โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง เชียงรายสัมผัสความเป็น “อีสานล้านนา” ผ่าน “โรงแรมแห่งวิถีชีวิต”

by ThaiQuote, 13 กันยายน 2564

“หัวใจของการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างเจ้าบ้าน และนักท่องเที่ยว การต้อนรับ และการดูแลเอาใจใส่ อัธยาศัยที่ได้รับการฝัดร่อนมานานหลายสิบปี การท่องเที่ยวของที่นี่จึงเหมือนการมาอยู่ร่วมกันกับคนครอบครัว”

 

"ปนิตา ศรีขัติย์" ผู้ประสานงาน “โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง” เล่าให้เราฟัง ถึงแนวคิดและจุดเด่นของของโฮมสเตย์แห่งนี้ ซึ่งเปรียบเสมือน “โรงแรมแห่งวิถีชีวิตอีสานล้านนา” ที่นักท่องเที่ยวจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคนในชุมชนตลอด 2 วัน 1 คืน ในสนราคา 2,500 บาท/คน (จำนวน 1-5 คน) และ 1,900 บ./คน (6-10 คนขึ้นไป) โดยราคาจะลดหลั่นกันไป ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว จะแบ่งให้กับสมาชิกจำนวน 40-50 คน ในกลุ่มของโฮมสเตย์

 

 

โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ชุมชนกรุ่นกลิ่นอายความเป็น “อีสาน-ล้านนา” ซึ่งน้อยครั้งจะพบเห็น การผนวกรวมเอา 2 วัฒนธรรมมาไว้ด้วยกันในที่แห่งเดียว พร้อมกับวิวทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ที่โอบกอดด้วยขุนเขา

 

กิจกรรมของที่นี่ เริ่มตั้งแต่ย่างก้าวแรกเข้าสู่หมู่บ้าน จะมีการต้อนรับทักทายตามประสาคนท้องถิ่น ก่อนจะขึ้น “รถอีต็อก” เดินทางไปเที่ยวยังจุดต่างๆ เช่น สวนเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีผลไม้อย่างเสาวรส ให้ได้ชิม ได้ชมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

 

 

 

ทอผ้าลายตาหม่อง


ชื่อผ้าทอที่มาจากชื่อของคนพม่า เป็นธรรมดาตามวิถีของหมู่บ้านชายแดน 3 ประเทศ “สามเหลี่ยมทองคำ” ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งประยุกต์ลายผ้าทอตาราง ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองเป็นดีไซน์เนอร์ และช่างทอผ้าด้วยตัวเอง

 

 

เที่ยวแบบ “Healthy Homestay”


บ้านท่าขันทอง ได้รับการจัดให้เป็น 1 ใน 10 Healthy Homestay ต้นแบบของประเทศ จากกรมการท่องเที่ยว มาร่วมเรียนรู้การสีข้าวด้วยมือตามวิถีชุมชน จากโรงสีข้าวกล้องโบราณ ชิมน้ำข้าวกล้อง ลองทำแกงแค จิบชา-ชิมเมี่ยงดาวอินคา ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง

 

นักท่องเที่ยว จะได้เรียนรู้การกินอยู่ ทำกิจกรรม ที่หมุนวนตาม “นาฬิกาชีวิต” กินอาหารที่มาจากพื้นผักสวนครัวริมรั้วที่ปลูกเองในชุมชน ผ่านการคัดสรร “กินตามธาตุ” ทั้งเมนูมื้อเช้า กลางวัน เย็น

 

ดังนั้นอย่าแปลกใจ หากตื่นเช้ามาเจอกับสำรับกับข้าวสุดอลังการที่มีหลากเมนู จนทำให้อิ่มท้องไปจนถึงมื้อกลางวัน โดยมี “แจ่วหลิม” (น้ำพริกปลาช่อน) เป็นเมนูชูโรง เหตุเพราะในทุกมื้อเช้าชาวบ้านที่นี่จะกินเป็นมื้ออาหารหนัก

 

 

ล่องเรือคู่รัก รู้จักตำนาน “สุวรรณโคมคำ”

 

กิจกรรม “ล่องเรือคู่รัก” ความโรแมนติกในกลิ่นอายวิถีท้องถิ่น ผ่านการปรับเปลี่ยนเรือหาปลาของชาวบ้าน นำเรือ 2ลำมาต่อกันเป็นเรือคู่ให้บริการล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกดินในแม่น้ำโขง พร้อมฟังเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่น “สุวรรณโคมคำ” ปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับภาพอดีตและความศรัทธาต่อพญานาค คลอเคล้าด้วยเสียงหมอแคนหมอลำ วัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานในดินแดนล้านนา

