Mr.Hope ฟาร์มไส้เดือน นักเรียนนอก “เกษตรในชีวิตจริง ไม่ง่ายเหมือนดูยูทูป”

by คเชนทร์ พลประดิษฐ์, 7 ตุลาคม 2564

จากชีวิตคนเมือง ที่เริ่มต้นด้วยการเรียนจบจากต่างประเทศ มีงานทำ และมีเงินรายได้ที่ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับของแบรนด์เนม แล้ววันหนึ่งเธออยากเปลี่ยนชีวิต หันไปลองทำเกษตรพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ที่ดินของพ่อแม่พี่สะใภ้ของเธอเอง

 

แล้ว “แต้ ศิวภรณ์ นภาวรานนท์” ก็พบว่าการทำเกษตรในชีวิตจริงนั้น มันไม่ง่ายอย่างที่นั่งดูผ่านยูทูป การกระโดดลงมาเป็นผู้เล่นลงมือทำด้วยตัวเอง ผ่านร้อน ผ่านหนาวและฝน ทำให้เธอเข้าใจอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น

 

 

วันนี้เธอกำลังเดินหน้า “ฟาร์มไส้เดือน Mr.hope” ไปสู่อีกหนึ่งความฝันที่ตั้งใจ ด้วยก้าวย่างอย่างมั่นคง พร้อมกับการแบ่งปันความรู้และมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านการทำ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี” เติบโตเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น แรงงานที่มีอยู่ในชุมชน และจนปัจจุบันฟาร์มของเธอได้กลายเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ประจำ จ.สิงห์บุรี

 

 

  

เกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีเงินหนา

 


ย้อนกลับไปในอดีต เส้นทางชีวิตจากเด็กนักเรียนนอก เป็นพนักงานเงินเดือนมีรายได้ดี มาเป็นเกษตรกร เส้นทางไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด คนส่วนใหญ่มักมองว่า การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ เงินทุน ที่จะเนรมิตฟาร์มเกษตร สวนผัก เลิศหรูขึ้นมาเองได้ โดยไม่ต้องลงมือทำเอง

 

แต่ไม่ใช่สำหรับ “แต้” เพราะวันที่เธอคิดจะทำสวนผัก ด้วยเงินเก็บที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนบาท มันถูกแบ่งมาเป็นเงินทุนเพื่อทำการเกษตรเพียงไม่ถึง 50,000 บาท ส่วนอีกครึ่งถูกทิ้งไปกับการติดแอลกอฮอล์ และสลัดความเครียด จากการค้นหาชีวิตของตัวเองไม่เจอ

 

“เรามาทำเกษตรโดยที่ไม่มีอะไรเลย พ่อแม่ก็ห้าม ไม่มีใครอยากให้ลูกมาลำบาก เริ่มจากยิ่งกว่าศูนย์ เพราะไม่มีใครสนับสนุน เงินเก็บก็ไม่ค่อยมี เพราะฟุ่มเฟือย ซื้อของแบรนด์เนมไปหมดแล้ว หนำซ้ำปีแรกที่มาทำก็มาอาศัยพ่อแม่พี่สะใภ้อยู่ เข้ากรุงเทพฯ กลับบ้านด้วยวิธีต่อมอไซค์ นั่งรถตู้ เงินเราก็หมดไปกับความเครียด งงกับชีวิต หาตัวเองไม่เจอ จะทำยังไงให้ตัวเองนอนหลับ ก็ต้องหันไปพึ่งแอลกอลฮอล์ ทำให้เราติดมาเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ร่างกายไม่ไหว”

 

 

ทำเกษตรเพื่อขัดเกลาตัวเอง ค้นพบทางแก้ปัญหาจากการเลี้ยงไส้เดือน

 

นอกจากจะมีแรงบันดาลใจจาก ในหลวง ร.9 ที่ “แต้” เล่าว่า เธอต้องการค้นหาคำตอบว่าเหตุใด ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญกับการเกษตรแล้ว ความสนใจในอาชีพนี้ของเธอคือ ใช้การเกษตรช่วยขัดเกลาตัวเอง

 

“วันที่ตัดขาดจากแอลกอฮอล์ คือวันที่ในหลวง ร.9 เสด็จสวรรคต จุดที่ทำให้มาสนใจอยากที่จะทำเกษตรก็เพื่อขัดเกลาตัวเอง จากคนที่ตามกระแสของสังคม อยากมี อยากได้ ทุกๆอย่าง เราเติมความอยากไม่เต็มซักที จึงเริ่มมาค้นหาตัวเอง ใช้การเกษตร การได้อยู่กับธรรมชาติเป็นเครื่องมือช่วย”

 

 

“ตอนที่เริ่มเลี้ยงน้องเดือน เราอยู่เราคุยกับเค้าเป็นปี เราเริ่มที่จะมองเค้าจากที่เป็นแค่ไส้เดือน ก็เหมือนเป็นเพื่อน เค้าก็เป็นสิ่งมีชีวิต อยากได้อากาศที่บริสุทธิ์ อาหาร น้ำที่ดี เราจึงมองว่าการทำธุรกิจนี้ไม่ใช่การที่จะต้องไปบีบเค้นเอาอะไรจากเค้า เพราะความเห็นแก่ตัวของเรา”

 

