“บ้านป่าเหมี้ยง” หมู่บ้านในหุบเขาที่กรุ่นด้วยลมหายใจของธรรมชาติ

by คเชนทร์ พลประดิษฐ์, 6 ตุลาคม 2564

หากเอ่ยชื่อ “บ้านป่าเหมี้ยง” เชื่อว่านักท่องเที่ยวหลายคนต้องรู้จัก และแน่นอนว่าอาจเป็นลิสต์อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในใจของบางคน ที่หมายมั่นจะมาเยือนชุมชนนี้สักครั้ง

 

ชุมชนป่าเหมี้ยง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ในพื้นที่เขตอุทยานแหง่ชาติแจ้ซ้อน ซึ่งมีบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างหมู่บ้านแม่กำปอง และหมู่บ้านปางไฮ ซึ่งฮิตติดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนยอดนิยมของจ.เชียงใหม่

 

 

 

ผู้ที่ได้มาเยือนอาจคิดว่า ชาวบ้านป่าเหมี้ยง คือกลุ่มชนเผ่าเช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่อาศัยบนดอยสูง แต่ไม่ใช่เลย คนป่าเหมี้ยงคือ คนเมือง ที่ขึ้นมาตั้งรกรากถิ่นฐานในพื้นที่เมื่อกว่า 100 ปี ที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มคนค้าขายที่อาศัยเส้นทางบริเวณนี้ เดินทางไปมาระหว่างลำปางและเชียงใหม่ และอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอดีต สมาชิก พคท. คือ “ต้นเสี้ยว” ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในพื้นที่หมู่บ้านป่าเหมี้ยง จนเป็นที่มาของการจัดงาน “เทศกาลดอกเสี้ยวบาน”

ความพิเศษของบ้านป่าเหมี้ยง ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ ที่นี่ถือเป็นหมู่บ้านกันชน ระหว่างเขตชุมชนและเขตป่าสงวน โดยรัฐบาลได้กันพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและทำกิน ก่อนที่จะมีการตั้งอุทยานแหง่ชาติแจ้ซ้อนขึ้น และยังประสานการท่องเที่ยวในระบบชุมชน และการท่องเที่ยวอุทยานไว้ได้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

 

ด้วยความที่เป็นชุมชนอยู่กับป่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาป่าเหมี้ยงจึงมักจะได้ชื่นชมกับธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ และมีความอุดมสมบูรณ์อย่างเต็มที่

“ทำไมต้องมานอนป่าเหมี้ยง แน่นอนคุณจะได้ซึมซับบรรยากาศของหมู่บ้านในพื้นที่อุทยานฯ ที่ยังคงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ได้อรรถรสการเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวชุมชนป่าเหมี้ยง หากคุณได้มานอนฟังเสียงป่า เสียงน้ำตกในช่วงกลางคืน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันกับคนในชุมชน ท่ามกลางแสงเทียน หรือแสงตะเกียงที่ส่องให้ความสว่าง คุณจะหลงรักป่าเหมี้ยง” “อนรรฆพงศ์ เกษตรเกื้อกูล” ผู้ประสานท่องเที่ยวชุมชนบ้านป่าเมี้ยง บอกถึงเหตุผลที่ผู้มาเยือนจะต้องหาเวลาค้างคืนที่นี่ก่อนเดินทางต่อไปยังที่อื่น

อัตลักษณ์ของชุมชนป่าเหมี้ยง จึงไม่ใช่การดำรงวิถีชีวิตแบบชนเผ่า แค่คือการใช้ชีวิตอิงอยู่กับธรรมชาติ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก อย่าง “เมี่ยง” หรือ “ชาอัสสัม” และมีพืชรองลงมาอย่าง ผลไม้เมืองหนาว กาแฟ เสาวรส ลูกพลับ และอะโวคาโด ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวง

 

 

 

“ที่ป่าเหมี้ยง ในวิถีชีวิตของชุมชนโดยปกติ ชาวบ้านจะอยู่กับสวนเมี่ยง เก็บใบเมี่ยง หรือ ชา ในทุกเช้า ยกเว้นวันพระ ซึ่งตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ การเก็บเมี่ยงในวันพระ จะทำให้ต้นเมี่ยงไม่เแตกใบงาม ไม่แตกยอด เหล่านี้อาจเป็นเพียงกุศโลบายในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมกันมาว่า ไม่อยากให้คนทิ้งวัด เพราะเมื่อเป็นวันพระ จึงอยากให้ลูกหลานได้ไปทำบุญที่วัดบ้าง”