 

 

“หมูปิ้งตาปัน” และ “ขันโตก ดินเนอร์”


เสร็จจากการล่องเรือ ก็ได้เวลาชิม “หมูปิ้งตาปัน” หมูย่างที่นั่งล้อมวงย่างรอบกองไฟ เป็น ออเดิร์ฟ ก่อน “ขันโตกดินเนอร์” ที่ชูรสเรียกน้ำย่อยของมื้ออาหารเย็นด้วย “ยาดองลอกคราบ” ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากชุมชน

 

ในช่วงของ “ขันโตก ดินเนอร์” จะมีการแห่ขันโตกบูชาพญาขันข้าว การบายศรีสู่ขวัญ ต้อนรับนักท่องเที่ยว ตามแบบฉบับของ “อีสาน-ล้านนา” พร้อมกิจกรรมรื่นเริงในแบบวิถีชุมชน

 

 

การท่องเที่ยววิถีใหม่ หลังสถานการณ์โควิด

 

อาจเป็นเรื่องยากสำหรับชุมชนท่องเที่ยวท่าขันทอง ที่มีจุดเด่นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ ความใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวชุมชน แต่เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 รูปแบบการท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องเปลี่ยนไป การเซฟชุมชนให้ปลอดภัย ด้วยการป้องกันตัวเอง ขณะที่การมี “คนนอก” เข้ามาในชุมชน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก

 

“ชาวบ้านค่อนข้างอึดอัด บางคนเริ่มท้อไม่อยากทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนต่อ ซึ่งเราก็ต้องให้กำลังใจกันไปก่อน ด้วยรูปแบบท่องเที่ยวโดยชุมชนของเราที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว โควิดในระลอก 1-2 เราก็ปรับตัวเพื่อจะสามารถให้ท่องเที่ยวชุมชนเดินต่อไปได้

 

 

แต่เมื่อระลอกที่ 3 ที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้น จริงๆการทำท่องเที่ยวชุมชนเราไม่ได้มองรายได้เป็นตัวตั้ง เราอยากทำเพราะเรามีความสุขที่เราทำ เราเห็นคนแก่ดีใจที่เห็นนักท่องเที่ยวมา เหมือนเห็นลูกหลานมาเยี่ยม การทำการท่องเที่ยวช่วยพัฒนาชุมชน ชาวบ้านจะสามารถต่อยอดสร้างรายได้ในส่วนต่างๆได้ รวมทั้งการพัฒนาบ้านเรือนของตัวเอง ความสะอาด เช่น การมาทำโฮมสเตย์ จะต้องปรับปรุง ทำให้หมู่บ้านต้องมีการบริหารจัดการขยะ การพัฒนาบุคลิกภาพ ซึ่งพัฒนาไปได้เองแบบไม่รู้ตัว”

 

แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะแค่ชุมชนโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองเท่านั้น แต่ท่องเที่ยวโดยชุมชนอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เมื่อการมีปฏิสัมพันธ์ ที่เป็น “เสน่ห์” ของท่องเที่ยวชุมชนกำลังหายไป

 

 

“จริงๆเราได้มาตรฐาน SHA สาขาโรงแรมที่พักและห้องประชุม มาตรฐาน SHA สาขาแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการ จาก ททท.จึงทำให้เรามีพื้นฐานที่จะนำไปสู่ “การท่องเที่ยวชุมชนวิถีใหม่” ที่ชัดเจน แต่ด้วยความที่เรามีจุดขาย เรื่องความใกล้ชิด เหมือนนักท่องเที่ยวเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เช่น ก่อนจะกลับนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจ กับชุมชนท่องเที่ยวเรามากถึงขนาด “กอดกัน” มันจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะบริหารจัดการในส่วนนี้ และน่าเสียดายหาก “เสน่ห์” เหล่านี้จะต้องหายไป”

 

“ปนิตา” พูดถึงอนาคตของชุมชน ที่จะเรียนรู้และอยู่ร่วมกัน กับสถานการณ์ของโควิด-19 เมื่อรูปแบบการท่องเที่ยวของชุมชน “โรงแรมแห่งชีวิต” อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และพร้อมที่จะต้องยอมรับวิถีใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึง “ความปลอดภัย” ของชุมชนเป็นหลัก

 

เรื่องที่น่าสนใจ

“Forbes” จัดอันดับ “อยุธยา” เป็น 1 ใน 50 จุดหมายปลาทางท่องเที่ยวเที่ยวโลก