จากตรงนั้น “แต้” จึงกลับมาคิดแก้ปัญหาอุปสรรคของการเลี้ยงไส้เดือน ที่ในปีแรกไม่ประสบความสำเร็จ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากคนที่ใจร้อน อยากได้ หวังผลสำเร็จเสมอ การเลี้ยงไส้เดือนได้ค่อยๆขัดเกลาเธอให้ใจเย็นลง มองและเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

ให้เช่า “ไส้เดือน” โปรเจกต์เพื่อชุมชน ที่ยังไม่สำเร็จ

 

“แต้” เล่าว่า เมื่อเธอเริ่มทำฟาร์มไส้เดือน จนมั่นคงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องการต่อยอด คือ การสร้างวิสาหกิจชุมชนที่สามารถจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการให้เช่า “ไส้เดือน”

 

วิธีคิดแบบง่ายๆ คือการให้ชาวบ้าน “เช่า” หรือ “ยืม” ไส้เดือน จำนวน 1กก. ไปทดลองเลี้ยง เมื่อได้ผลผลิตมูลไส้เดือน และมีไส้เดือนเพิ่มขึ้นแล้ว จึงนำไส้เดือนจำนวน 1 กก.นั้นมาคืน

 

แต่ก็พบว่าขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการเลี้ยงไส้เดือน ไม่ใช่เรื่องง่าย หากขาดความเอาใจใส่แล้วก็ไม่สามารถทำได้

 

 

“ไส้เดือนคือสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องมีความเอาใส่ใจเป็นอันดับแรก เช่นไส้เดือนชอบขี้วัวแบบไหน ต้องวางเค้าไว้ตรงที่ร่ม อากาศปลอดโปร่ง ลมพัดถ่ายเท จุดนั้นต้องเป็นจุดที่มีอากาศดีที่สุดของฟาร์ม ต้องคอยดูแลตลอด ไม่ใช่ปล่อยไว้เป็นเดือนแล้วคุณจะได้มูลไส้เดือน ส่วนใหญ่คนที่เอาไปเลี้ยงจะคิดว่ามันก็แค่ไส้เดือน หวังผลจากรายได้ โดยไม่คำนึงถึงการเลี้ยงในระหว่างทาง”

 

“แต้” บอกกับเราว่า มันอาจจะดูเว่อร์ แต่การเอาใจใส่คือสิ่งที่สำคัญ เธอเน้นว่า “มันไม่ได้ยาก แต่ต้องใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ปัญหาทุกอย่างแก้ได้” วันนี้โปรเจกต์ดังกล่าวจึงยังรอคนที่พร้อมจะเอาใจใส่เข้ามาร่วมสานต่อโครงการดังกล่าว

 

ปัจจุบันเธอเริ่มวางแผนโครงการนี้ใหม่ในอนาคต โดยการคัดเลือกชาวบ้านที่สนใจ ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมการเลี้ยงไส้เดือน ให้ความรู้คำแนะนำ และการตรวจเยี่ยมโรงเรือนที่เลี้ยงไส้เดือนเป็นประจำ

 

โดยใช้มูลวัวจากกลุ่มวิสาหกิจ ผลผลิตมูลไส้เดือนที่ได้ กลุ่มวิสาหกิจจะเป็นผู้รับซื้อ เพื่อทำเป็นแบบอย่างนำร่อง ว่าหากมีการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ชาวบ้านก็จะมีรายได้เป็นผลตอบแทน

 

 

ความหวังของ “แต้” คือ การสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชน มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งวิสาหกิจชุมชนนี้จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมองลู่ทางเพื่อการขยับขยายผลิตภัณฑ์ ไปในทิศทางอื่นๆด้วย โดยเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน เมื่อมั่นคงแล้วก็พร้อมที่จะแบ่งปันช่วยเหลือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดอื่นๆด้วย

 

“วันนี้ เราก็เริ่มที่จะมองหาโปรดักส์อื่น ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น เรื่องของจุลินทรีย์ หรือสารชีวพันธุ์ที่ใช้ในพืช โดยร่วมกับศูนย์บ่มเพาะในจังหวัดอื่น โดยนำส่วนที่เขาชำนาญคือการทำจุลินทรีย์ มารวมกับส่วนที่เราถนัด คือเรื่องของการตลาดและพัฒนาแบรนด์ เพื่อสร้างความหลากหลาย และครบวงจรในเรื่องของเกษตรอินทรีย์”

 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือดังกล่าว “แต้” บอกว่า 1. เพื่อช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ของชุมชนอื่นๆ 2.การรวมตัวกันจะทำให้มีผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพครบวงจรเพิ่มขึ้น แบรนด์มีความแข็งแรงขึ้น ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

 

 

“ธุรกิจของเราต้องเน้นที่คุณภาพ หากของไม่ดี เราก็จะไม่ขาย สิ่งนี้ทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า เราไม่ได้แสวงหาผลกำไร เพื่อที่จะทำให้เราเติบโตเป็นบริษัทใหญ่ถึงระดับส่งออก เราแค่อยากทำเพื่อช่วยเหลือชุมชน ให้มีรายได้ที่แน่อน สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้”

 

 เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

“บ้านป่าเหมี้ยง” หมู่บ้านในหุบเขาที่กรุ่นด้วยลมหายใจของธรรมชาติ