“โรงตึ๊ง” ที่พึ่งยามยาก เงินสะพัด 1.9 หมื่นล้าน เช็คของยอดฮิตใน “โรงรับจำนำ”

by ThaiQuote, 18 มิถุนายน 2564

ในช่วงที่ยุคเศรษฐกิจ สะเทือนด้วยผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะสูญเสียรายได้ ทั้งที่รายจ่ายรดต้นคออยู่ในทุกเดือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีฐานะปานกลาง ค่อนต่ำลงมาจนถึงผู้มีรายน้อย ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โรงรับจำนำ” หรือ “โรงตึ๊ง” จึงเป็นอีกหนึ่งออปชั่นสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน นอกเหนือจากเงินกู้นอกระบบ และสินเชื่อธนาคาร
.
เพราะโรงจำนำคือที่พึ่ง ไม่ต้องเหนียมอายกันอีกต่อไปว่าใครจะเดินเข้าไปโรงจำนำ แม้แต่คนระดับผู้นำประเทศก็เห็นว่ามันสำคัญ ไม่เช่นนั้น กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม คงไม่สั่งแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยการเพิ่มโรงรับจำนำเพิ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
.
Thaiquote จึงทำการสำรวจ “โรงรับจำนำ” ในปัจจุบัน (ที่มีการเปิดเผยข้อมูล) โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาล ซึ่งสังกัดสำนักงานธนานุเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีทั้งหมด 40 สาขา และที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและก่อสร้าง 3 สาขา ตามแผนการขยายการลงทุนปีงบ 63-64
.
โดยมีสาขาให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 40 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ จำนวน 29 แห่ง ปริมณฑล 4 แห่ง ได้แก่ จ.นนทบุรี 2 แห่ง ปทุมธานี 1 แห่ง และสมุทรปราการ 1 แห่ง ส่วนภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ จ.ระยอง 2 แห่ง จ.ชลบุรี 1 แห่ง จ.ลำพูน 1 แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง จ.อุดรธานี 1 แห่ง และจังหวัดพิษณุโลก 1 แห่ง
.
ทั้งนี้สำหรับการดำเนินการในปี 63 ที่ผ่านมา พบว่า สถานธนานุเคราะห์ ทั้ง 40 แห่ง ผู้ใช้บริการ 1,305,781 ราย จำนวนเงินรับจำนำ 19,582.45 ล้านบาท มีรายได้รวม 814.96 ล้านบาท รายจ่ายรวม 402.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 412.49 นำส่งรายได้เข้ารัฐ 159.38 ล้านบาท

โดยมีสินทรัพย์รวม 6,300.02 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,312.72 ล้านบาท มีกำไรสะสม (30 ก.ย.63) จำนวน 3,956.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 62 จำนวน 243.24 ล้านบาท
.
ขณะที่ ประชาชนซึ่งใช้บริการส่วนใหญ่ ได้แก่ 1.อาชีพรับจ้าง 1.126 ล้านราย ยอดจำนำรวม 16,872.53 ล้านบาท 2.พ่อบ้าน แม่บ้าน 89,667 ราย ยอดจำนำ 1,299.16 ล้านบาท 3.อาชีพค้าขาย 56,643 ราย ยอดจำนำ 935.59 ล้านบาท 4.ข้าราชการ 15,908 ราย ยอดจำนำ 263.58 ล้านบาท 5. นิสิต/นักศึกษา 12,499 ราย ยอดจำนำ 131.62 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ พนักงานรัฐวิสากิจ 3,277 ราย ยอดจำนำ 54.02 ล้านบาท และเกษตรกร จำนวน 1,510 ราย ยอดจำนำ 25.96 ล้านบาท
.
สำหรับยอดวงเงินที่รับจำนำนั้น แบ่งเป็น ยอด 1-5,000 บาท จำนวน 396,532 ราย วงเงิน 5,001-10,000 บาท จำนวน 329,889 ราย วงเงิน 10,001-20,000 บาท จำนวน 333,380 ราย และวงเงิน 20,001-100,000 บาท จำนวน 245,980 ราย

ในส่วนของสิ่งของที่มีการนำมาจำนำ พบว่า อับดับ 1 คือ ทองรูปพรรณ,นาก,เพชร 1,274,769 ราย จำนวนยอดจำนำ 19,493.83 ล้านบาท 2.อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ) 11,024 ราย ยอดจำนำ 29.08 ล้านบาท 3.นาฬิกาข้อมือ 8,246 ราย ยอดจำนำ 37.44 ล้านบาท 4. เครื่องมือช่าง,ปากกา,กล้องถ่ายรูป 5,333 ราย ยอดจำนำ 8.03 ล้านบาท 5.เครื่องใช้ไฟฟ้า 4,105 ราย 7.87 ล้านบาท

ที่น่าสนใจของสิ่งของจำนำ ยังพบว่ามีการรับจำนำเครื่องดนตรี 1,012 ราย ยอดจำนำ 1.62 ล้านบาท เครื่องมือการเกษตร 59 ราย ยอดจำนำ 150,000 บาท
.
จากข้อมูลดังกล่าว พอสรุปได้ว่า ในปีงบประมาณ 63 ที่ผ่านมาคือ เดือน ต.ค.62 –ก.ย.63 สอดคล้องกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้มีการล็อคดาวน์พื้นที่ต่างๆ ในช่วงเดือน เม.ย.63- ก.ย.63 มียอดการใช้บริการโรงรับจำนำไม่แตกต่างจากช่วงก่อนหน้ามากนัก อาจเนื่องมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการกู้เงินได้มากกว่า เช่น ธุรกิจเงินกู้นอกระบบ หรือสินเชื่อส่วนบุคคของธนาคาร ฯลฯ ดังนั้นแนวคิดที่จะเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ จึงอาจไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ถูกต้อง

 

เรื่องที่น่าสนใจ

อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม เช็ค หลักเกณฑ์ปลูก-จำหน่าย ก่อนใช้จริง