“แจกเงินไม่ได้ช่วยให้หายจน” แนวคิดช่วยเหลือ “คนพิการ” ผ่านร้าน “Blue Sheep”

by ThaiQuote, 24 กันยายน 2564

ทำความรู้จักกับร้านขายงานหัตถกรรมทำมือ หรือที่เรียกว่า งานคราฟท์ ของอดีตแพทย์หญิงชาวอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีน เหตุใดเธอจึงต้องดั้นด้นมาไกลจากประเทศบ้านเกิด เพื่อเปิดร้านขายงานคราฟท์ ที่ทำขึ้นโดยคนพิการ และคนยากไร้ พร้อมเรียนรู้แนวคิดของเธอผ่านบทความนี้

 

ในปี 2557 อดีตแพทย์หญิงชาวอังกฤษ “Ray Pinniger” ได้เปิดร้าน Blue Sheep ร้านจำหน่ายสินค้างานทำมือ ซึ่งมีทั้งกระเป๋าผ้า กระเป๋าหนัง เคสคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกมากมาย จากชนเผ่า ชุมชนยากจน และผู้ทุพพลภาพ ขึ้นในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน

 

 

แนวคิดของ Blue Sheep คือการเป็นกิจการเพื่อสังคมที่สร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โรคภัย ภัยพิบัติ หรือความยากจน กลไกการค้ามนุษย์ อยู่ในครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือมีถิ่นที่อาศัยห่างไกลและเข้าถึงยาก อย่างเช่น คนพื้นเมือง และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่อยู่ทางภาคตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงในประเทศลาวด้วย

ผ่านหลักการพัฒนาทักษะ สร้างงานฝีมือจากทรัพยากรที่หาได้ง่ายที่สุด ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ผ่านการผสมผสานด้วยการออกแบบ และเทคนิคดั้งเดิมเฉพาะตัว หรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น

 

 

 

“ฉันเคยเป็นหมอ และมีโอกาสได้รักษาคนใน 15 ประเทศ ทำให้รู้เหตุผลแท้จริงของการเจ็บป่วย และพิการ ซึ่งมักจะมาจากความยากจน การแจกเงินไม่ได้ช่วยอะไร ให้ไปวันนี้ พรุ่งนี้ก็หมด พวกเขาต้องการอาชีพ ที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” “Ray Pinniger” กล่าว

Blue Sheep แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1.ร้านหัตถกรรม และร้านกาแฟ ที่ซื้อสินค้าจากช่างฝีมือผู้ชำนาญ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือถูกจำกัดด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ความยากจน ความทุพพลภาพ และภัยพิบัติ แล้วขายให้กับตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยผลกำไรจะถูกส่งคืนให้กับผู้ผลิต และชุมชนของพวกเขา

 

 

 

 

2.งานด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิต และชุมชน หรือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในสถานการณ์หลังภัยพิบัติ มอบหนังสือสำหรับห้องสมุดชุมชน และทุนการศึกษาเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน โดยทุนที่ใช้มาจากผลกำไรของการขายสินค้า

3.การเป็น Eco Hub ส่งเสริมให้เพื่อนบ้านลดขยะ ปลูกอาหารเพื่อสุขภาพที่บ้าน รีไซเคิลสิ่งที่พวกเขาทำได้ โดยนอกจากร้านจะขายงานฝีมือ แล้วยังมีการจำหน่ายสินค้ามือสองและงาน Zero Waste อีกด้วย ซึ่งโปรเจกต์ Eco Hub ยังอยู่ในช่วงขั้นทดลอง ซึ่งหวังว่าจะสามารถทำกำไรและพึ่งพาตนเองได้

“เราทำงานภายใต้หลักการ Fair Trade ความสนใจของเราคือการสนับสนุนบุคคลและบริษัทขนาดเล็กที่ปฏิบัติตามหลักการที่คล้ายคลึงกัน และให้ความสนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง ปัจจุบันเราซื้อโดยตรงจากสหกรณ์ขนาดเล็กกว่า 35 แห่ง หรือกลุ่มบุคคลที่มีสมาชิกมากกว่า 600 ราย โดยกำไรทั้งหมดถูกใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ยากไร้”

 

 

 

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

เกษตรกร กาฬสินธุ์ รวมกลุ่มเลี้ยง “กุ้งก้ามกราม” สู้โควิด ตอบโจทย์รับแรงงานคืนถิ่น