8 วิธีหลีกหนีโรคโลหิตจาง

by ThaiQuote, 17 ธันวาคม 2560

มีหลายคนที่อยู่ในภาวะเลือดจาง ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอาจมาจากการเสียเลือด การสร้างเม็ดเลือดแดงที่ลดลง หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากขึ้น

การป้องกันภาวะโลหิตจาง

ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้ เบื้องต้นสามารถทำได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

1.เลือกรับประทานเลือดสัตว์ ตับสัตว์ เนื้อสัตว์ต่างๆ อาหารเหล่านี้จะมีธาตุเหล็กอยู่มาก ซึ่งเจ้าธาตุเหล็กนี่แหละที่จะช่วยบำรุงโลหิต และธาตุเหล็กที่มาจากสัตว์ ลำไส้จะดูดซึมไปใช้ได้มากกว่าธาตุเหล็กที่มาจากพืชอีกด้วย ดังนั้นทานเข้าไปเสียบ้าง

2.ผักใบเขียวเข้ม อีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ทานมังสวิรัติ แม้ว่าธาตุเหล็กที่ได้จากพืชจะไม่มากเท่าจากสัตว์ แต่ก็ควรทานก่อนที่จะอยู่ในภาวะขาดธาตุเหล็ก ผักที่แนะนำได้แก่ คะน้า บล็อกโคลี่ ผักบุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม

เคล็ดลับ เมื่อร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากพืชไปใช้ได้น้อย เราจึงควรทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงควบคู่ไปด้วย เพื่ออาศัยกรดเกลือในกระเพาะอาหาร และวิตามินซีช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ อาหารที่มีวิตามินซี สูง ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว เป็นต้น

3.ไข่ เป็นอีกหนึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ส่วนใหญ่คือโปรตีน แต่ก็ยังมีปริมาณของธาตุเหล็กที่จะช่วยบำรุงโลหิตของเราให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไข่แดงจะมีธาตุเหล็กสูงกว่าไข่ขาว

4.ธัญพืชต่างๆ ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ อัลมอนด์ รวมไปถึงข้าวโอ๊ต และจมูกข้าวสาลี ก็เป็นแหล่งอาหารที่นอกจากจะมีโปรตีนที่ดีต่อการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงแล้ว ยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และบำรุงโลหิตอีกด้วย

5.อาหารทะเล อาหารทะเลอย่างปลา กุ้ง ปลาหมึก ปู อุดมไปด้วยโปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ มากมาย รวมไปถึงธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิตอีกด้วย แต่อย่าทานมากเกินไป เพราะอาหารทะเลที่อร่อยสุดๆ มักมาพร้อมกับปริมาณแคลอรี่ และคอเลสเตอรอลที่มากตามไปด้วย

6..รับประทานวิตามินเสริมโดยขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร

7.ผู้สูงอายุหรือผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อตรวจสอบภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนและวิตามินที่ไม่เพียงพอ

8.ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะโลหิตจางควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการส่งผ่านภาวะโลหิตจางทางพันธุกรรม

นอกจากอาหารแล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโลหิตจาง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย จะได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู สร้างเม็ดเลือดแดงดีๆ ไว้บำรุงร่างกายให้แข็งแรงไปด้วยกัน คราวนี้ก็จะไม่เหนื่อย หน้ามืด หรือเป็นลมเป็นแล้งง่ายอีกแล้วล่ะค่ะ

Tag :