“อนรรฆพงศ์” เล่าให้เราฟังต่อว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวในบ้านป่าเหมี้ยง จะไม่มีการจัดรูทการท่องเที่ยวแบบตายตัว อาจจะแค่เดินชมวิถีชีวิตชาวบ้าน เสพความเป็นธรรมชาติ ชื่นชมน้ำตก ถ่ายภาพเช็คอินจุดต่าง หรือเพลิดเพลินกับอาหารที่มีขายอยู่ทั่วไปในชุมชน

แต่เราก็คงไม่อยากให้นักท่องเที่ยวพลาดไฮไลท์สำคัญของที่นี่ ซึ่งหากมาป่าเหมี้ยงแล้ว ไม่ได้เก็บเมี่ยงหรือใบชา ก็เหมือนมาไม่ถึง เช่นเดียวกับที่อยากให้ลองกินเมี่ยง อมเมี่ยง และเคี่ยวเมี่ยง

 

 

 

 

ทำไม “เมี่ยง” จึงมีความสำคัญขนาดนั้น “อนรรฆพงศ์” ขยายความให้เราฟังว่า เมี่ยง ของบ้านป่าเหมี้ยงนั้น เป็นเมี่ยงคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดในภาคเหนือ ซึ่งจะพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ ก่อนส่งไปยังตลาดหลักที่ อ.เมือง จ.ลำปาง และอ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

เคล็ดลับของการเป็น เมี่ยงคุณภาพดีนั้นคือวิธีการปลูกเมี่ยง ซึ่งจะปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะพันธุ์เมี่ยง หรือ ชาอัสสัม ชอบพื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร มีน้ำเพียงพอ และสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200-1,500 ม. ชาวบ้านที่นี่จึงไม่โค่นต้นไม้ใหญ่ และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ รักษาต้นน้ำ แล้วปล่อยให้ต้นเมี่ยงเติบโต โดยให้ธรรมชาติเป็นผู้ดูแล

ความสำคัญของ “เมี่ยง” ในวิธีชีวิตคนล้านนา ก็เช่นเดียวกับหมากพูลในอดีตของคนภาคกลาง ที่ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานมงคล หรือพิธีกรรมต่างๆ ต่างก็มีเมี่ยงอยู่ในพิธีเหล่านี้ทั้งสิ้น ทั้งใช้ต้อนรับแขกผู้หลักผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ที่ชอบเคี้ยวเมี่ยง หรือการบูชาเซ่นไหว้ในพิธีกรรม

จนทำให้ชาวบ้านป่าเหมี้ยง มีรายได้จากการขายเมี่ยงถึงวันละ 400-500 บาทต่อคนเลยทีเดียว เรียกว่าการปลูกเมี่ยง ทำเมี่ยงคือรายได้หลักของคนที่นี่ โดยมีท่องเที่ยวชุมชน การทำโฮมสเตย์ ขายอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นรายได้เสริม

“การท่องเที่ยวชุมชน ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น ส่งผลดีให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเฉพาะการทำงานเก็บเมี่ยงในสวน แต่ยังพัฒนาไปถึงการแปรรูป การทำกาแฟ ทำชา แบบครบวงจร เป็นทั้งครูสอน จัดสถานที่ศึกษาดูงาน สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง”

 

 

 

เมื่อการท่องเที่ยวชุมชนป่าเหมี้ยง เริ่มบูมและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แน่นอนสิ่งที่ต้องตามมาคือความเจริญที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชนที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ชุมชนนี้ ซึ่ง “อนรรฆพงศ์” บอกกับเราว่า สิ่งที่ชาวบ้านได้คุยกันมาโดยตลอดคืออนาคตของชุมชนป่าเหมี้ยงนั้น สามารถกำหนดได้เองด้วยตัวคนในชุมชน

“เราไม่อยากเปลี่ยนชุมชน ชุมชนก็ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคต ถ้าชุมชนเปลี่ยนเมื่อไหร่ เราจะสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจะต้องไปวิ่งแข่งกับคนอื่น เราอยู่ด้วยกติกาของชุมชน อยู่ด้วยความต้องการของชุมชน”

เมื่อ เมี่ยง คือลมหายใจ เป็นเส้นเลือดหลักของคนป่าเหมี้ยง ดังนั้นการที่จะต้องมีป่า มีต้นไม้ใหญ่ เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องรักษา หากตัดต้นไม้ ไม่มีน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติหายไป ต้นชาต้นเมี่ยงจะไม่เจริญเติบโต รายได้หลักจากการทำเมี่ยงก็จะหายตามไปด้วย” “อนรรฆพงศ์ “ บอกกับเราในตอนสุดท้าย

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

ไทยตั้งเป้าผู้นำ “หุ่นยนต์” อาเซียน ปี 69 หนุนการผลิต แนวทาง BCG Model