความขัดสนในด้านใดๆ มีเวลาที่จะแบ่งปันความสุข ความรู้ให้กับคนอื่น และอิสระที่มีมากขึ้น

 

 

“ชีวิตมีอิสระมากขึ้น เราขายของที่ตลาด ทำงานแค่ 2 วัน ส่วนวันที่เหลือเราก็อยู่ในแปลงผักบ้าง ไปเที่ยวบ้าง จากเมื่อก่อนที่เราต้องทำงาน 8 โมงเช้า เลิก 4 โมงเย็น ทุกวันจันทร์-ศุกร์ พอเสาร์-อาทิตย์ เราก็เหมือนตาย อยากพักผ่อนเต็มที่ เป็นการปูพื้นฐานถึงอนาคตต่อจากนี้ วันที่เราเกษียณแล้ว เราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร เรามีพ่อแม่ต้องดู มีลูกต้องเลี้ยง มีรายได้ที่พอดำรงชีพ วันนี้เรามีรายได้จากการทำตรงนี้เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งหากเราใช้ชีวิตในเมืองคงไม่พอ แต่เราอยู่ที่บ้าน ชีวิตแบบนี้มีความสุข”

 

ทำเกษตรอย่างยั่งยืน อย่าเริ่มต้นด้วย “เงิน”

“ฌัชชญา” บอกกับเราว่า เธอยินดีแนะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะนี่คือการสร้างเครือข่าย ในสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน

“อยากฝากว่า คนที่อยากทำเหมือนเรา อย่าเริ่มต้นด้วยเงิน เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยเงินจะ “เจ๊ง” และจะกลายเป็น “หมดความศรัทธา” ต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ ย้ำว่า “เกษตร” ห้ามเริ่มต้นด้วยเงิน

 

 

เราเริ่มต้นด้วยเล็กๆ ใช้จอบขุดดิน ฝักบัวรดน้ำ ทำอะไรที่ทำด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เงินก่อน แล้วค่อยขยายไปเรื่อยๆ จนโตขึ้น แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยเงิน สร้างโรงเรือนด้วยเงินมหาศาล เราก็จะต้องทำเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นรายได้ที่มหาศาลคืนมา ซึ่งการเริ่มต้นอย่างนั้น เราลองผิดลองถูกไม่ได้เลย เมื่อลงทุนไปแล้ว หากไม่สำเร็จก็เท่ากับว่าขาดทุน บางคนเริ่มปลูกแบบใหญ่โต แต่ไม่เคยกินผลผลิตของตัวเองเลย เพราะต้องขายผลผลิตอย่างเดียว เพื่อให้พอต้นทุน

ถ้าทำเกษตรขนาดใหญ่ ความคิดของเรามองว่าก็ไม่ต่างจากที่ที่เราจากมา เหมือนติด “คุก” พอกลับมาทำใหญ่อีก แม้อยู่บ้านก็ต้องติดคุกอีก”

 

 

การทำเกษตรตามแนวคิดของสามีภรรยาคู่นี้ ได้เปลี่ยนจากการทำเกษตรพอเพียง ไปสู่การทำเกษตรแบบ “ทฤษฎีฉัน” โดยประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ และประสบการณ์มาเป็นเกษตรในแนวทางของตนเอง โดยยึดถือเอาตามหลักปรัชญาที่ว่า “เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์...”

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“สู้” ด้วย “ความสุข” บทเรียนจาก “บ้านไร่ ไออรุณ” ส่งต่อผ่าน “รถพุ่มพวงขายผัก”