ป้องกันไว้ก่อน ! 10 ขั้นตอน รับมือ “น้ำท่วม”

by ThaiQuote, 28 กันยายน 2564

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียง ซึ่งเป็นผลจากพายุ “เตี้ยนหมู่” โดยจากติดตามสถานกาณ์น้ำจากกรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 26-30 ก.ย.64 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น

 

โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้งเตือน 12 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก

ในส่วนของประชาชน สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหาย หากเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ใน 10 ขั้นตอนดังนี้

1. ติดตามข่าวสาร สถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

2. จัดเตรียมยกสิ่งของที่เคลื่อนย้ายได้ไว้บนที่สูง

3. เตรียมหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ของหน่วยงานท้องถิ่น

4. จัดเตรียมขั้นตอน และศึกษาเส้นทางการอพยพไปยังที่ปลอดภัยและใกล้บ้านที่สุด

5. เตรียมโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้พร้อม

6. หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมกระสอบทราย ไว้ป้องกันกระแสน้ำที่จะไหลเข้าบ้าน

7. เตรียมนำรถยนต์และพาหนะจอดไว้ในพื้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง

8. ตรวจสอบปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ยกเบรกเกอร์ไฟฟ้า ปิดวาล์วเตาแก๊ส ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน

9. ดูแลเด็กเล็ก งดให้เล่นน้ำในขณะที่น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งมีความเสี่ยงกับการจมน้ำ

10. หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ควรขับรถฝ่าน้ำที่กำลังหลาก ให้ออกจากรถและขึ้นไปอยู่ในที่สูงทันที

นอกจากนี้ ควรระวังโรคอื่นที่มากับน้ำ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (โรคฉี่หนู) โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า โดยควรเตรียมน้ำสะอาดไว้ใช้ นอกเหนือจากน้ำดื่มเพื่อการบริโภค

หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันของมีคมในน้ำทิ่มตำ และรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ ควรระวังสัตว์มีพิษ และแมลงกัดต่อย

 

เรื่องอื่นที่น่่าสนใจ

ผลกระทบ “ปลูกกัญชาในร่ม” ทำโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลวร้ายเท่าเหมืองถ่านหิน